ในซอยวิภาวดีรังสิต 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร มีอาคารหลังหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหลืบ หลังคาสีน้ำตาลออกไม้ๆ ลักษณะคล้ายหัวเรือใหญ่ มองไล่ลงมาด้านล่างเป็นห้องกระจกที่ด้านขวาสุดมีประตูไม้บานหนึ่ง และช่องกระจกกลมอยู่ตรงกลางบานไม้นั้น ไม่ต้องคิดอะไรนานก็ทำให้รู้ว่าที่แห่งนี้ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายกับเรือ แสดงถึงอัตลักษณ์ของ ‘ร้านปลาออร์แกนิกฯ’ ได้ดีทีเดียว จากชื่อร้านและลักษณะร้านที่ถูกออกแบบมาให้คล้ายกับเรือเช่นนี้ ก็คงทำให้ผู้อ่านเดาได้ไม่ยากแล้ว ว่าสินค้าของร้านนี้คืออะไร
ร้านปลาออร์แกนิกฯ ของ บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร้านขายอาหารทะเล ที่แม้ว่าชื่อร้านชูปลาเป็นตัวเด่น แต่สินค้าในร้านไม่ได้มีเพียงปลาสดๆ จากทะเล แต่ยังมีสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่มาจากกลุ่ม ‘ชาวประมงพื้นบ้าน’ จากหลายพื้นที่ทั่วทะเลไทย แต่ถ้าหากอยากจะรู้อะไรมากกว่านี้ เราคงต้องเดินเข้าไปในร้านเสียก่อน
ภายในร้านเราได้เจอกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เราเรียกกันว่า ‘พี่นุช’ สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปลาออร์แกนิกแห่งนี้ แล้วเธอก็ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของร้านนี้ให้ฟัง…
เส้นทางการเดินเรือของ ร้านปลาออร์แกนิกฯ
จุดเริ่มต้นของร้านปลาออร์แกนิกฯนั้น มาจากพี่นุชที่ในตอนนั้นกำลังสวมหมวกนักวิชาการด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอยู่ ได้มองเห็นปัญหาว่าคนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านไม่เป็นที่รู้จัก คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไร แล้วมันต่างจากการทำประมงทั่วไปอย่างไร
“เราพูดถึงชาวนา เรารู้ว่าชาวนาทำอะไร แต่พอพูดถึงประมงพื้นบ้าน เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร” พี่นุชกล่าว
จึงได้เริ่มทำ ‘โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ’ ด้วยทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ในช่วงปี 2556-2561 เพื่อผลักดันกลุ่มประมงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยการใช้ ‘อาหารทะเล’ เป็นเครื่องมือเชื่อมต่อกับผู้คน โดยใช้โครงการเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริโภคกับชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งในเรื่องของการซื้อ-ขายสินค้า และการจัดกิจกรรมเพื่อทำให้คนทั่วไปรู้จักกลุ่มประมงพื้นบ้านมากขึ้น
เมื่อหมดระยะเวลา 5 ปีนั้น รูปแบบการใช้อาหารทะเลเป็นตัวเชื่อม ยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี ชาวคณะทำงานก็ไม่อยากให้โครงการนี้หายไปกับสายลม จึงหาลู่ทางในการไปต่อ ซึ่งผลสรุปก็ออกมาเป็นการก่อตั้ง บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่มีผู้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวประมงพื้นบ้านจาก 6 พื้นที่ ในเครือข่ายรักษ์ปลารักษ์ทะเล ได้แก่
- แพปลาชุมชนบ้านหัวหิน จ.สตูล
- วิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์ ชุมชนบ้านทรายทอง จ.กระบี่
- วิสาหกิจชุมชนแพกุ้ง ชุมชนบ้านหินร่ม จ.พังงา
- วิสาหกิจชุมชนแพปลา ชุมชนบ้านช่องฟืน จ.พัทลุง
- วิสาหกิจชุมชนแพปลา ชุมชนบ้านแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี
- สมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี
ส่วนหุ้นราวร้อยละ 10 ที่เหลือนั้น เป็นของกรรมการบริษัท ที่พวกเขาต้องถือหุ้นไว้เพื่อความสะดวกในการจัดการเอกสารที่ต้องทำในกรุงเทพฯ
ทุกพื้นที่ที่ได้กล่าวถึงนี้ ล้วนแต่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านที่โดยพื้นฐาน มีวิถีชีวิตที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอยู่แล้ว เพราะพวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของระบบนิเวศและมองว่ามันเป็น ‘บ้าน’ ฉะนั้นแล้วพวกเขาจะไม่มีทางทำลายบ้านของตัวเองและเพื่อนบ้าน อย่างเหล่าสัตว์น้ำทั้งหลาย ด้วยการทำประมงแบบล้างผลาญหรือละเมิดกฎหมายเป็นอันขาด
