ไม่คิดว่ามาเที่ยวทะเลแล้วจะได้ทุกอย่างแบบนี้ ทั้งได้พักผ่อนในป่า สำรวจต้นไม้ รู้จักระบบนิเวศ ส่องสัตว์ตอนกลางคืน และสูดอากาศบริสุทธิ์จนทำให้ความเหนื่อยล้าที่เกาะมาจากกรุงเทพฯ หายเกลี้ยงไปเลย
วันนี้เราจะพาทุกไปเที่ยวที่พักที่ไม่เหมือนใครจริง ๆ ในเขาหลัก จ.พังงา ที่พักนี้มีชื่อว่า ‘เขาหลักเมอร์ลิน’ รีสอร์ตติดทะเลแต่เหมือนอยู่ในป่าฝนเขตร้อนที่มีต้นไม้เต็มไปหมด แถมยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติมากมายให้เลือกทำ และที่ว้าวที่สุดก็คือมี “นักชีววิทยา” เป็นของตัวเองด้วย!
เอาจริง ๆ ในตอนแรกตัวเราเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะเวลาพูดถึงรีสอร์ตหรือที่พักติดทะเลแล้ว เราคิดว่ามันคงเป็นเหมือนรีสอร์ตอื่นทั่ว ๆ ไป ที่จัดสภาพแวดล้อมให้สวยงาม และในมุมสิ่งแวดล้อม คงมีแค่ระบบการจัดการขยะที่อยากนำเสนอเท่านั้น แต่เมื่อไปถึงเห็นจริง ๆ ภาพทุกอย่างกลับเกินไปกว่าที่คิดมาก
รีสอร์ตแห่งนี้ให้ความสำคัญกับธรรมชาติแบบจริงจัง มีการรักษาและอนุรักษ์พืชพรรณสายพันธุ์พื้นเมืองเอาไว้ ส่งผลให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดนั่นก็คือสัตว์หายากใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุข จนกลายเป็นดาวเด่นของที่พักที่ ๆ ทุกอยากจะเข้ามาเห็น แต่เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความไม่ได้ตั้งใจ
“มันเป็นความคิดที่อาก๋องรู้สึกเสียดาย ว่าต้นไม้เค้าโตมาตั้งนานไม่รู้กี่ปีกว่าจะได้ต้นใหญ่ขนาดนี้ เราไม่อยากจะไปตัดเค้า” คุณชานน วงศ์สัตยนนท์ หรือคุณแชมป์ทายาทรุ่นที่ 3 ของรีสอร์ตเล่าให้เราฟัง
ด้วยความคิดของอาก๋องทำให้ครอบครัวพยายามรักษาต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้วให้ได้มากที่สุด ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวจะยังคงมีต้นไม้พืชพรรณ ‘ท้องถิ่น’ เดิมอยู่ ต่างจากรีสอร์ตอื่น ๆ บางที่ ที่นำเอาต้นไม้ชนิดอื่น ๆ นอกพื้นที่เข้ามา โดยเน้นตกแต่งให้เพียงสวยงาม แต่อาจไม่ได้ตอบโจทย์ระบบนิเวศในพื้นที่นั้น
สิ่งนี้ส่งผลต่อเนื่องไปก็คือ เมื่อมีพืชท้องถิ่น สัตว์ท้องถิ่นก็จะยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวได้อยู่ นั่นทำให้พวกเขายังคงมีอาหาร ‘แบบเดิม ๆ’ ที่เคยกินและยังมีต้นไม้หรือพืชพรรณเดิม ๆ ที่พวกเค้าคุ้นเคยอยู่ ซึ่งมีทั้งนกหายาก (เคยมีเหยี่ยวแดงมาทำรังด้วย) มีตัวเงินตัวทอง และค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน
และดาวเด่นที่สุดคือ ‘นางอาย’ (Slow Loris) ที่คุณมนสิชา หวังธงชัยเจริญ หรือคุณหมิว นักชีววิทยาประจำรีสอร์ตผู้ชื่นชอบการเล่นบอร์ดเกม และผู้เชี่ยวชาญด้านค้างคาว บอกว่าที่เขาหลักเมอร์ลินมีนางอายอยู่ทั้งหมด 4 ตัว เป็นครอบครัวเดียวกัน – พ่อ แม่ ลูก – ทางคุณแชมป์แอบกระซิบบอกว่าเดี๋ยวอีกไม่นานจะมีการประกวดตั้งชื่อให้กับนางอายครอบครัวนี้
