‘Local Alike’ ธุรกิจท่องเที่ยวที่หยิบวิถีชุมชนมาให้คนไปเรียนรู้มากกว่าเสพย์ความสวยงามให้ตื่นตาตื่นใจ

โจทย์คือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้าใจวิถีชุมชน มากกว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจแล้วจบ

คุยกับ ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและผู้เดินทางไปกับ Local Alike แพลตฟอร์มที่ว่าด้วยการท่องเที่ยววิถีชุมชนโดยชุมชน เพื่อปากท้องของชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

Local Alike นั้นเริ่มต้นจากโมเดลธุรกิจแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งจุดเรมต้นแรกนั้นมาจาก ‘การมองเห็นศักยภาพของชุมชน’ ด้วยความที่คุณไผเติบโตและทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับชุมชน จึงทำให้เขาได้เห็นว่าชาวบ้านในแต่ละพื้นที่นั้นมีภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีค่า เพียงแต่พวกเขาขาดองค์ความรู้ที่จะมาช่วยจัดการสิ่งเหล่านั้นให้เกิดมูลค่ามากขึ้น สุดท้ายคนในพื้นที่จึงอาจทำได้เพียงหารายได้จากการเป็นแรงงานหรือเป็นความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเท่านั้น  

ความท้าทายของ Local Alike จึงเป็นการเชื่อมคนทั่วไปเข้ากับชุมชน โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวไทยที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนมากนัก ทำให้ต้องสร้างความเข้าใจในการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้วิถีชีวิตโดยคนในชุมชนก็จะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการกิน-อยู่-เที่ยว-เรียนรู้ ให้กับผู้คนที่เข้ามาได้เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนด้วย

สุดท้าย การท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเช่นนี้ก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้มากกว่าการคำนึงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ก็จะเดินควบคู่กันไปโดยที่ผู้คนมีกินมีใช้และทรัพยากรในพื้นที่ก็ยังไม่เสื่อมโทรม

จุดเริ่มต้นของ Local Alike ในวันที่สังคมไทยที่ไม่คุ้นชินกับการท่องเที่ยววิถีชุมชน 

เมื่อถามถึงเส้นทางของ Local Alike โดยย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปี ก่อนนั้น คุณไผเล่าให้ฟังว่า ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ สำหรับแวดวงวิชาการ มหาวิทยาลัย หรือองค์กรเอ็นจีโอนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ การทำงานร่วมกับชุมชนนั้นเป็นเรื่องที่พบเจอได้อยู่แล้ว แต่สำหรับการนำมาใช้เป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างรายได้อย่างจริงจังนั้นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่มาก การท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นเป็นที่รู้จักในนามการทำกิจกรรม CSR หรือการทำกิจกรรมเอาท์ติ้งของบริษัทเสียมากกว่า 

ซึ่งในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวไทยนั้นเป็นโจทย์ที่ Local Alike ต้องทำการบ้านหนัก เพราะคนส่วนใหญ่แทบไม่เข้าใจว่าการท่องเที่ยวในชุมชนนั้นเที่ยวอย่างไร เที่ยวอะไร ถ้าจะไปต้องติดต่อใคร หรือคุณค่าที่จะได้รับกลับมาคืออะไร ซึ่งต่างจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คุ้นเคยกับการท่องเที่ยวแบบนี้อยู่แล้ว 

ดังนั้น ความท้าทายหลักคือการเชื่อมกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยกระแสหลักเข้ากับชุมชนให้ได้ เพราะ Local Alike ก็เชื่อว่าถ้าคนไทยยังไม่ยอมมาเที่ยวเอง แล้วจะกล้าไปชวนให้ต่างชาติมาเที่ยวได้ยังไง ในช่วงแรกจึงเริ่มจากการเจาะกลุ่มตลาดองค์กรต่าง ๆ ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบกลุ่ม ไปทำกิจกรรมบ้าง ทำ CSR บ้าง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีและยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเรามาจนปัจจุบัน

ยืดหยุ่นให้มาก ปรับตัวให้ไว จาก Local Alike สู่ Local Aroi & Local Alot

ในฐานะนักธุรกิจเอง คุณไผเล่าว่าต้องเรียนรู้ค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ตอนนั้น Local Alike เจ็บตัวพอสมควร เมื่อก่อนรายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยได้เป็นหลักสิบล้าน แต่พอเจอโควิดไปกลับกลายเป็นศูนย์ 

“ซึ่งสุดท้ายมันไม่เหลือเวลามาให้เรามานั่งทุกข์ใจหรอก ต้องปรับตัวให้ไว เพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้”

จากวิกฤตครั้งนั้นจึงทำให้ Local Alike ปรับตัวได้มากขึ้น ขยายธุรกิจให้หลากหลายขึ้น จึงเกิดเป็น Local Aroi ที่จำหน่ายอาหารจากชุมชน และ Local Alot ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากชาวบ้านในชุมชน โดยสุดท้ายแล้วสองอย่างนี้ก็ยังอยู่ในแก่นของธุรกิจ Local Alike อยู่ดี คือการ ‘ทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น’ อยู่ดี