แต่การทำงานร่วมกับร้านปลาออร์แกนิกฯ แค่ ‘รักษ์’ ธรรมชาติอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้อง ‘รัก’ ผู้บริโภคด้วย เพราะมาตรฐานอีกขั้นคือ ‘การไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน’ โดยทั่วไปแล้วอาหารทะเลที่ต้องเดินทางจากทะเลไปยังร้านอาหารทั่วประเทศ ก็มักจะใช้สารพัดสารเคมี เพื่อคงสภาพความสดใหม่ของสัตว์ทะเลเหล่านั้น แต่ไม่ใช่กับเครือข่ายรักษ์ปลารักษ์ทะเลอย่างแน่นอน เพราะมีการตรวจสอบ ‘มาตรฐานเกษตรอินทรีย์’ อย่างจริงจังอยู่เรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่า เขาไม่ได้กินสารก่อมะเร็งเข้าไปพร้อมปลาอย่างแน่นอน
เพราะสินค้าจากทะเลที่ส่งตรงถึงมือชาวกรุงในแต่ละรอบใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ โดยมีระบบว่าร้านจะรับออเดอร์สินค้าในวันอาทิตย์ ชาวประมงออกเรือหาปลาวันจันทร์-อังคาร ส่งจากทะเลมาถึงที่ร้านที่กรุงเทพฯ ภายในวันพุธ และกระจายสินค้าต่อไปที่ลูกค้าภายในวันพฤหัสบดี-ศุกร์
ด้วยความรวดเร็วในการจัดการและการส่งต่อแค่ทอดเดียวถึง แบบไม่ผ่านหลายมือ จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อคงสภาพความสดใหม่ สิ่งที่ถูกนำมาใช้รักษาความสดนี้มีแค่ ‘น้ำแข็ง’ เพียวๆ ไม่มีสิ่งอื่นเจอปน
องค์กรที่หวังผลกำไรแค่พอประมาณ เพราะทำเพื่อสังคม
คำว่า วิสาหกิจ ‘เพื่อสังคม’ เป็นคำที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในวงการธุรกิจ ส่วนตัวผู้เขียนเองเพิ่งจะเคยได้ยินครั้งแรกก็เมื่อก้าวเท้าเข้าร้านเรือจำลองแห่งนี้
แนวทางการทำเพื่อสังคม ด้วยสังคม ของร้านปลาออร์แกนิกฯ คือการสร้างกลไก ‘การบริโภคที่เกื้อกูล’ ซึ่งหมายถึงการเกื้อกูลสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตคนประมงพื้นบ้าน และสุขภาพของคนปลายทาง
เกื้อกูลสิ่งแวดล้อมด้วยการสนันสนุนกลุ่มประมงที่อนุรักษ์
เกื้อกูลชาวบ้านประมงพื้นบ้านด้วยการอุดหนุนสินค้า
และเกื้อกูลผู้บริโภค ด้วยการขายสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยไร้สารเจือปน
แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าถ้าเราซื้อปลาจากร้านนี้ แล้วฟันเฟืองทุกตัวจะหมุนไป ในแบบที่เกื้อกูลทุกฝ่ายจริงๆ ?
เมื่อไม่นานเราได้ทำความรู้จักกับ ‘พี่น้องนุช’ ประธานวิสาหกิจชุมชนประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์ ชุมชนบ้านทรายทอง จ.กระบี่ เธอเล่าว่าในชุมชนบ้านทรายทอง การอนุรักษ์สัตว์ทะเล ไม่ได้มีแค่การทำประมงด้วยความเป็นมิตรแต่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยวิธีอื่นอีกด้วย อย่างการทำ ‘ธนาคารปูม้า’ เพื่อรักษาสมดุลประชากรปูม้าด้วย
รายได้จากการขายปลาให้กับร้านปลาออร์แกนิกฯ หลังจากที่แบ่งให้ชาวประมงและหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของกลุ่มประมงเรียบร้อยแล้ว เงินในส่วนที่เหลือจะมีการจัดสรรเพื่อคืนกำไรให้ชุมชน ด้วยการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็กในพื้นที่ และนำไปเก็บเป็นค่าสวัสดิการให้กับสมาชิกในกลุ่มด้วย
ส่วนรายได้ของจิกซอว์ตัวกลางอย่าง ‘พี่นุช’ ร้านปลาออร์แกนิกฯ ก็มาจากการแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 30 จากการขายสินค้าให้ผู้บริโภคปลายทาง เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านที่กรุงเทพฯ ส่วนอีกร้อยละ 70 ที่เหลือนั้นก็กลับคืนสู่ชาวบ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“เราแค่จะเอาอาหารทะเลมาสื่อกับผู้บริโภค ในช่วงสองปีแรกเราคิดแต่จะเปิดเผยตัวตน ของกลุ่มประมงพื้นบ้านให้ประชาชนได้รู้จัก ไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย” พี่นุชกล่าว