ไม่เพียงเท่านั้น คุณแชมป์เล่ากับเราว่ายังได้ไปปรึกษากับทางมูลนิธิ Big Tree ให้เขามาช่วยตรวจสอบต้นไม้เป็นประจำด้วย ว่าแต่ละต้นมีสุขภาพเป็นยังไงหรือหากมีปัญหาจะได้จัดการให้ถูกวิธี ขณะเดียวกันก็ได้ทำการวิจัยร่วมกับมูลนิธิ Love Wildlife ด้วย ซึ่งเป็นผู้ทำป้ายข้อมูลสัตว์อย่างที่เราเห็นในรูป
นอกจากจะดูแลรักษาสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ที่รีสอร์ตเองก็ยังมีระบบจัดการน้ำแบบปิดเป็นของตัวเอง น้ำเสียจากห้องพักจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยจุลินทรีย์ ผ่านถังเก็บอีกมาก แล้วท้ายที่สุดก็ออกมาเป็นน้ำที่สะอาดตามมาตรฐาน ซึ่งน้ำนี้จะนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ทั้งหมดในรีสอร์ต (ซึ่งประหยัดทรัพยากรน้ำและค่าน้ำไปได้มาก)
ส่วนที่ว้าวต่อไปก็คือการแยกขยะ เราได้ไปดูส่วนแยกขยะซึ่งแยกกันเป็นจริงเป็นจังทั้งขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ เฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ และเศษอาหาร โดยจะมีคนรับซื้อไป ในขณะที่เศษอาหารก็ไปหมักเป็นปุ๋ยมาดูแลต้นไม้
ของเสียหรืออะไรที่เป็นขยะ สำหรับที่นี่แล้ว กลับมีคุณค่าอย่างมาก แทบจะไม่มีอะไรที่ปล่อยให่เสียเปล่าเลย เขาหาทางเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ เมื่อนึกถึงสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกผลิตและถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก
เขาหลักเมอร์ลิน เลือกวิธีการในหลาย ๆ ส่วนที่อาจจะดูไม่สะดวกสบายสำหรับการจัดการ แต่ทว่าสิ่งที่เลือกคือสิ่งที่ดีต่อธรรมชาติมากกว่า และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รีสอร์ตแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อน และได้สัมผัสกับความสวยงามจากธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งสำหรับเราแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ
รีชาร์จพลัง ด้วยต้นไม้ แสงแดด และเสียงคลื่น
เมื่อเราเดินเข้ามาในเขตที่พัก เราเองก็ไม่คิดว่าจะมีต้นไม้เยอะขนาดนี้ทั้งหมดเป็นพันธ์ุไม้ท้องถิ่นที่รู้สึกแตกต่างจากที่พักอื่น ๆ ที่เราเคยสัมผัส คุณแชมป์เล่าว่าบางต้นน่าจะอยู่มาหลายสิบปีแล้วและบางต้นก็สูงมาก (แบบสูงมากจริง ๆ)
เราเชื่อว่าหากเพื่อน ๆ ได้เดินเข้าไปแล้วจะรู้สึกถึงความแตกต่างจากด้านนอก เหมือนเป็นโลกอีกใบที่เป็นป่าฝนติดทะเล ได้ยินเสียงคลื่นและมีลมพัดตลอดเวลา ที่สำคัญก็คือแทบไม่มียุงเลย เราไม่โดนยุงกัดสักตัว ซึ่งในพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะขนาดนี้แถมช่วงนี้ก็ฝนตกด้วยกลับไม่มียุงมากวนใจ
เหตุผลก็เพราะที่นี่ยังมีความเป็นระบบนิเวศแบบท้องถิ่นซึ่งมี ‘แมลงปอ’ สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีประโยชน์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือ พวกมันกินยุง ทั้งตอนที่เป็นลูกน้ำและตอนตัวเป็น ๆ (ตอนที่เราเดินรอบรีสอร์ตก็เจอแมลงปอหลายตัว) เป็นการให้ธรรมชาติจัดการกันเองเสริมด้วยการพ่นยากันยุงเป็นระยะ
โดยรวมแล้วเป็นบรรยากาศที่ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลย ทั้งท้องฟ้าที่สดใส เสียงคลื่น น้ำทะเลสีฟ้า มีลมอยู่ตลอด แถมยังมีต้นไม้อีกเพียบ เรียกได้ว่าหายใจเข้าไปได้เต็มปอดจริง ๆ
อยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องรู้จักกับธรรมชาติ
หากใครได้มีโอกาสมาที่เขาหลักเมอร์ลินนี้ จะพบเจอกับบอร์ดสีเขียว ๆ มีตัวอักษรและภาพแปะ ตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ มันคือบอร์ดที่ให้เกล็ดความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่รีสอร์ต แนะนำว่าในรีสอร์ตมีสัตว์น้อยเล็กใหญ่อะไรอาศัยอยู่บ้าง
เมื่อเรามาอาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็คงจะดีถ้าเราได้รู้จักกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เพราะการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ ก็คงจะมีวิถีแนวทางที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในพื้นที่นั้น ๆ
การจะดูแลธรรมชาติให้ยังคงอยู่และอุดมสมบูรณ์ มีความยากและท้าทาย คุณแชมป์ ก็ได้บอกกับเราตรง ๆ ว่า เขาและรีสอร์ตเองยังไม่มีความรู้ที่เพียงพอ จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเขาเองก็ได้ขอคำปรึกษาในการดูแลรักษาต้นไม้จากมูลนิธิที่มีชื่อว่า Big Tree
และทุกคนรู้หรือไม่ว่าทาง Big Tree เองก็ให้คำปรึกษาเรื่องการตัดแต่งดูแลต้นไม้กับทาง กทม. ด้วยเช่นกัน Big Tree ได้เข้ามาสำรวจแล้วก็พบว่าที่รีสอร์ตมีต้นไม้มากถึง 276 ต้นโดยมีถึง 42 สายพันธุ์ เลยทีเดียว
ในส่วนของสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบรีสอร์ต ก็ได้ทางมูลนิธิ Love Wildlife มาช่วยให้ความรู้และดูแล เรื่องประหลาดใจก็คือทางคุณแชมป์เล่าว่าในตอนแรกทางรีสอร์ตไม่คิดว่าจะมีสัตว์มากขนาดนี้ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีนางอายซึ่งเป็นสัตว์ที่หายากมาก ๆ เข้ามาอยู่อาศัย เรื่องก็คือมีอยู่วันหนึ่ง แขกที่เข้าพักได้แจ้งมาทางรีสอร์ตว่าเจอสัตว์ตัวหนึ่งมาอยู่ที่หน้าต่างห้องพัก พร้อมกับยื่นรูปให้ดู ใช่แล้ว รูปนั้นก็คือนางอายนั่นเอง
ทางเขาหลักเมอร์ลินเลยแจ้งไปทาง Love Wildlife ว่าเรามีนางอายอยู่นะ อยากให้ช่วยมาตรวจสอบ “ตอนแรก Love Wildlife ไม่เชื่อ รีสอร์ตเนี่ยนะจะมีนางอายอยู่” คุณแชมป์เล่า ก็ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่เพราะถ้าพูดถึงรีสอร์ตทั่ว ๆ ไป ทุกคนก็คงนึกไม่ออกเหมือนกัน
