ไม่ต้องควงเด็กจุฬาก็มาเดินได้! พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฟรีในจุฬาฯ เดินง่าย ๆ แบบวันเดียวจบ - EnvironmanEnvironman

ไม่ต้องควงเด็กจุฬาก็มาเดินได้! พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฟรีในจุฬาฯ เดินง่าย ๆ แบบวันเดียวจบ

รู้จักสารพัดความเป็นมาของโลกผ่านพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ กัน

จะมาคนเดียวหรือมาเที่ยวเป็นแก๊งก็เข้ามาเดินเล่นได้หมด และที่สำคัญ ที่นี่เข้าชมฟรีด้วย! วันนี้ขอเป็นไกด์เฉพาะกิจพาทุกคนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบไม่ลับ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่จุฬาลงกรณ์ฯ กัน บอกได้เลยว่าอิ่มครบจบในตัวแน่นอนเพราะว่ามีตั้งแต่เรื่องรอบตัวอย่างพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพที่ย้อนให้เราเห็นถึงความเป็นมาของวงการภาพถ่าย ไปจนถึงเรื่องของสัตว์โลกเล็ก ๆ ที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน 

ใครเคยดูหนังเรื่อง Night At The Museum แล้วรู้สึกว้าว คิดตามกันบ้างไหมว่า หากสิ่งมีชีวิตในพิพิธภัณฑ์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ พวกจะเป็นยังไงนะ? ตอนที่เราก้าวเท้าไปเยือนพิพิธภัณฑ์นี้ก็ไม่ต่างกัน ความรู้สึกน่าตื่นตาตื่นใจแบบนั้นผุดขึ้นมาแบบบอกไม่ถูก บรรดาซากสัตว์หายาก สัตว์ดึกดำบรรพ์ยืนบ้าง นอนบ้างแบบทื่อ ๆ ทักทายเรา แต่ก็ชวนให้เดินเข้าไปศึกษา ทำความรู้จักกับพวกเขาได้ไม่น้อย 

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ภายใต้การดูแลของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความตั้งใจที่อยากจะรวบรวมและรื้อฟื้นตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงด้านอนุกรมวิธาน (แปลไทยเป็นไทย = ศาสตร์การศึกษา จำแนกบรรดาสิ่งมีชีวิตนั่นเอง) 

ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์แมลง ที่รวบรวมแมลงหายากในประเทศไทย ไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลานอย่างห้องเต่าและตะพาบ ต่อที่เรื่องใหญ่ ๆ อย่างพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ ที่รวบรวมโครงกระดูกสัตว์หาดูยากและซากดึกดำบรรพ์มากมายที่พบในประเทศไทย และไปจบที่ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพเล่าเรื่องราวความเก่งกาจ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีของมนุษย์ กว่าที่เราจะได้มีความสะดวกสบายกันเช่นทุกวันนี้

ว่าแล้วก็ไม่รอช้า ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักโลกอีกใบแห่งสัตว์โลกทั้งหลายที่รอเราอยู่กัน!

ห้องเต่าและตะพาบ

มาเริ่มกันที่ห้องแรกกันเลย ห้องนี้คือห้องเต่าและตะพาบ มีการจัดแสดงเต่าและตาบพาบหลากหลายชนิด เช่น เต่าเดือย เต่านา และตะพาบน้ำ รวมถึงยังมีโครงกระดูกและกระดองเต่าของจริงจัดแสดงไว้ให้เราได้ศึกษากันด้วย

เราสามารถแบ่งเต่าออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เต่าบก เต่าน้ำจืด และเต่าทะเล ซึ่งเต่าแต่ละประเภทจะแตกต่างกันไปตามร่างกาย และที่อยู่อาศัยของมัน อย่างเต่าบกอาศัยอยู่บนบก มีกระดองค่อนข้างนูนสูงและขรุขระ มักกินพืชเป็นอาหาร ในขณะที่เต่าน้ำจืดจะอยู่ในน้ำเป็นหลัก กระดองแบน น้ำหนักเบาเพราะต้องว่ายน้ำ ส่วนเต่าทะเลมีกระดองแบนและน้ำหนักเบาเช่นเดียวกัน เพราะอาศัยอยู่ในทะเล แต่อาจขึ้นมาบนบกบ้างเพื่อวางไข่

แต่ที่เป็นไฮไลท์สำหรับห้องนี้ก็คือ ‘ตะพาบม่านลาย’ เพราะตะพาบม่านลาย (Chitra chitra) ถือเป็นตะพาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยกระดองหลังสามารถยาวได้ถึง 1 เมตร และน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งมีการกระจายพันธุ์ในแม่น้ำขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ที่เท่านั้น ปัจจุบันพบในอินเดียและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ด้วยลวดลายที่สวยงาม ทำให้มีการทำลายแหล่งอาศัยของตะพาบม่านลาย เพื่อนำมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง จึงทำให้ตะพาบม่านลายนี้กลายเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ ภายในห้องยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการปล่อยเต่านา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คนไทยส่วนใหญ่เชื่อกันว่าการปล่อยเต่าจะเป็นการช่วยชีวิตเต่า ทำให้ผู้ปล่อยได้รับบุญกุศล แต่อันที่จริงเต่านาที่นำไปปล่อยมักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะอาจขาดสารอาหารจนร่างกายอ่อนแอ เมื่อถูกปล่อยไปในแหล่งน้ำที่ไม่มีอาหารก็จะทำให้มันตาย ดังนั้นการปล่อยเต่าจึงแทบไม่ได้ช่วยชีวิตสัตว์อย่างที่เราเข้าใจ แต่ถ้าหากใครสนใจอยากเรียนรู้การปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติแบบถูกต้องก็สามารถมาขอคำปรึกษาได้ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้

