Qualy แบรนด์ที่ชุบชีวิตวัสดุรีไซเคิลและใช้ความคิดสร้างสรรค์พูดแทนธรรมชาติ

เมื่อการผลิตแบบสปอยล์ผู้บริโภคยิ่งเพิ่มขึ้น การผลิตอย่างคิดถึงโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญ

คุยกับพี่ไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ และแนวคิดเบื้องหลังแบรนด์ Qualy Design แบรนด์ไทยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาส่งเสียงแทนธรรมชาติและตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืน 

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นแบรนด์นี้คือการที่มองเห็นปัญหาในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีแนวคิดแบบยึดผู้บริโภคเป็นหลัก (Customer Centric) หรือการผลิตที่ยึดตามเอาความต้องการของผู้บริโภคอย่างมาไวไปเร็ว สปอยล์คนซื้อกันสุด ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นในการใช้สอย แต่เป็นเรื่องของค่านิยมและเทรนด์ที่ผู้คนในสังคมสร้างกันขึ้นมา ซึ่งในทุกการซื้อ-ขายที่เพิ่มขึ้นนั้นย่อมตามมาด้วยผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะของที่ถูกบริโภคไปแต่ละชิ้นนั้นอาจไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์หรือจำเป็นจริง ๆ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดยิ่งถูกดึงออกมาใช้ไปเรื่อย ๆ

สิ่งหนึ่งที่เราได้แลกเปลี่ยนกับพี่ไจ๋คือ แน่นอนว่าในขาหนึ่ง เราทุกคนล้วนเป็นผู้บริโภคและเรามีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราอยากเห็นและอยากแก้ แต่ก็ไม่อาจสร้างผลกระทบได้เท่าที่ควรด้วยโครงสร้าง กฎหมาย บริบท ฯลฯ ที่ไม่เอื้อมากนัก แต่ด้วยกำลังของผู้ผลิตต้นทางเอง เราสามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของสิ่งของแต่ละชิ้นได้ว่าจะมีอายุยืนนานเท่าไหร่ รีไซเคิลได้ไหม หรือเป็นภาระกับโลกรึเปล่า นี่จึงเป็นที่มาของแบรนด์ Qualy ที่พี่ไจ๋อยากใช้การออกแบบของเขาเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยลดปริมาณขยะเหลือทิ้งบนโลกและส่งเสียงออกไปให้คนได้รับรู้ เข้าใจ และมาเปลี่ยนพฤติกรรมกัน!

เมื่อผู้บริโภคถูกสปอยล์ การผลิตก็เพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งสิ่งที่พี่จ๋ายมองว่ายิ่งทำให้ปัญหาการบริโภคเกินตัวทุกวันนี้กระจายตัวมากขึ้นคือ เทรนด์ด้านธุรกิจที่ #ยึดผู้บริโภคเป็นหลัก พูดง่าย ๆ คือผู้บริโภคถูกสปอยล์ สิ่งของต่าง ๆ สามารถหาซื้อง่ายขึ้นและราคาถูกลง ประกอบกับค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างฉับไว การแข่งขันในสังคมที่ตัดสินกันว่าชีวิตคนอื่นจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ถึงจะดี จึงทำให้คนเราต้องไขว่คว้าสิ่งต่าง ๆ มาเพื่อให้ชีวิตตัวเองสมบูรณ์และอยู่ในกระแสค่านิยมเหล่านั้นได้

ค่านิยมหนึ่งของการยึดโยงกับโซเชียลมีเดีย ของบางอย่างแค่ถ่ายรูปเพียงทีเดียว จบปุ๊ปก็หมดค่าปั๊ป แฟชั่นในมือกลายเป็นหมดค่าไปเพียงเพราะมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ 

ดังนั้นแล้ว เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็ยิ่งเพิ่มกำลังการผลิตมาตอบสนองมากขึ้นจนเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาใหญ่อย่าง ‘ความรับผิดชอบ’ ของผู้ผลิต เพราะเมื่อพวกเขาแสวงหาแต่กำไร นั่นก็จะทำให้ยิ่งแสวงหาหนทางที่กดต้นทุนให้ต่ำ เช่น การย้ายฐานผลิตเพื่อให้ได้แรงงานที่ถูกกว่า การยิ่งแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ โดยไม่ได้จ่ายกลับคืนอย่างกับว่าของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีต้นทุน

อุปสรรคระหว่างทางของ Qualy?

