เสื้อผ้าชาวกะเหรี่ยงสวยจากธรรมชาติ เย็บด้วยกี่ ย้อมสีด้วยเปลือกไม้ ใช้ผ้าฝ้ายทุกผืน

เสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์สะท้อนวิถีชีวิตอันเป็นหนึ่งเดียวกับโลก ใช้วัตถุดิบและสีย้อมจากธรรมชาติ 100% รับประกันย่อยสลายได้เองทุกผืน

หากจะพูดถึงวิถีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอย่างลงตัวแล้ว เราคงจะนึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มแรก วิถีชีวิตที่ผสานวัฒนธรรมประเพณีเข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างเรียบง่าย ถือคติใช้แต่พอดีและหมั่นคอยดูแลรักษา ทำให้การพึ่งพาผลผลิตจากธรรมชาตินั้นให้ประโยชน์กับป่ามากกว่าสร้างโทษ  การดำรงชีวิตของชาวชาติพันธุ์พึ่งพาสิ่งที่มีตามธรรมชาติเกือบ  100% ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยไปจนถึงเสื้อผ้าอาภรณ์ โดยในบทความนี้ เราจะพูดถึงเครื่องแต่งกายของชาวชาติพันธุ์เป็นหลัก ซึ่งเสื้อผ้าทุกผืนนั้นผสานวัฒนธรรมความเชื่อของแต่ละพื้นที่กับความงามของธรรมชาติได้อย่างลงตัว การผลิตในแต่ละขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือกระบวนการทอผ้า ทุกอย่างล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างคนกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสพูดคุยในเชิงลึกกับพี่น้องชาติพันธุ์ปกาเกอะญอว่าด้วยภูมิปัญญาการถักทอเครื่องนุ่งห่ม อันเป็นภาพสะท้อนถึงความสร้างสรรค์ ละเอียดละออ และวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติของพวกเขา

โดยทั่วไปชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลัก ๆ อยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ หรืออีกชื่อคือกะเหรี่ยงสะกอ และกะเหรี่ยงโปว์ หรือกะเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งส่วนมากจะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ภาคเหนือและเขตตะวันตกของประเทศไทย

รูปแบบของลายทอบนเสื้อผ้าของแต่ละกลุ่ม มองเผิน ๆ อาจดูไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่แท้จริงแล้วมีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างกัน ทั้งการสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์และใช้บ่งบอกสถานภาพการแต่งงานของคน ๆ นั้นได้  

ด้านไหนก็ใส่ได้

เสื้อทรงคอวี ถักทอด้วยลายเส้นเล็กเป็นแนวขวางเรียงกัน คือจุดเด่นของเสื้อชาวปกาเกอะญอที่ชวนให้สังเกตได้ง่าย ทั้งสองด้านจะปักลวดลายเหมือนกันเพื่อสะดวกต่อการใส่สลับหน้าหลัง หากมองในมุมแฟชั่นแนวเราก็อาจเรียกว่าเป็นแนว ‘มินิมอล’ ย่อม ๆ เพราะมีลวดลายเพียงเล็กน้อยทอลงบนผ้าสีพื้นเรียบ

ชุดเดรสยาวทรงกระบอกสีขาวแบบปกาเกอะญอของผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน 
จะเป็นคอวีและมีลวดลายเรียบง่าย ใส่สลับหน้าหลังได้

ในขณะที่เสื้อผ้าของกะเหรี่ยงโปว์ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นสไตล์ “แม็กซิมอล” เพราะจะเน้นด้วยสีสันและลวดลายเป็นหลัก เสื้อเกือบทั้งตัวจะถูกทอด้วยลวดลายที่เรียกว่า ‘ลายตีนจก’ โดยที่ข้างหน้าและข้างหลังมีลายแตกต่างกัน

ชุดของแม่บ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ที่ทอด้วยลายแบบตีนจก เกิดจากการเอาผ้าทอหลาย ๆ ผืนมาเย็บต่อกัน และมีลวดลายที่หลากหลายกว่าแบบปกาเกอะญอ