ห้องนิทรรศการหลัก

มาถึงส่วนของห้องนิทรรศการหลักของพิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยากันบ้าง ห้องจัดแสดงขนาดใหญ่แห่งนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับโลก (และจักรวาล) ของเราขนาดที่ว่าหากจะศึกษาให้ครบทุกอย่างที่จัดแสดงในห้องนี้ก็คงต้องใช้เวลานานทีเดียว

ห้องจัดแสดงนี้จะทำให้เราได้เห็นสรีระร่างกายของสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภทในรูปแบบ โครงกระดูก สัตว์สต๊าฟ หรือแม้กระทั่ง หนังสัตว์ โดยมีการจัดโซนประเภทของสิ่งมีชีวิตอย่างชัดเจนว่าตรงไหนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา สัตว์ทะเล สัตว์ปีก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยในที่นี้เราจะได้เห็นโครงกระดูกของสัตว์ใหญ่อย่างควายและม้า หรือแม้กระทั่งวาฬบรูด้า

นอกจากสัตว์ประเภทต่าง ๆ แล้วห้องจัดแสดงห้องนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับกายวิภาคของมนุษย์ด้วย เราสามารถพบเห็นโครงกระดูกมนุษย์ได้ในทุกมุมของห้องจัดแสดง อวัยวะบางส่วนของมนุษย์ รวมไปถึงหลักฐานของอารยธรรมมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างเช่น อาวุธที่ทำจากหิน และเครื่องปั้นดินเผา

แน่นอนว่าธรรมชาติของจักรวาลที่รายล้อมเรานั้นไม่ได้มีเพียงแต่สิ่งมีชีวิต ห้องจัดแสดงแห่งนี้ก็เช่นกัน เพราะที่นี่ยังมีการจัดแสดงในส่วนของหิน ดิน แร่ ที่พบเจอได้ในประเทศไทย รวมไปถึงชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่มาจากนอกโลกด้วย เรียกได้ว่าเพียงแค่ห้องนิทรรศการหลักก็มีอะไรให้เราได้ศึกษาธรรมชาติที่รายล้อมเราอย่างรอบด้านจริง ๆ

พิพิธภัณฑ์แมลง

พิพิธภัณฑ์แมลงอยู่ที่ตึกชีววิทยา 1 ห้อง 225 ชั้น 2 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในพิพิธภัณฑ์จะมีการจัดแสดงแมลงมากกว่า 5,000 ตัวอย่าง มีการจัดประเภทแมลงต่าง ๆ แยกย่อยออกไปมากมาย ทั้งแมลงกินได้ แมลงปีกแข็ง อีกทั้งยังมีการจัดประเภทแมลงที่ปรากฎในสัตวาภิธาน บทประพันธ์ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ด้วย

นอกจากจะจัดแสดงแมลงแล้วยังมีส่วนให้องค์ความรู้เกี่ยวกับแมลงต่าง ๆ ที่เราพบเจอบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แมลงสาบ แมงมุม ผีเสื้อ ผึ้ง ฯลฯ ไปจนถึงแมลงแปลก ๆ เช่น ด้วงกว่าง แมลงทับ หรือแม้กระทั่งแมลงที่อันตายอย่างต่อหัวเสือด้วย โดยทางพิพิธภัณฑ์มีการเก็บรักษาตัวอย่างแมลงสำหรับการทดลองต่าง ๆ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัย และการเพาะพันธุ์ของแมลงหรือแมงแต่ละประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงได้เป็นอย่างดี

ใครที่สนใจเรื่องแมลง เป็นแฟนพันธุ์แท้แมลงอยู่แล้ว หรืออยากดูตัวอย่างแมลงประเภทต่าง ๆ สามารถแวะมาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์แมลงแห่งนี้ได้เลย ซึ่งนอกจากโซนจัดแสดงแมลง ที่นี่ยังมีโซนสัตว์อื่น ๆ และธรรมชาติวิทยา ให้ได้ชมกัน โดยสามารถเข้าชมได้ฟรีทั้งหมด นอกจากจะมีโซนสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่เฉพาะแค่แมลงให้ศึกษากันแล้ว การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ยังฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีถ่ายภาพ

เปลี่ยนบรรยากาศจากการดูสัตว์ มาดูสิ่งที่เอาไว้ใช้ถ่ายภาพสัตว์กันดีกว่า ที่นี่คือ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ตัวพิพิธภัณฑ์ยังอยู่ในจุฬา ฯ อยู่นะ อยู่ที่ตึกข้าง ๆ ค่อตึกภาควิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ เดินมาจากตึกของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาไม่ไกลฮะ

สำหรับพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงกล้องถ่ายภาพและภาพถ่ายเป็นการเฉพาะแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียเลยนะ เดินเข้าไปด้านในก็จะเจอห้อง Canon Exploratoium ก่อนเป็นอย่างแรก ที่นี่คือศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพ และการพิมพ์ เป็นสถานที่ให้คนที่สนใจเรื่องการถ่ายภาพเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองกับระบบ Interactive

ต่อมาก็เลี้ยวขวาเข้าห้องนิทรรศการหลักได้เลย เข้าไปก็ต้องบอกเลยว่าว้าวมาก ถึงแม้จะค่อนข้างเก่าเนื่องจากนิทรรศการถูกจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 แต่ของทุกชิ้นก็ถูกจัดเก็บไว้อย่างดี กล้องแต่ละตัว อุปกรณ์แต่ละชิ้น ถูกจัดเรียงให้เล่าเรื่องราววิวัฒนาการของเทคโนโลยีภาพถ่าย ตั้งแต่การกำเนิดแสง สี ภาพสามมิติ มีกล้องถ่ายรูปสมัยก่อนให้ทุกคนได้ไปลองส่องกันด้วยนะ!

ระหว่างเดินชมก็จะมีป้ายเล่าเรื่องราวของสิ่งของบางชิ้นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ส่วนตัวเราชอบเรื่องราวของภาพถ่ายภาพแรกของโลก ที่อธิบายหลักการออกมาได้เข้าใจง่ายมาก รู้หรือเปล่าว่าภาพถ่ายภาพแรกใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงในการเปิดรับแสงเพื่อให้รูปคงอยู่ถาวรเลยนะ

ใครที่มีความสนใจด้านการถ่ายภาพ หรือสะสมกล้องและอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องจะต้องถูกใจพิพิธภัณฑ์นี้อย่างแน่นอน! เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยกล้องและอุปกรณ์หายาก ยังมีเรื่องราวน่าสนใจให้อ่านแบบเพลิน ๆ ตลอดทั้งนิทรรศการอีกด้วย

แน่นอนว่าการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นเรื่องดีอย่างยิ่งต่อการศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราทั้งที่เรารู้จักหรืออาจแทบไม่เคยรู้การมีอยู่ของพวกมันด้วยซ้ำ ทุกชีวิตล้วนมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ ตัดกลับมาที่โลกปัจจุบัน เรายังคงมีสิ่งมีชีวิตมากมายที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลในธรรมชาติให้กับโลกใบนี้แต่กลับอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการทำความเข้าใจ ช่วยกันรักษาไว้ซึ่งการมีอยู่ของพวกเขา เพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายที่เราไม่อยากเห็นคือ ‘การมีอยู่ของพวกเขาอาจพบได้เพียงซากฟอสซิลหรือในโหลขวดดองให้ได้ชื่นชม เท่านั้น’

—————————

◦ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

◦  ตึกชีววิทยา ชั้น 2 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

◦  เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ (เวลา 9.00-16.00 น.) ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์

◦ ฟรี! ไม่เสียค่าเข้าชม

Credit

Chayanit S.

Related posts

KBank ชวนธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การลด Food Waste

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันจากกฎระเบียบโลก KBank ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรสำคัญเพื่อช่วยธุรกิจอาหารเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

ปิด BOOK เปิด BOARD (เกม) ลงชุมชนผ่านสนามจำลองกับเกม ‘เครื่องมือเจ็ดชิ้น’

สืบเสาะเบาะแสในชุมชน เก็บข้อมูลด้วยการจดๆๆๆ และจดเพื่อคว้าคะแนน!

โลกได้รับผลกระทบอะไร เมื่อ ‘เอลนีโญ’ สิ้นสุดแล้ว ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามา

ลานีญากำลังมา ในขณะที่มนุษย์โลกก็ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกจึงไม่ได้หยุดพัก แต่มันจะรุนแรงขนาดไหน?

แคดเมียม – สารเคมีอันตราย

สารโลหะหนักจำพวกเดียวกับปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม

สิ่งแวดล้อมกับ “เห็ดเผาะ” ที่ไม่ได้เกิดแค่ในป่า : บริโภคเห็ดเผาะอย่างไรให้ยั่งยืนทั้งป่าและคน

“เผาป่าหาเห็ด” คงไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง เพราะเจตนาของคนที่เข้าไปหาเห็ดไม่ใช่การตั้งใจเผาป่า แต่คือการเผาใบไม้เพื่อช่วยให้มองเห็นเห็ดได้ง่ายขึ้น ทว่า การเผาเพียงเล็กน้อยทำให้บานปลายกลายเป็นไฟไหม้ป่าได้