แต่พอ Love Wildlife มาตรวจสอบก็พบว่าเป็นนางอายจริง ๆ โดยอยู่กันเป็นครอบครัว 4 ตัวสุดน่ารัก (จะมีการประกวดตั้งชื่อเร็ว ๆ นี้) ตั้งแต่นั้นมาเขาหลักเมอร์ลินเลยกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่รวบรวมเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับนางอาย โดยหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ได้ ซึ่งเราเห็นก็ชื่นใจ
เล่นบอร์ดเกม เดินไนท์วอล์ค ส่องนางอาย
เอาจริง ๆ เหมือนไม่ได้มาเที่ยวรีสอร์ต แต่เหมือนมาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติมากกว่า ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกและประทับใจมาก และด้วยความที่บรรยากาศมันได้ เราจึงแทบไม่ต้องออกจากรีสอร์ตไปไหน ก็หากิจกรรมทำในรีสอร์ตเนี่ยแหละ
ที่รีสอร์ตจะมีกำหนดการกิจกรรมตลอดทั้งวัน แต่ที่เป็นไฮไลท์อยากจะแนะนำทุกคนให้ลองไป ก็คือกิจกรรม ไนท์วอล์ค สำรวจสัตว์ตอนกลางคืน นำขบวน โดยคุณหมิว นักชีววิทยาประจำรีสอร์ตที่ชื่นชอบการเล่นบอร์ดเกม (เราชวนเล่นเกม Wingspan คุณหมิวบ่นว่าตั้งแต่ซื้อมามีแขกมาเล่นแค่ 2 ครั้งเอง แถมยังไม่ชวนคุณหมิวเล่นด้วย ทำเอาเราหัวเราะเลย) อีกวงเล็บ (ที่นี่มีบอร์ดเกมเยอะมาก)
ตัดกลับมาที่ไนท์วอล์ค คุณหมิวจะมอบไฟสีแดงให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ที่เป็นสีแดงเพราะว่ามันจะเป็นมิตรต่อสัตว์ต่าง ๆ มากกว่า หากเป็นสีขาวสัตว์จะแสบตา แจกอาวุธเสร็จแล้วคุณหมิวก็จะพาเดินรอบรีสอร์ต คอยแนะนำสัตว์ต่างๆ ที่เจอ ไม่ว่าจะเป็นหอย กบ และแมลงชนิดต่างๆ เราได้เจอสัตว์เยอะมาก น่ารัก ๆ ทั้งนั้น และจุดไฮไลท์ของการเดินสำรวจคือการส่องหานางอาย ที่ไม่ได้อายเพียงแค่ชื่อ ตัวจริงก็อายเหมือนกัน ใครที่มาส่องนางอายเหมือนเป็นการมาลุ้นโชค มาวัดว่าดวงตัวเองดีขนาดไหน ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เจอกับนางอาย เพราะบางช่วงน้องก็ออกมาให้เห็น บางช่วงก็แอบนอนกินอาหารอย่างสบายใจโดยไม่ให้ใครมารบกวน เรามีรูปมาฝาก แต่ใครอยากเห็นตัวเป็นมาสำรวจโชคของตัวเองได้ที่นี่เลย
สำรวจต้นไม้ประจำปี
อีกตารางงานประจำของทางรีสอร์ตที่เราโชคดีได้เข้าร่วมก็คือ การสำรวจต้นไม้ประจำปี โดยจะเป็นการตรวจสอบต้นไม้ของทางรีสอร์ตร่วมกับตัวแทนจากมูลนิธิ Big Tree เพื่อมาช่วยดูต้นพืชที่ทางคนดูแลสวนของทางรีสอร์ตรู้สึกว่าอาจมีปัญหาเช่น ผุ ใกล้ล้ม หรือป่วยไม่สบาย พร้อมกับได้บันทึกข้อมูลชนิดพันธุ์ลงไปทางในฐานข้อมูลที่ชื่อว่า Tree Plotter ซึ่งจะเป็นภาพถ่ายจากมุมมองด้านบนของพื้นที่ทั้งรีสอร์ต จากนั้นเจ้าหน้าที่จะระบุตำแหน่งลงไปว่าตรงจุดนี้มีต้นอะไรอยู่บ้าง
โดยในครั้งนี้เราได้ติดสอยห้อยตาม ‘คุณฟาง’ รุกขกร (หรือหมอต้นไม้) จาก Big Tree เดินสำรวจกับทางผู้ดูแลสวนพร้อมกับเจ้าหน้าที่อีกหลายฝ่ายรวมถึงคุณแชมป์ด้วย เพราะหากมีอะไรต้องตัดสินใจก็จะสามารถตัดสินใจได้ทันที อย่างกรณีหนึ่งที่เราได้พบ คือ มีต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งถ้ามองจากภายนอกก็ยังตั้งตรงปกติ ด้านบนก็ยังดูมีใบไม้ที่เขียวชะอุ่ม แต่เมื่อคุณฟางเข้าไปตรวจสอบก็บอกกลับมาว่า จำเป็นต้องโค่นต้นนี้ลง เนื่องจากต้นนี้เป็นต้นที่ตายแล้วเพราะด้านในผุหมด แล้วคุณฟางก็ยังชี้ไปยัง ‘เห็ดหลินจือ’ ที่ขึ้นตามโคนต้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าต้นนี้ไม่รอดแล้ว แนะนำให้โค่น เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้แล้ว มันอาจจะล้มเองได้