เสื้อผ้าบ่งบอกสถานภาพ

ในกลุ่มปกาเกอะญอ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วกับผู้หญิงที่ยังถือพรหมจรรย์จะแต่งกายแตกต่างกัน ผู้หญิงที่ยังโสดจะสวมชุดกระโปรงยาวทรงกระบอกคอวีสีขาว เรียกว่า ‘ชุดเช ควา’ อันแสดงถึงความบริสุทธิ์ 

ในขณะที่ชุดของแม่บ้านหรือสตรีที่แต่งงานแล้ว เรียกว่า ‘เสื้อเช โม่ ซู’ เป็นเสื้อสีพื้นดำ ปักด้วยลูกเดือยที่มักใส่คู่กับผ้าซิ่นสีแดงทอด้วยลายมัดหมี่ จากคำบอกเล่าเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงหน้าที่ของเสื้อผ้าอาภรณ์ของพอจะเห็นภาพถึงลักษณะลวดลายและสีผ้าเป็นตัวบ่งบอกสถานภาพการแต่งงานของชาวปกาเกอะญอ

การแต่งกายของผู้ชายปกาเกอะญอจะไม่มีการเปลี่ยนการแต่งกายตามสถานะแต่งงาน ผู้ชายทุกคนจะสวมเสื้อทรงกระบอกคอวีสีแดงลายทางและสวมกางเกงหรือโสร่งเหมือนกัน แต่หากเป็นคนที่แต่งงานแล้ว จะมีการสวมผ้าโพกหัวเพิ่มเข้ามา เมื่อต้องทำพิธีต่าง ๆ แล้วต้องถอดผ้าโพกหัวออก ก็อาจทำให้คนแยกไม่ออกว่าผู้ชายคนไหนแต่งงานหรือยัง

เสื้อของผู้ชายปกาเกอะญอหลากหลายแบบ แต่ทุกผืนล้วนมีสีแดงและลายทางที่เป็นเอกลักษณ์

ในกลุ่มกะเหรี่ยงโปว์ การแต่งกายของผู้หญิงจะไม่ได้แบ่งตามสถานภาพการแต่งงาน แต่แบ่งตามการมีรอบประจำเดือนหรือการแตกเนื้อสาว ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีประจำเดือนจะสวมชุดเดรสยาวสีขาวคล้ายกับชุดของปกาเกอะญอ แต่หากผู้หญิงคนใดเริ่มมีประจำเดือนมาก็จะต้องเปลี่ยนมาสวมชุดที่เป็นสีอื่น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ชุดสีขาวจะทำให้เห็นประจำเดือนเลอะอย่างชัดเจน การเปลี่ยนมาสวมเสื้อผ้าที่เป็นสีเข้มจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หญิงในกรณีนี้ 

อย่างไรก็ดี ชุดของผู้หญิงกะเหรี่ยงโปว์หลังแต่งงานก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบอย่างปกาเกอะญอ ผู้หญิงโปว์จะเปลี่ยนเครื่องแบบการแต่งกายเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็คือเมื่อมีประจำเดือนครั้งแรก 

ชุดกะเหรี่ยงโปว์ผู้หญิง ซึ่งเปลี่ยนแบบการแต่งกายเพียงครั้งเดียวคือเมื่อเริ่มมีประจำเดือน

ความแตกต่างอีกอย่างคือ ผู้หญิงปกาเกอะญอจะไม่สวมกางเกง แต่จะสวมเพียงซิ่นเท่านั้น แม้จะต้องออกไปทำงานข้างนอกก็ตาม ในกะเหรี่ยงโปว์จะต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่จะมีการเปิดกว้างให้ผู้หญิงสามารถสวมกางเกงได้ ทั้งสั้นและยาว แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความเปิดกว้างทางเพศที่มากกว่า