ในขณะเดียวกัน นอกจากการทำเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว อีกขาหนึ่งของ Local Alike ก็รับเป็นที่ปรึกษาเรื่องการพัฒนาชุมชนให้กับบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย เช่น หน่วยงานภาครัฐติดต่อให้งบประมาณในการเบิกทางชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ชุมชนแทบจะไม่ต้องเสียงบประมาณใดเลย เพียงแต่เขาจะต้องเสียเวลามาร่วมลงแรงพัฒนากับเราเท่านั้นเอง

ธุรกิจจะเดินไปได้ ต้องขับเคลื่อนด้วยความชอบและปากท้อง

“สิ่งหนึ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจไม่ว่าประเภทไหนก็คือ การที่เราจะต้องเข้าใจว่าปัญหาที่เราต้องการจะแก้คืออะไร” เพราะไม่ว่าจะด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมก็ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ซึ่งหนทางแก้ไขปัญหานั้นก็ต้องเป็นหนทางที่สามารถสร้างรายได้ เลี้ยงปากท้องเราได้ด้วยถึงจะยั่งยืน แม้หลายคนอาจจะบอกว่าความรักความชอบ (Passion) เป็นสิ่งที่ทำให้เราขับเคลื่อนหลาย ๆ อย่างได้ แต่ท้ายที่สุด ถ้าด้านธุรกิจไม่ก้าวหน้าควบคู่กันไปก็ไม่อาจทำให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วงอย่างที่ตั้งใจไว้ได้

อย่างการสื่อสารกับชุมชนเองก็ต้องมาหาตรงกลางกันเหมือนกันว่าชาวบ้านปรับได้แค่ไหน สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ขนาดไหนเพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของเขาจนเกินไป รวมถึงเรื่องรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยกระแสหลักก็อาจจะน้อยลงกว่ากลุ่มอื่น เพราะตัวเลือกแหล่งที่เที่ยวเขาเยอะ การท่องเที่ยวในชุมชนจึงไม่สามารถตั้งราคาที่สูงมากได้ ซึ่งชาวบ้านก็ต้องมาทำความเข้าใจและหาจุดตรงกลางร่วมกัน

เรื่องราวของ Local Alike ที่อยากส่งต่อ

เริ่มด้วยเรื่องที่ประทับใจที่สุดหรือสิ่งที่อยากบอกต่อ?

คุณไผตอบอย่างไม่ลังเลว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือการที่เราได้เห็นว่าชุมชนแข็งแรงขึ้น จากวันที่ชุมชนไม่มีรายได้เลยสู่วันที่มีรายได้หลักล้าน วันที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวของชุมชนที่เข้มแข็งมากขึ้น วันที่ได้เห็นว่าพวกเขามีระบบการจัดการขยะหรือดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองอย่างเป็นระบบซึ่งสามารถนำไปสู่ความยั่งยืนได้จริง ๆ 

รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนที่เป็นพื้นที่สีเทา เช่น ชุมชนในภาคเหนือที่เคยเป็นเส้นทางลำเรียงยาเสพติดจนในปัจจุบันปัญหานั้นหายไป เพราะพื้นที่ได้รับแสงสว่างมากขึ้น หรือในพื้นที่ ‘สลัมคลองเตย’ ที่สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้พวกเขาได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าถ้าคนเรามีศักยภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากพวกเขาได้รับโอกาส ก็สามารถพัฒนาและเติบโตได้

อยากฝากอะไรในฐานะเพื่อนนักท่องเที่ยวด้วยกัน?

ก่อนจบบทสนทนา สิ่งหนึ่งที่คุณไผอยากฝากคือมุมมองการท่องเที่ยวที่อยากให้หลายคนลองเปิดใจ เพราะในทุกการท่องเที่ยวนั้นมีเรื่องราว ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้จากทุกความสัมพันธ์ที่เราเจอระหว่างการเดินทางและการพบปะผู้คน เมื่อก่อนเราอาจเที่ยวแค่วัด แต่เมื่อเราลองหันมาใส่ใจชุมชนข้างวัด เราก็จะได้เห็นความสำคัญแบบองค์รวมที่ก่อให้เกิดเป็นย่านนั้นขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อเราเข้าใจ เห็นคุณค่าแล้ว ในทุกการสนับสนุนหรือใช้จ่ายก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและกระจายสู่ชุมชนมากขึ้น

ขอบคุณภาพ: Local Alike

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

เหนื่อยนัก ให้ธรรมชาติฮีลใจ

ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

ให้เสียงจากธรรมชาติบำบัดใจ กับ นท-พนายางกูร

อัลบั้มใหม่ที่ว่าด้วยความเข้าใจชีวิต โดยมีธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า

สิ่งแวดล้อมกับ “การมูเตลู” มูผิด ชีวิตเปลี่ยน โลกเปลี่ยน

เมื่อการ ‘มูเตลู’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่สามารถสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว