การกินอาหาร Plant-based ช่วยโลกได้อย่างไร

วิจัยมากมายสนับสนุนว่าการทานเนื้อสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน และการหันมาทานผักผลไม้อาจเป็นทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว

อาหารทุกมื้อที่เรากินมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าเงินที่ออกจากกระเป๋า เพราะมันคือค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายให้กับโลก ทรัพยากรที่หมดไปกับการกินของเรา แม้จะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ แต่ประชากรทั้งโลกนั้นมีถึง 8.1 พันล้านคน และตลอดช่วงชีวิตคนเราก็กินข้าวเฉลี่ยถึงคนละ 540-862 กก./ปี ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไลฟ์สไตล์การกินของเรานั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย

กินอย่างไรให้ไม่ทำร้ายโลก

มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะอุตสาหกรรมปศุสัตว์ผลิตแก๊สเรือนกระจกถึง 16.5% ของทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมีเทนจากมูลสัตว์ ไนตรัสออกไซด์ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์นั้น มีความรุนแรงยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 และ 300 เท่าตามลำดับ ในขณะเดียวกันก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนมากมายถึงประโยชน์ของการกินอาหาร Plant-based ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเด็นของการใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่าในการผลิต เช่นเดียวกับปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

photo: Rawpixel/Envato

แล้ว Plant-based คืออะไร?

อาหาร Plant-based คืออาหารที่เน้นประกอบด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นหลัก โดยอาจจะมีเนื้อสัตว์หรือไม่มีก็ได้ แต่ผู้ที่กินแพลนต์เบสส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการรับสารอาหารที่สำคัญอย่างคาร์โบไฮเดรต ไขมัน หรือแม้กระทั่งโปรตีนมาจากพืชล้วน ๆ โดยวิถีแพลนต์เบสนี้ดั้งเดิมถูกคิดค้นโดย T. Colin Campbell นายแพทย์จาก National Institutes of Health ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินอาหารที่ประกอบด้วยผักเป็นหลัก ไขมันน้อย ไฟเบอร์สูง ต่อการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งคำนิยามของคำว่าแพลนต์เบสในช่วงแรกเริ่มเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์โภชนาการล้วน ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศีลธรรมแบบทุกวันนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ คนเริ่มหันมากินอาหารแพลนต์เบสมากขึ้นจากหลากหลายเหตุผลด้วยกัน ไม่ได้จำกัดแค่ประโยชน์ต่อสุขภาพแค่ด้านเดียว แต่ยังอาจมาจากความตระหนักรู้เรื่องความโหดร้ายในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ รวมถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและโลกด้วย

photo: NRD/Unsplash

เมื่อทรัพยากรที่จ่ายไปกับการเลี้ยงสัตว์ ‘ไม่คุ้ม’ กับสารอาหารที่ได้กลับมา

สัตว์ฟาร์มกินโปรตีนเข้าไปมากกว่าที่ให้กลับมาซะอีก มนุษย์เรา ทั้ง ๆ ที่แสวงหาโปรตีนจากทุกอย่างที่กินแท้ ๆ แต่แทนที่จะเลือกรับจากพืชที่เป็นแหล่งผลิตโปรตีนหลักโดยตรง กลับมองหาจากเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนน้อยกว่าซะอย่างนั้น ซึ่งเนื้อสัตว์ที่เรากินนั้นต้องใช้พื้นที่ถึง 83% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดเพียงเพื่อให้พลังงานกับโปรตีนอย่างละแค่ 37% ของปริมาณแคลอรี่และโปรตีนทั่วทั้งโลก แต่ทว่ามันกลับปล่อยแก๊สเรือนกระจกถึง 60% ของภาคเกษตรกรรมทั้งหมด โดย วัว เป็นสัตว์ที่ผลิตแก๊สมีเทนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์ฟาร์มอื่น ๆ วัวหนึ่งตัวปล่อยมีเทนถึงปีละ 154-264 ปอนด์ต่อปี ซึ่งปริมาณมีเทนจากวัวทั่วโลกเมื่อนำมารวมกันแล้ว ปีนึงหนักถึง 231 พันล้านปอนด์ (Our World Data 2020) นอกจากนั้น ถ้าเอาเนื้อสัตว์มาเทียบกับพืชแล้ว การทำฟาร์มปศุสัตว์ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมากกว่าพื้นที่ปลูกผักมากถึง 100 เท่า เพียงเพื่อจะให้สารอาหารในปริมาณที่เท่ากัน