ในกลุ่มชาวกะเหรี่ยง ผู้หญิงจะถูกสอนให้ทอผ้าตั้งแต่อายุยังน้อย ทุกบ้านจะปลูกฝังให้เด็กผู้หญิงคลุกคลีกับฝ้ายตั้งแต่เด็ก เพื่อโตมาจะได้มีใจผูกพันและอยากทอผ้า ภูมิปัญญานี้จึงเป็นเหมือนดั่งวิชาที่ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละบ้านจึงผลิตเสื้อผ้าใส่กันเองได้ ตั้งแต่การเก็บฝ้าย เก็บสีย้อม ย้อมฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอออกมาจนได้เป็นผ้าที่สวยงาม สวมใส่สบาย และผลิตจากวัสดุของธรรมชาติล้วน ๆ

ชุดเครื่องแบบกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลวดลายหลากหลาย

หัวใจของการ “ทอ”

วัตถุดิบที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการทอผ้าคือ “ฝ้าย” เสื้อผ้าส่วนใหญ่มักทอด้วยฝ้าย ด้วยเหตุผลว่าง่ายต่อการสวมใส่มากที่สุด ทั้งหาง่าย ทอง่าย แต่สิ่งที่ไม่ง่ายคือไม่ขาดง่าย พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะเลือกฝ้ายให้กลายเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต

วัตถุดิบหลักในการทอ “ฝ้าย”

ระยะเวลาในการทอ

ระยะเวลาขึ้นอยู่กับคนทอและลวดลายที่เลือก อย่างชาวปกาเกอะญอที่เราได้พูดคุยด้วย เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เธออยู่ในหมู่คนรุ่นใหม่และอายุยังไม่มาก จึงสู้ความเชี่ยวชาญของรุ่นแม่ ๆ ยังไม่ได้ อย่างชุดเชควาของเธอ 1 ชุด เธอใช้เวลาเกือบ 2เดือน” ตอนฟังแล้วถึงกับต้องแอบตาโต เธอบอกว่าเวลาส่วนมากมักจะเสียให้กับลวดลายที่ต้องลงรายละเอียดมากกว่าบริเวณสีพื้นเรียบ ๆ ดังนั้นระยะเวลาการทำจะขึ้นอยู่กับแพทเทิร์นของแต่ละชุดไป สำหรับเสื้อปกติใช้เวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น

ภาพลวดลายชุดเชควา

ฤดูทอผ้าประจำปี

จากการนั่งคุยกับกลุ่มชาวปกาเกอะญอพบว่า พวกเธอมักจะใช้เวลาช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงพักจากการทำไร่หมุนเวียน เรียกว่าช่วง ‘คุตึขะ’ พวกเธอจะใช้ช่วงเวลานี้ผลิตชุดไว้สวมใส่กัน ดังนั้นหมดห่วงเรื่องฟาสต์แฟชั่นไปได้เลย 

เหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังไม่ใช่ว่าพวกเธอไม่มีเทรนด์ใหม่ ๆ ในการแต่งตัว แต่เป็นเพราะว่าพวกเธอเคารพและเข้าใจถึงคุณค่าของเสื้อผ้ากว่าจะมาอยู่บนเรือนร่างของพวกเขาที่ต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้างกว่าจะได้มาแต่ละชิ้น ลวดลายพวกเธอใส่ใจทอ วัตถุดิบธรรมชาติที่พวกเธอหยิบยืมมาในแต่ละครั้ง สะท้อนให้พวกเธอรู้สึกขอบคุณและมักคำนึงถึงคุณค่าของเสื้อผ้าแต่ละตัวอยู่เสมอ

ความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง

ความเชื่อเครื่องแต่งกายของชาวปกาเกอะญอที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ชุดเครื่องแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงที่เราคุ้นตา ซ่อนความหมายไว้ภายใต้การถักทอเหล่านั้น ชาวปกาเกอะญอเล่าถึงความหมายของคอเสื้อที่พวกเขาสวมใส่ ล้วนเป็นคอวีที่ถูกทอให้เหมือนกันจึงสามารถใส่ได้ทั้งด้านหน้าและหลังเสมอสื่อถึง “ชาวปกาเกอะญอที่ไม่ว่าต่อหน้าจะเป็นเช่นไร ลับหลังก็เป็นเช่นนั้น” สื่อถึงความซื่อสัตย์บริสุทธิ์ ที่พวกเขาเป็นและยึดมั่น พอได้รู้ถึงความหมายที่ลึกซึ้งอย่างนี้แล้วยิ่งทำให้เครื่องแต่งกายของพวกเขามีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก

การเลือกใช้วัตถุดิบพิเศษในการทอชุดสวมใส่วันมงคลอย่างวันแต่งงาน วันเข้าหอของชาวปกาเกอะญอจะต้องสวมใส่หนี่แมะที่ย้อมเองเท่านั้น และต้องเป็นหนี่แมะที่ย้อมด้วยไม้ติ้ว เพราะพวกเขามีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่มั่นคงแข็งแกร่งเหมือนดังไม้ติ้ว หรือถ้าเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้สีเคมีแต่มีข้อแม้คือต้อง ย้อมเองเท่านั้น

ความเชื่อพิธีวิวาห์ของเหล่าชาวปกาเกอะญอ อีกหนึ่งความพิเศษของชาวปกาเกอะญอคือในเหล่าชาวปกาเกอะญอมักจะไม่มีคนนอกเข้ามาได้ง่าย ๆ เพราะทางเดียวที่จะเข้ามาได้คือต้องตบแต่งเข้าทางบ้านฝ่ายหญิงเท่านั้น ฟังไม่ผิดค่ะทุกคน หลักเกณฑ์ของชาวปกาเกอะญอคือ เมื่อใดที่ต้องเข้าสู่ประตูวิวาห์ จะต้องเป็นขาของฝ่ายชายเท่านั้นที่ต้องก้าวมาตบแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง และต้องเป็นฝ่ายหญิงเองที่เอ่ยปากสู่ขอฝ่ายชายก่อน

ชาวกะเหรี่ยงถูกตัดสินจากเสื้อผ้าที่สวมใส่

‘ไม่ใช่คนไทย ไร้การศึกษา พูดภาษาไม่ชัด’

นี่คือคำพูดที่ชาวกะเหรี่ยงต้องพบเจอหลายครั้งเมื่อพวกเขาสวมใส่เครื่องแต่งกายที่แสดงอัตลักษณ์ของตนเอง จนส่งผลให้หลายคนไม่กล้าสวมใส่ ไม่กล้าบอกใครว่าเป็นชาวกะเหรี่ยง จนนำไปสู่ความสั่นคลอนในวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงที่เริ่มถูกกลืนหายไปท่ามกลางคำดูถูกเหล่านั้น

ซอฟต์พาวเวอร์ทวงคืนวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง

ในโลกของเราปัจจุบันท่วมท้นไปด้วยสื่อที่หลากหลายและปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก เราคงเห็นหลาย ๆ กรณีที่เรียกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” พลังงานแห่งการชักจูงผู้คนให้แปรเปลี่ยนพฤติกรรมตามสิ่งนั้น ๆ เช่น ซอฟต์พาวเวอร์กางเกงช้างของไทย ที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่มาเหยียบไทยใครไม่ได้ใส่กางเกงช้างแทบเรียกได้ว่า มาไม่ถึง

และสิ่งนี้เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงเช่นกัน เมื่อได้พูดคุยพวกเขาต่างส่งต่อคำขอบคุณถึง ภาพยนตร์ที่ได้สร้าง ซอฟต์พาวเวอร์ ส่งผลให้วัฒนธรรมของพวกเขาให้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง พวกเขาให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่เครื่องแต่งกายของพวกเขากำลังจะถูกลืม ก็ได้มีภาพยนตร์เรื่อง สุขสันต์วันโสด (Low Season) ชุบชีวิตเครื่องแต่งกายของพวกเขาให้กลับมาเป็นที่สนใจและยอมรับเป็นอย่างมาก อิทธิพลครั้งนี้ส่งผลให้พวกเขาได้รับความสนใจจนถึงขั้นมีผู้คนติดต่อสั่งซื้อสั่งทอกันยกใหญ่ รวมไปถึงชาวกะเหรี่ยงที่ต้องคอยหลบซ่อนก็กลับมาสวมใส่ได้อย่างภาคภูมิ

ภาพยนตร์เรื่อง สุขสันต์วันโสด (Low Season)