อุปสรรคหนึ่งที่เจอคือกลุ่มเป้าหมายที่สนใจและเข้าใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นยังมีไม่เยอะ อีกอย่างคือเรื่องของต้นทุนเอง เมื่อเป็นวัสดุรีไซเคิล แบรนด์เองก็จะเจอกับต้นทุนที่มาจากการนำวัสดุใช้แล้วมารีไซเคิลใหม่ให้มีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเป็นธุรกิจที่ใช้วัสดุใหม่ทั่วไป เขาจะไม่ต้องเสียตรงนี้ 

รวมถึงความเข้าใจของผู้คนที่อาจยังไม่คำนึงถึง ‘ต้นทุน’ ของทรัพยากรที่ถูกนำมาผลิตเป็นสิ่งของแต่ละชิ้นและมลพิษที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะหากพวกเขาเข้าใจว่าทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดนั้นมีจำนวนจำกัด มีผู้คนที่เสียหายจากการนำทรัพยาการมาใช้ มีต้นทุนด้านสุขภาพ มีมลพิษที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจในหลักการที่ว่าใครเป็นผู้ก่อมลพิษ ผู้นั้นต้องเป็นคนจ่าย เช่นนั้นแล้ว เขาก็จะไม่ใช่ของกันอย่างทิ้งขวาง และผู้ผลิตก็จะไม่ผลิตเกินตัวอย่างฟุ่มเฟือย

สื่อสารให้เข้าใจและทำให้เห็น

ในฐานะผู้ผลิตเอง สิ่งที่เราทำได้คือ ไม่ยัดเยียดให้ลูกค้าซื้อเกินความจริง รวมถึงสื่อสารให้เขาได้เห็นว่าสิ่งของแต่ละอย่างที่เราใช้มันส่งผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะการออกแบบเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดถึงผลกระทบที่ตามมา บางครั้งคนเราลืมคิดไปว่าสิ่งของเหล่านี้ก็มีชีวิตหลังความตายที่รอวันย่อยสลายเหมือนกัน

ดังนั้นแล้ว พี่จ๋ายก็มองว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายสามารถมารับผิดชอบด้วยกันได้ อย่างตัวพี่จ๋ายในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจ Qualy เองก็เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ออกแบบ และผู้บริโภคในเวลาเดียวที่จะต้องสวมแต่และบทบาทในการรับผิดชอบเช่นกัน

สองส่วนที่ Qualy กำลังลงมือทำมาตลอดคือ เริ่มจากการ ‘สื่อสารให้ดู’ ทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวิธีการช่วยเหลือแก้ไขต่าง ๆ พี่จ๋ายชวนเราย้อนไปที่ปัญหาเทรนด์การผลิตที่ยึดผู้บริโภคเป็นหลัก (Customer Centric) แบบนั้นแปลว่าผู้ผลิตอาจต้องทำแต่สิ่งที่เขาอยากดู พูดแต่สิ่งที่เขาอยากฟัง แต่นั่นก็จะเป็นเรื่องที่ลำบาก นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ Qualy พยายามสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมออกไปให้ผู้บริโภคได้ตระหนัก ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากฟัง แต่อย่างน้อย พี่จ๋ายก็มองว่านี่เป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะต้องรับรู้และทำความเข้าใจเอาไว้

ต่อมาคือการ ‘ทำให้เห็น’สังเกตจากผลิตภัณฑ์หลายชิ้นของแบรนด์เองก็ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิลหลายประเภท นอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะแล้วก็ยังเป็นการสื่อสารอีกทางหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าวัสดุพวกนี้สามารถนำกลับมาใช้ได้จริง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้คนควรจะเข้าใจคือวัสดุเหล่านั้นต้องแยกมาดี สะอาดมาตั้งแต่ต้นทาง เพราะหากไปปนเปื้อนเศษอาหารหรือขยะอื่น ๆ มาก่อนหน้าก็ลำบากที่จะนำกลับมาเข้ากระบวนการ นอกจากนี้ Qualy เองก็ยังพยายามร่วมมือกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อขยายความร่วมมือไปให้กว้างขึ้น 

พี่จ๋ายยังบอกทิ้งท้ายกับเราอีกว่าการสื่อสารเหล่านี้ Qualy ตั้งใจที่จะสื่อสารถึงคนทุกกลุ่มทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเองเพื่อให้ตระหนักการใช้และการสร้างของตัวเองมากขึ้น ทำอย่างไรให้ใช้ได้ช้ากว่าธรรมชาติเกิด เพราะสุดท้ายแล้วถ้าทรัพยากรเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนไม่ทัน คนเดือดร้อนก็คือพวกเราผู้ก่อปัญหานี้เอง

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

เสียงคนเชียงรายเมื่อภัยธรรมชาติซัด เขื่อนซ้ำ ทิ้งไว้เพียงอนาคตที่ไม่แน่นอน

น้ำท่วมจากไปทิ้งไว้เพียงร่องรอยความเสียหายและอนาคตที่ไม่รู้ทิศทางให้คนในพื้นที่

จิบกาแฟคุยกับคนญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนต่างชาติคิดไม่ถึง

นานาเรื่องคนกับสิ่งแวดล้อม ในมุมคนญี่ปุ่นในไทยกับ ‘Takahiko Honda’ ผู้ก่อตั้ง Econok

พา ‘ต้นไม้ของเรา’ สู่ตลาด เพิ่มช่องทางซื้อ – ขาย สร้างรายได้แก่เกษตรกร

อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมอาชีพ และคืนความสมบูรณ์ให้ป่าของชุมชน อ.สันติสุข จ.น่าน