ที่มา: Our World in Data

นอกจากนั้น เพียงเพื่อจะให้เนื้อวัวแค่ปอนด์เดียว ต้องใช้น้ำถึง 2,000 แกลลอนในการเลี้ยง! ซึ่งน้ำปริมาณนี้ถ้าเอาไปใช้กับการปลูกข้าวโพด จะได้ข้าวโพดถึง 20 ปอนด์

กิน Plant-based ลดการถางป่า คืนความหลากหลายทางชีวภาพ

ความเชื่อที่ว่าการที่คนหันมากิน Plant-based จะทำให้เกิดการถางป่ามากขึ้นนี่ไม่จริงเลย เพราะทุกวันนี้พื้นที่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดนั้นถูกกันเอาไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชเอาไว้เลี้ยงสัตว์เหล่านั้นอีกที ดังนั้นแล้ว ถ้าจะกล่าวให้ถูก ฟาร์มปศุสัตว์นั้นใช้พื้นที่มากกว่าพื้นที่เพาะปลูกถึง 4 ต่อ 1 ซึ่งแท้จริงแล้ว ทางเลือกที่เวิร์คกว่าคือการลดปริมาณพื้นที่ฟาร์มปศุสัตว์ดังกล่าวลงและเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแทนโดยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และกินแพลนต์เบสมากขึ้น ซึ่งคำกล่าวอ้างนี้ก็มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในปี 2023 มาสนับสนุน ซึ่งพบว่าอาหารแบบวีแกนลดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพได้มากถึง 66%  แทนที่จะถางป่าเลี้ยงแค่สัตว์ฟาร์มไม่กี่ชนิด การกินแพลนต์เบสจะช่วยคืนความหลากหลายให้กับธรรมชาติ

photo: Kelly/Unsplash

“อาหารแบบวีแกนลดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพได้มากถึง 66%”

แต่ก็ไม่ใช่พืชทุกอย่างจะรักษ์โลก

ต้องทดเอาไว้นิดนึงว่าการกินผักกินพืชเนี่ย มันก็ยั่งยืนมากน้อยแตกต่างกัน หนึ่งในปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้การกินแพลนต์เบสไม่ค่อยรักษ์โลกเท่าไหร่ก็คือพืชบางชนิดต้องใช้พื้นที่ในการปลูกกับน้ำมากกว่าเพื่อน อย่างเช่น อะโวคาโดกับอัลมอนด์ ซึ่งการจะปลูกพืชสองชนิดนี้ได้ต้องถางป่าจำนวนมากเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับปลูกเยอะ ๆ อีกทั้งการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อปลูกให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ให้พอตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคก็ทำให้หน้าดินเสื่อมโทรมและยังสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขนส่งอีกด้วย นอกจากพืชสองชนิดนี้แล้ว ถั่วเหลืองกับข้าวโพดก็ทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน

แต่ ๆๆๆ ไม่ได้กำลังจะบอกว่าไม่ให้กินพืชพวกนี้นะ แต่ให้ลดการกินเนื้อสัตว์ลงต่างหาก เพราะจากสถิติแล้ว มากกว่า 3 ใน 4 ของถั่วเหลืองที่ปลูกถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ มีเพียงแค่ 7 % เท่านั้นที่ตกมาเป็นอาหารของมนุษย์ การเลิกสนับสนุนการทำปศุสัตว์จึงถือเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่าสำหรับปัญหาการปลูกพืชที่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ ขนาดถั่วเหลืองที่ว่าใช้ทรัพยากรเยอะยังใช้น้ำน้อยกว่าการผลิตนมวัวถึง 8 เท่า ถ้าเป็นพื้นที่ก็น้อยกว่า 20 เท่า อีกทั้งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าถึง 3 กิโลกรัม

นอกจากนั้น การกินผักผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาลก็สามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์จากการขนส่งได้อีกด้วย

ที่มา: Our World in Data

ลดอาหารทะเล เปลี่ยนมากิน Plant-based ก็ช่วยมหาสมุทรได้เหมือนกัน

เราคงเคยเห็นข่าวแหพันตัวเต่าทะเล บ้างก็อยู่ในท้องโลมา หรือล่าสุดที่มีเรือประมงชนฉลามกับวาฬจนเจ็บและตายไปหลายตัว แต่เราเคยคิดกันไหมว่าสาเหตุที่ทำให้สัตว์น้ำต้องเจ็บและตายจากขยะประมงเหล่านี้ไม่ใช่แค่จากการขาดจิตสำนึกของคนที่ล่าสัตว์ทะเล แต่มันกำเนิดมาจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่มีความต้องการอาหารเหล่านี้ตั้งแต่แรก ดังนั้น กล่าวคือ การบริโภคอาหารทะเลก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน 

การหันมาทานแพลนต์เบสและลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งบกและน้ำ สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตได้หลายทาง ไม่ว่าจะทางตรง ที่เมื่อมีอุปสงค์ในการทานอาหารทะเลน้อยลง สิ่งมีชีวิตในทะเลก็จะได้รับผลกระทบมลพิษทางน้ำน้อยลง ไม่ว่าจากอุปกรณ์ตกปลาหรือจากยานพาหนะ และที่สำคัญกว่าคือเมื่อความต้องการลดลง การประมงเกินขนาด (Overfishing) ก็จะลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้คงไว้ซึ่งความหลากหลายและความสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ส่วนทางอ้อมนั้น การกินแพลนต์เบสช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทำให้โลกเย็นขึ้น อุณภูมิของโลกและของน้ำก็จะลดลง สัตว์และพืชใต้น้ำก็จะอยู่ได้ ปะการังก็จะลดการฟอกขาว รวมถึงสาหร่ายก็จะไม่สูญพันธุ์ 

Plant-based ช่วยกระจายความยั่งยืนทางอาหาร

ความยั่งยืนทางอาหารเป็นส่วนสำคัญในการอยู่รอดของมนุษยชาติ แต่ยุคสมัยปัจจุบันที่โลกเราอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น อาหารยิ่งหากินยากยิ่งกว่าเดิมเพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินเสียจนไม่เอื้อต่อการปลูกผัก การขาดแคลนพื้นที่สำหรับทำการเกษตร มลพิษ รวมถึงจำนวนประชากรมหาศาล ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความขาดแคลนทางอาหาร ที่ลำพังการพึ่งพาเนื้อสัตว์นั้นไม่เพียงพอต่อความอิ่มท้องของคนทั่วโลก 

จากการสำรวจพบว่า มีเด็กที่ไม่ได้รับอาหารเพียงพอกว่า 82 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในประเทศที่อาหารถูกผลิตเพื่อเลี้ยงสัตว์และสุดท้ายก็ขายให้นายทุน ดังนั้น การกินแพลนต์เบสจึงกลายเป็นทางออกสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการกระจายอาหารไปได้หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เมื่อเปลี่ยนพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ปกติใช้ทำฟาร์มปศุสัตว์สำหรับเหล่านายทุน หรือกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม มาเป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักแทน ก็จะได้ผลผลิตมากขึ้น และความหลากหลายทางชีวภาพก็จะช่วยในเรื่องของการคืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกทาง

นอกจากนั้น งานวิจัยจาก PNAS ยังคาดการณ์ว่าถ้าภายในปี 2050 ทั่วโลกหันมากินแพลนต์เบสกันหมด  จะมีแก๊สเรือนกระจกลดลงถึง 70% ซึ่งมันก็จะสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ได้ถึง 79 ล้านคน และลดจำนวนคนที่เสี่ยงเสียชีวิตได้มากถึง 5.1 ล้านคน ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นการกินวีแกนก็จะยิ่งช่วยชีวิตคนได้มากถึง 129 ล้านคน และยังช่วยเซฟค่ารักษาพยาบาลได้ถึงล้านล้านดอลลาร์

photo: Dean Xavier/Unsplash

แล้วเนื้อสัตว์จากพืชล่ะ รักษ์โลกหรือเปล่า

การกินเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ทำมาจากพืชนั้นก็ช่วยโลกได้เช่นเดียวกับการหันมากินผักทั่วไป พืชให้โปรตีนถึง 2 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดทั่วโลก โดยใช้พื้นที่เพียงแค่ 25% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถึง 5 กิกะตันต่อปี ไม่ปล่อยมลพิษทางน้ำและอากาศที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังใช้น้ำน้อยกว่าอีกด้วย ดังนั้น เปลี่ยนการทานเนื้อสัตว์จริง ๆ มาทาน “เนื้อสัตว์จากพืช” แทนดีกว่า อร่อยเหมือนกัน และยังรักษ์โลกกว่าหลายเท่า

photo: Veg News

อาหาร Plant-based แพง หรือนี่คือการรักษ์โลกแบบคนรวย?

อาหารแพลนต์เบสตามท้องตลาด ราคาก็ออกจะหูฉี่ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ตลอด กลายเป็นว่าการกินแพลนต์เบสนั้นเหมาะกับแค่คนมีเงินแค่นั้นหรือเปล่า คำตอบสั้น ๆ คือ ไม่จริง แก่นของการกินแพลนต์เบสคือการกินแพลนต์หรือพืชเป็นหลัก 

นั่นหมายความว่า ‘เราก็แค่กินผักมากขึ้น กินเนื้อน้อยลง หรือกินผักแทนเนื้อสัตว์ไปเลย’ 

ซึ่งผักก็สามารถหาทานได้ทั่วไป ราคาตามท้องตลาด ส่วนแหล่งของโปรตีนก็หาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถั่ว เต้าหู้ เทมเป้ โปรตีนเกษตร หรือใครอยากเปลี่ยนรสชาติก็สามารถหาเนื้อสัตว์จากพืชมาทานได้ ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทานเนื้อสัตว์ Plant-based ทุกวัน มันก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่แพงอะไร จริง ๆ เต้าหู้ ถั่ว และโปรตีนเกษตรให้โปรตีนมากกว่าเนื้อสัตว์ ในราคาที่ถูกกว่ามาก ๆ อีกทั้งอาหารเจตามที่ต่าง ๆ ก็ราคาย่อมเยา เพราะฉะนั้นการกินแพลนต์เบสไม่ได้หมายถึงการต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเลือกกินต่างหาก

photo: The Spruce Eats

การกิน Plant-based มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรอ

ถ้าอ่านมาถึงขนาดนี้ คงต้องมีถามอย่างงี้บ้างแหละ ว่ามันจำเป็นแค่ไหนกันกับการที่ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จากการต้องกินเนื้อสัตว์ทุกมื้อมาเป็นแพลนต์เบส หรือแก้อย่างอื่นไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหรอ ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ นานา ข้างต้นคงพอทำให้เห็นภาพและเข้าใจกันมากขึ้นแล้วการทำปศุสัตว์ใช้ทรัพยากรของโลกจำนวนมาก อีกทั้งยังปล่อยมลพิษอย่างแก๊สเรือนกระจกมหาศาล ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ใหญ่มากที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงมาถึงขนาดนี้ 

ตัวเราอาจมองว่า แค่การกินเนื้อคนเดียวมันจะทำลายสิ่งแวดล้อมแค่ไหนเชียว ซึ่งมันก็ไม่ต่างกับการที่เราถามตัวเองว่าแค่การใช้ถุงพลาสติกคนเดียวมันจะแค่ไหนกัน แต่ถ้าคนทั่วโลกคิดแบบนี้กันหมด ทุกผลกระทบมันก็ต้องคูณจำนวนคนไป ซึ่งก็จะกลายเป็นคนกินเนื้อหลายพันล้านคน ตอนนี้ เราคงเห็นแล้วว่ามันมีอานุภาพเพียงใด 