ความน่ารักของทั้งวัฒนธรรมและบุคคลถูกนำเสนอผ่านรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขา พิสูจน์ได้จากแนวความคิด วิถีการดำรงชีพที่พวกเขาใช้ ทำให้เราต้องกลับมาย้อนนึกอีกครั้งว่า ชาวกะเหรี่ยง ที่เราเคยได้ยินได้ฟังมามันถูกต้องจริงหรือเปล่า? ความถ้อยทีถ้อยอาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อผืนป่าทำให้เราอยากเรียนรู้การใช้ชีวิตของพวกเขามากยิ่งขึ้น ทั้งการแต่งกาย การทำมาหากิน ประเพณี วัฒนธรรมของพวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติทั้งนั้น แต่สุดท้ายการพึ่งพาธรรมชาติของพวกเขาก็เป็นไปอย่างกตัญญู  พวกเขาเลือกที่จะยึดหลัก ‘ยืมมาจ่ายไป’ กับผืนป่า คำนึงอยู่เสมอว่าการหยิบยืมมาจะต้องให้ผลประโยชน์คืนและไม่ใช้อย่างล้างผลาญ พวกเขาจึงค่อยทำนุบำรุงผืนป่าอยู่เสมอ

และนี่เป็นอีกหนึ่งมุมมองของชาวกะเหรี่ยงที่นำเสนอผ่านเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มของชาวกะเหรี่ยง ความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ร้อยเรียงกลายเป็น เครื่องแต่งกายประจำชนเผ่า นอกจากนำเสนอถึงภูมิปัญญาแล้ว ยังสามารถบ่งบอกได้ถึงฐานะ หรือสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย ลวดลายสีสันที่ถูกทอด้วยความใส่ใจยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อต่าง ๆ ที่ถูกส่งต่อมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ 

ถึงแม้เสื้อผ้าของพวกเขาจะสืบทอดมาเป็นระยะเวลานานแต่ก็ยังสามารถคงเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ถูกสืบทอดมาเช่นกัน เสมือนว่าพวกเขาถูกผืนป่าโอบกอดก็ไม่เชิง เพราะการเลือกใช้วัสดุล้วนแล้วแต่มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น วัฏจักรเสื้อผ้าที่หมุนเวียนอยู่ในป่าตั้งแต่เกิดจนย่อย  

จากที่เราได้สัมผัสถึงความเป็นมาของเสื้อผ้าชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เรียกได้ว่าทุกครั้งที่เราสวมใส่หรือเลือกซื้อเสื้อผ้า มักเริ่มมีความคิดมาคอยเตือนใจถึงสิ่งที่เราสวมใส่อยู่เสมอว่า ‘จำเป็นมากมั้ย ที่เราต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ ทุกอาทิตย์’ เพราะชาวกะเหรี่ยงเรียกได้ว่าเป็นแกนนำ #WEARวนไป เลยก็ว่าได้ จากการที่พวกเขามีเสื้อผ้าใหม่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นในรอบปี แม้จะตามเทรนด์บ้างในเรื่องของรูปแบบลวดลายและสีสันแต่พวกเขาก็ไม่เคยลืมถึงคุณค่าวัสดุที่พวกเขาหยิบยืมจากธรรมชาติ ดังนั้นเสื้อผ้าของพวกเขามักถูกทอออกมาใหม่บนพื้นฐานความจำเป็นเป็นหลัก

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

‘ธูปรักษ์โลก’ แบรนด์ธูปไทยลดควันที่ผลิตจากธรรมชาติ 100%

ว่าด้วยจุดเริ่มต้นที่อยากแก้สารก่อมะเร็งและลดมลพิษไปพร้อม ๆ กัน

สีเขียวบนธงไพร์ด ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ในการมี “ชีวิต” ของเราทุกคน

สีเขียวบน ‘ธงสีรุ้ง’ ในช่วง Pride Month ตัวแทนแห่ง ‘ธรรมชาติ’ และเสียงสะท้อนถึงเหล่าสิ่งมีชีวิต ทรัพยากร และสรรพสิ่งต่าง ๆ

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน