นี่เรากำลังกินอาหารพร้อมกับพลาสติกอยู่หรือเปล่า?  เช็ค 5 ของในครัวที่อาจปนเปื้อนไมโครพลาสติก

เลี่ยงได้เลี่ยง! ของ 5 อย่างในครัวที่แฝงไมโครพลาสติกแบบไม่รู้ตัวและอาจทำลายสุขภาพเรา

เดือนกรกฏาคมทั่วโลกมีการจัดแคมเปญ Plastic-free July ที่รณรงค์ให้ทั่วโลกลดการใช้พลาสติก เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นมามหาศาลในทุก ๆ วัน จนคุกคามความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งขยะพลาสติกพวกนี้ไม่เพียงแต่สร้างมลพิษ หรือก่อภาวะโลกรวนแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดด้วย

พลาสติกนั้นผลิตง่ายแต่จัดการยาก เพราะพลาสติกก็มีหลายเกรดและหลายประเภท แต่ละชนิดก็มีองค์ประกอบและสารเคมีที่แตกต่างกันไปทำให้ไม่สามารถนำมารีไซเคิลร่วมกันได้ อีกทั้งขยะส่วนใหญ่ก็ปนเปื้อนเศษอาหาร พวกมันเลยไม่ถูกนำไปรีไซเคิลด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ ไม่คุ้ม ทั้งการที่ต้องมาแยกประเภท ทั้งการต้องมาล้างมาคลีน ทุกอย่างต้องใช้ทั้งเวลาและต้นทุน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมขยะพลาสติกส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันของเราถึงไปกองที่บ่อฝังกลบ ทะเล มหาสมุทร แทนที่จะเข้าไปอยู่ในโรงรีไซเคิลขยะ แล้วสุดท้ายแล้วพลาสติกพวกนั้นก็จะสลายร่างกลายเป็นไมโครพลาสติก ปนเปื้อนอยู่ในทุกที่ทั่วโลก รวมถึงมาอยู่ในร่างกายของเราด้วย

ไมโครพลาสติกลอยละล่องอยู่ในอากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรากิน และน้ำที่เราดื่ม เราสูดและกินไมโครพลาสติกเข้าไปทุกวันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งไมโครพลาสติกส่งผลเสียต่อการทำงานระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบประสาท หรือระบบภูมิคุ้มกัน ในเด็ก ไมโครพลาสติกจะขัดขวางพัฒนาการเรียนรู้และการเติบโต ส่วนในผู้ใหญ่ ก็ส่งผลต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคเกี่ยวกับลำไส้ โรคทางระบบสมอง ปัญหาเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ เป็นต้น 

ซึ่งเราก็คงรู้กันอยู่แล้วว่าเราหนีไมโครพลาสติกไม่พ้น เพราะมันอยู่ในแทบทุกที่ที่เราอยู่รวมถึงในอาหารที่เรากิน แต่เราอาจเพิ่มความเสี่ยงในการรับอนุภาคพลาสติกเล็ก ๆ เหล่านี้โดยไม่รู้ตัวจากไลฟ์สไตล์ หรือสิ่งของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งของ 5 อย่างต่อไปนี้ เราต้องเลี่ยงด่วน เพราะมันปล่อยไมโครพลาสติกมหาศาล 

1. เขียงพลาสติก

บ้านไหนใช้เขียงพลาสติกอยู่ เปลี่ยนด่วน เพราะพลาสติกเล็ก ๆ ที่หลุดออกมาระหว่างที่เรากำลังหั่นผักอยู่นั้น ปนไปกับอาหารที่เรากินโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเขียงพลาสติกสามารถปล่อยไมโครพลาสติกออกมาได้มากถึง 100-300 ชิ้นต่อการหั่นหนึ่งครั้ง และมากถึง 79.4 ล้านชิ้นต่อปี ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วสินะที่เราต้องทิ้งเขียงพลาสติกและเปลี่ยนมาใช้เขียงไม้แทน จะได้ไม่ต้องกินอาหารจานโปรดผสมกับไมโครพลาสติก

2. กล่องข้าวเวฟได้

เวฟได้แบบใด! กล่องข้าวเวฟได้ก็ยังปล่อยไมโครพลาสติกนะเออ เพราะงานวิจัยปี 2023 จาก University of Nebraska-Lincoln พบไมโครพลาสติกถึง 4 ล้านชิ้นต่อ ตร.ซม. ในภาชนะใส่อาหารพลาสติกสำหรับเด็ก ซึ่งจากการส่องกล้องพบว่าอนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้ทำลายเซลล์ไตที่เพาะเลี้ยงเอาไว้ถึง 75% สร้างความกังวลถึงความอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าว่าให้เลี่ยงการใช้ภาชนะที่มีส่วนประกอบของสารเคมีจำพวก phthalates, styrene และ bisphenols โดนความร้อน หรือถ้าจะให้ดีกว่า เปลี่ยนมาใช้จานจากแก้วหรือเซรามิกในการอุ่นอาหารหรือใส่อาหารร้อนจะปลอดภัยที่สุด

3. น้ำแข็งสำเร็จรูป

น้ำแข็งก็ไม่รอด ไมโครพลาสติกอยู่ในทุกที่จริง ๆ เพราะมีงานวิจัยตรวจพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำแข็งสำเร็จรูปยี่ห้อดัง 15 แบรนด์ในเม็กซิโกซิตี้ ใครชอบซื้อน้ำแข็งถุงมาทานอาจลองเปลี่ยนมาทำน้ำแข็งกินโดยใช้พิมพ์แช่น้ำในช่องฟรีซ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีพิมพ์หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบสแตนเลสหรือแบบซิลิโคน แช่น้ำแข็งกินเองแบบนี้ จะกินเมื่อไหร่ เท่าไหร่ก็ได้ และยังประหยัดตังได้ด้วย

4. แก้วกระดาษ

ใช้แก้วกระดาษอาจดูเหมือนจะรักษ์โลก แต่จริง ๆ แล้วแก้วกระดาษมีพลาสติกชนิด HDPE เคลือบเอาไว้อยู่เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมออกมา ซึ่งพลาสติกดังกล่าวนี่แหละที่ปล่อยไมโครพลาสติกออกมาเวลาที่เราเอาไปใส่เครื่องดื่มที่ร้อน ๆ ซึ่งงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังบอกอีกด้วยว่า ไม่ได้มีแค่ไมโครพลาสติกที่หลุดออกมานะ ยังมีสารเคมีอีกหลาย ๆ ชนิดอย่าง คลอไรด์ ฟลูออไรด์ ซัลเฟต และไนเตรตละลายออกมาอีกด้วย อีกทั้งการที่แก้วกระดาษมีพลาสติกเคลือบเอาไว้ทำให้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากที่จะแยกพลาสติกออกมาจากกระดาษ สุดท้ายแล้วแก้วชนิดนี้จะถูกหยิบไปรีไซเคิลก็ยากมาก ดังนั้นแล้ว เรามาเลิกใช้แก้วกระดาษกันเถอะ แล้วหันมาพกกระบอกน้ำหรือแก้วพกพาแทน เพื่อทั้งสุขภาพของเราและเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย

5. ถุงชา

สายดื่มชาเป็นนอยเพราะถุงชาที่เราแช่น้ำร้อนดื่มกันเนี่ยทำมาจากพลาสติกนะ! ซึ่งพลาสติกที่ใช้ทำถุงชาดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพลาสติกประเภทพอลิโพรพีลีนหรือ PP บางแบรนด์ยังมีส่วนประกอบของไนลอนอีกด้วย ซึ่งพลาสติกพวกนี้เวลาโดนน้ำร้อนก็เหมือนสิ่งต่าง ๆ ที่เราพูดก่อนหน้าเลยว่ามันปล่อยไมโครพลาสติกออกมา ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ไมโครพลาสติกหรอกที่แตกตัวเมื่อเจอความร้อน ยังมีสารเคมีอันตรายอย่าง ฟลูออรีน อาร์เซนิก อะลูมิเนียม ตะกั่ว ทองแดง และสารพัดสารละลายปนมากับชาของเราด้วย นอกจากนั้น ตัวถุงชานี้ก็ย่อยสลายไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่ได้เช่นกัน ไม่ดีต่อใครเลยจริง ๆ เพราะฉะนั้นชาวเราลองหันมาชงชาแบบต้มกาหรืออาจใช้ที่กรองแบบโลหะแทน จะได้ดื่มชาหอม ๆ แบบโนไมโครพลาสติก

ชีวิตเราทุกวันนี้อยู่ในความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะทำหรือจะกินอะไรเราต้องคิดให้หนักขึ้นเพราะทุกสิ่งที่เราเลือกกินเลือกใช้สุดท้ายมันก็จะย้อนมาหาตัวเราเอง และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ด้วย โดยที่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ 

เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งควรทำอะไรซักอย่างเพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเราเอง อาจถึงเวลาที่เราต้องหันมาลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการเลิกใช้สิ่งของ 5 ข้อข้างต้นแล้ว เรายังสามารถช่วยลดพลาสติกได้หลายช่องทางอย่างเช่น ปฏิเสธไม่รับช้อน ส้อม หลอด สนับสนุนผักผลไม้จากตลาดชุมชนที่ไม่มีซองพลาสติกห่อหุ้ม พกกระเป๋าผ้าหรือภาชนะเวลาไปข้างนอก สั่งอาหารมากินให้น้อยลง เน้นทำกับข้าวเองหรือไปซื้อข้าวที่หน้าร้านแทน รวมถึงสนับสนุนสินค้าที่ Packaging รีไซเคิลได้ 

และที่สำคัญมาก ๆ อย่าหลงเชื่อภาชนะที่ย่อยสลายได้ (Biodegradable) เพราะเจ้าสิ่งนี้ถึงแม้ว่าจะย่อยสลายได้จริง ๆ แต่มันก็ยังใช้เวลานานมาก ๆ อยู่ดี อีกทั้งต้องมีสภาวะที่เหมาะสมต่อการย่อยสลายอย่างอุณภูมิ ความชื้น จุลินทรีย์ด้วย ซึ่งถ้าทิ้งในสภาวะแวดล้อมทั่วไปมันก็จะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกอยู่ดี เท่ากับว่า ก็ไม่ได้ต่างไปจากการใช้พลาสติกทั่วไปเลย เนื่องในเดือน Plastic Free-July นี้ เราก็อยากชวนทุกคนมาลดการใช้พลาสติกไปด้วยกัน เพราะพลังเล็ก ๆ ของพวกเรานี่แหละที่เป็นแรงสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงและปกป้องโลกของเราได้ เพื่อทั้งตัวเรา เพื่อโลก และเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

อ้างอิง

Credit

Natticha Intanan

Related posts

การกินอาหาร Plant-based ช่วยโลกได้อย่างไร

วิจัยมากมายสนับสนุนว่าการทานเนื้อสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน และการหันมาทานผักผลไม้อาจเป็นทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว

เบื้องหลังการจัดพื้นที่คทช. ให้ชาวบ้านทำเกษตรและฟื้นฟูป่าที่เคยทรุดโทรม

พื้นที่ คทช. จัดสรรเพื่อให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้ แต่ต้องฟื้นฟูป่าคืน เพื่อให้ ‘คนก็ไม่ตาย ต้นไม้ก็โต’ เลยต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วย

‘Local Alike’ ธุรกิจท่องเที่ยวที่หยิบวิถีชุมชนมาให้คนไปเรียนรู้มากกว่าเสพย์ความสวยงามให้ตื่นตาตื่นใจ

โจทย์คือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้าใจวิถีชุมชน มากกว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจแล้วจบ