การดูแลต้นไม้อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดูแลต้นไม้ให้อยู่ร่วมกับสิ่งก่อสร้างก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน บางครั้งเราจะเจอต้นไม้อีกต้นที่รากของมันทำให้พื้นเริ่มแตก ถ้าเจอแบบนี้คุณฟางก็ให้คำปรึกษาว่าการจัดการมีอยู่ไม่กี่ทางคือโค่นต้นไม้ ซ่อมไปเรื่อย ๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนพื้นให้ยกสูงขึ้นเพื่อให้รากของต้นดังกล่าวอยู่สบายขึ้น
พอได้เดินสำรวจไปเรื่อย ๆ คุณฟางได้ให้ข้อมูลที่เยอะมากจนทำเอาเราทึ่งไปตามว่าต้นไม้นั้นมีดีเทลเยอะสุด ๆ น่าเสียดายที่งานนี้เป็นการสำรวจภายในไม่ได้เปิดให้แขกเข้าร่วมด้วยซึ่งทางเราคิดว่าน่าจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแน่นอน
จัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย อนุบาลต้นไม้
ในช่วงวันสุดท้ายของการเข้าพัก หลังจากได้ทำกิจกรรม หรือได้เห็นสิ่งที่เราเรียกว่าหน้าบ้านของรีสอร์ตไปแล้ว ทางคุณแชมป์ก็พาเราไปสำรวจหลังบ้านของรีสอร์ตบ้าง ที่เราจะทำให้เราได้เห็นในด้านการจัดการกับขยะและของเสีย รวมถึงสถานที่อนุบาลต้นไม้ด้วย โดยเขาจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลต้นไม้โดยเฉพาะเพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างแข็งแรง
สิ่งที่ว้าวก็คือ การนำเศษอาหารและใบไม้แห้งจากที่รีสอร์ตมาทำเป็นปุ๋ยของตัวเอง แต่ที่น่าประทับใจที่สุดก็คือสูตรการทำปุ๋ยดังกล่าวมาจากคุณแม่บ้าน (เกษียณแล้ว) ที่คิดค้นขึ้นเองผ่านการลองผิดลองถูก โดยเกิดจากการไม่อยากให้ของเสียไปเปล่า ๆ
สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือคุณแชมป์เห็นถึงคุณค่าของการลองผิดลองถูกนี้ และให้การสนับสนุนจึงเกิดเป็นประโยชน์อย่างที่เราเห็น เอาจริง ๆ ถ้าผู้บริหารไม่ได้เห็นถึงความสำคัญนี้ ทางรีสอร์ตก็คงต้องทิ้งเศษอาหารไปเปล่า ๆ และซื้อปุ๋ยจากภายนอกมาดูแลต้นไม้
นอกจากปุ๋ยแล้ว ทางรีสอร์ตยังมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตัวเอง อย่างที่เราเห็นไปตอนข้างต้นว่าเขาหลักเมอร์ลินมีต้นไม้เยอะมาก ซึ่งหมายความว่าต้องใช้น้ำในการดูแลเยอะมาก แต่ด้วยระบบบำบัดน้ำเสียนี้ทำให้ทางรีสอร์ตสามารถใช้น้ำที่สะอาดมารดต้นไม้ทั้งหมดแทนได้
ขณะเดียวกันก็มีการคัดแยกขยะที่เกิดขึ้นภายในที่พักรวมถึงเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ ที่เป็นไม้ซึ่งเอาไปย่อยและทำเป็นอย่างอื่นได้ต่อ เรียกได้ว่าแทบไม่มีอะไรเสียเปล่าเลย