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนมากินแพลนต์เบส คือการเริ่มช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยตัวของเราเอง ซึ่งเราก็สามารถทำร่วมกับการผลักดันเรื่องต่าง ๆ เพื่อช่วยโลกไปพร้อม ๆ กันได้

photo: Pille R. Priske/Unsplah

หากใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองเปลี่ยนมาเป็นแพลนต์เบสดู เริ่มได้ง่าย ๆ จากการเลือกกินอาหารที่มีผักมากขึ้น หรือใครถนัดทำกับข้าวเองอาจลองลดเนื้อสัตว์ลงและกินผักให้มากขึ้นแทน มีวัตถุดิบแพลนต์เบสมากมายตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเครื่องปรุงหรือสิ่งทดแทนเนื้อสัตว์ อาหารแพลนต์เบสไม่ได้ไร้รสชาติหรือน่าเบื่อเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากตัวเรา แม้มันจะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเจอ จนเราท้อใจและรู้สึกว่ามันไม่ได้สร้างผลกระทบอะไร แต่ถ้าทุกคนค่อย ๆ เปลี่ยน จาก 1 คนเป็น 2 คน จาก 2 คนเป็น 100 คน และเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นพันล้านคน เมื่อนั้นที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น การกินแพลนต์เบสอาจช่วยโลกได้น้อย แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแก้ไม่ได้เลยถ้าไม่ลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ลงก่อน

“การกินอาหารวีแกนคงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่เราจะสามารถช่วยลดผลกระทบต่อโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาวะความเป็นกรด ปัญหามลพิษ รวมถึงทรัพยากรน้ำและพื้นที่ที่ใช้ด้วย มันมีอิมแพคมากกว่าการไม่นั่งเครื่องบิน หรือซื้อรถไฟฟ้ามาใช้ซะอีก” Joseph Poore นักวิจัยจากม.ออกซ์ฟอร์ดผู้ทำวิจัยเรื่องไลฟ์สไตล์การกินกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกล่าว

ที่มา

https://www.pcrm.org/news/health-nutrition/vegetarian-diets-best-environment-and-human-health

https://goodseedventures.com/worldwide-food-consumption-per-capita-2/

https://scied.ucar.edu/learning-zone/how-climate-works/some-greenhouse-gases-are-stronger-others#:~:text=nitrous%20oxide%20overproduction.-,How%20strong%20is%20it%3F,114%20years%20to%20break%20down

https://www.mdpi.com/2071-1050/13/11/6276

https://rootthefuture.com/definition-of-plant-based/

https://www.epa.gov/snep/agriculture-and-aquaculture-food-thought#:~:text=A%20single%20cow%20produces%20between,(Our%20World%20in%20Data)

https://ourworldindata.org/land-use-diets

https://gfi.org/resource/environmental-impacts-of-alternative-proteins

https://ourworldindata.org/environmental-impact-milks

https://impactful.ninja/least-sustainable-plant-based-foods

Credit

Natticha Intanan

Related posts

4 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับหมาป่าที่เราอาจยังไม่รู้

เมื่อภาพจำของหมาป่าในวัยเด็กอาจทำให้เผลอเชื่อเรื่องเล่าว่าเป็นความจริงไปโดยไม่รู้ตัว

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่ใช้ขยะมาเล่าเรื่องของเต่าและปัญหาในท้องทะเล

ของเหล่านี้มนุษย์เป็นคนใช้ แต่ใยไปจบอยู่ในท้องเต่า

โลกได้รับผลกระทบอะไร เมื่อ ‘เอลนีโญ’ สิ้นสุดแล้ว ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามา

ลานีญากำลังมา ในขณะที่มนุษย์โลกก็ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกจึงไม่ได้หยุดพัก แต่มันจะรุนแรงขนาดไหน?

ปิด BOOK เปิด BOARD (เกม) ลงชุมชนผ่านสนามจำลองกับเกม ‘เครื่องมือเจ็ดชิ้น’

สืบเสาะเบาะแสในชุมชน เก็บข้อมูลด้วยการจดๆๆๆ และจดเพื่อคว้าคะแนน!