สิ่งที่พี่นุชและ บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ทำมาโดยตลอดคือการใช้ ‘สินค้าจากท้องทะเล’ มาเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้คนทั่วไปในสังคมได้รับรู้ว่า ในประเทศไทยนี้มีกลุ่มประมงพื้นบ้านอยู่ เป็นการทำเพื่อยกตัวตนของคนทำประมงมาแสดงให้คนทั่วไปได้เห็น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มคนประมงพื้นบ้านก็เริ่มเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตัวเอง ผ่านการทำงานร่วมกับร้านปลาออร์แกนิกฯ ด้วย และอาจจะเห็นได้ชัดด้วยเรื่องราวจาก ‘ชาวเล’ ที่ผู้เขียนกำลังจะเล่าต่อไป
เรื่องเล่าจากโอรังปันตัย ชาวเล จ.ปัตตานี
ตัวแทนกลุ่มประมงในเครือข่ายรักษ์ปลารักษ์ทะเล ที่เราได้พูดคุยด้วยอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ‘มูหามะ สุกรี’ นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน และวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จ.ปัตตานี
“หน้าบ้านของเราเอง ไม่ต้องออกไปไกลที่ไหน เรามีทรัพยากรที่จะดำรงชีพได้อย่างสบายๆ” เขาเล่าว่า ในช่วงที่เขายังเป็นเด็กสภาพทะเลบริเวณนั้น มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ก่อนจะมีการรุกรานจาก ‘เรืออวนรุน’ และ ‘เรืออวนลาก’ ในช่วงปี 2531 ที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศทางทะเลเสียจนไม่เหลือทรัพยากรไว้ให้ทำกิน
ชาวบ้านที่ถูกตัดช่องทางการหารายได้ และไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ จึงเกิดการอพยพครั้งใหญ่ไปขายแรงงานที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้เกิดปัญหาในชุมชน จนมีคนที่ทนไม่ไหวกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป จึงได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรมชาวประมงพื้นบ้าน ในปี 2536 เพื่อต่อสู้เรียกร้องที่จะนำระบบนิเวศและวิถีชีวิตแบบเดิมกลับคืนมา จนในปี 2546 ได้มีการกำจัดกลุ่มอวนล้างผลาญออกจากพื้นที่ จ.ปัตตานี ไปเรียบร้อย
หลังจากนั้นวิถีอาชีพประมงของชาวบ้านก็ดำเนินไปแบบที่สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการทำประมงพื้่นด้วยความเข้าใจระบบนิเวศ โดยการใช้เครื่องมือที่ประดิษฐ์มาเพื่อจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดเท่านั้น (1 เครื่องมือ จับสัตว์น้ำได้ 1 ชนิด) ซึ่งต่างจากการทำประมงพาณิชย์ประเภทเรืออวนลาก-อวนรุนที่สามารถกวาดล้างทรัพยากรให้ราบไปได้ในคราวเดียว
วิถีชีวิตประมงพื้นบ้านฉบับชาวปัตตานีจึงสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศไปโดยปริยาย บวกกับความร่วมมือของสมาคมฯ ที่ช่วยกันสร้างปะการังเป็นที่อยู่ให้เหล่าลูกปลาในบริเวณนั้น ก็ยิ่งทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อระบบนิเวศฟื้นคืน คุณภาพชีวิตของชาวบ้านก็พัฒนาดีขึ้นตามมาด้วย เพราะนอกจากจะมีทรัพยากรมากพอที่พวกเขาจะกลับมาทำมาหากินในชุมชนแล้ว ยังสามารถพัฒนาให้ดีและมั่นคงขึ้นได้อีก หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับร้านปลาออร์แกนิกฯ ด้วยการสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้าน
“มันรู้สึก เรามีศักดิ์ศรีของความเป็นชาวประมง เราเท่าเทียมกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ เพราะเราสามารถกำหนดราคาเองได้ เพราะเราใช้ตัวเองมาการันตีคุณภาพสินค้าได้” คำกล่าวจาก มูหามะ สุกรี
มาถึงตรงนี้ก็คงจะพอเห็นได้ว่าร้านปลาออร์แกนิกฯ ไม่ใช่แค่ร้านขายอาหารทะเลธรรมดาๆ แต่เป็นร้านที่ทำให้เราเห็นตัวอย่างของการทำ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ว่าเราสามารถพัฒนาสังคมในทุกมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชนผู้ผลิต และผู้บริโภคปลายทางได้ในเวลาเดียวกันอย่างยั่งยืน แถมยังทำให้เราได้เห็นว่าผู้บริโภคปลายทางอย่างเราสามารถเปลี่ยนแปลงและเกื้อกูลสังคมได้ แค่เพียงเลือกซื้อสินค้าให้ถูกแแหล่งเพื่อสนับสนุนให้ถูกคน
นักเขียน: พรวิภา หิรัญพฤกษ์ เผยแพร่ครั้งแรกที่ Varasarn Press