ย้อนกลับไปช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม การสร้างเขื่อนเริ่มเป็นที่นิยมเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นของมนุษย์และเพื่อตอบสนองการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
สำหรับในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขื่อนได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นพิเศษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ด้วยปัจจัยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาลงทุนในลาว และกระแสทั่วโลกที่มีการผลิตพลังงานจากน้ำ (Hydropower)
ประเทศไทยเริ่มลงหลักปักฐานเขื่อนในยุคสงครามเย็น เมื่อปี 2500 เป็นต้นมา โดยไทยมีเขื่อนแห่งแรกคือ “เขื่อนภูมิพล” ที่เปิดใช้เมื่อ พ.ศ.2507 เพื่อเป็นเขื่อนอเนกประสงค์และมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ํา และมีเขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนสุดท้ายที่ถูกสร้างในประเทศเมื่อปี 2536 แต่หลังจากนั้นก็มีการหันไปเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนลาวมากขึ้น
ด้วยแนวโน้มการตระหนักถึงปัญหามลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงหลังยุคสงครามเย็น ทำให้ทั่วโลกเริ่มมองหาพลังงานทางเลือก โดย ‘พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน’ ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ ก่อนที่จะถูกนำกลับมาตั้งคำถามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและการรื้อถอนไปหลายร้อยโครงการทั่วโลกถึงความได้ไม่คุ้มเสียที่ต้องแลกกับการพังทลายของระบบนิเวศและวิถีชีวิตของผู้คน

เขื่อนผลิตไฟฟ้า ในนามของพลังงานสะอาด ?
ข้อหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ การนิยามคำว่า “พลังงานสะอาด” ในโลกปัจจุบันที่หมายรวมการผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ํา โดยเฉพาะในแผน PDP หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุดของไทย แต่หากมองไปถึงกระบวนการการสร้างเขื่อนจะพบว่า การเกิดขึ้นของเขื่อนสักเขื่อนนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก
นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสร้างเขื่อนยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทน อันเป็นก๊าซเร่งสภาวะโลกร้อนที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงแต่พลังทำลายที่รุนแรงกว่า อย่างในภาวะย่อยสลายพืชและวัสดุอินทรีย์ที่จมน้ำในพื้นที่เขื่อนที่ถูกน้ำแทนที่เข้ามาพื้นที่ธรรมชาตินั้น เมื่อใต้น้ำมีสภาวะออกซิเจนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้กระบวนการย่อยสลายนั้นปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ซึ่งการปล่อยก๊าซมีเทนจากอ่างเก็บน้ำส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า และการปล่อยก๊าซมีเทนจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของการปล่อยก๊าซมีเทนโดยมนุษย์
“ธรรมชาติที่พัง คือต้นทุนจากเขื่อนที่ต้องจ่าย”
ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนให้เราได้เห็น พร้อมตั้งคำถามว่า “เราจะเรียกพลังงานเหล่านี้ว่าเป็นพลังงานสะอาดได้หรือไม่ หากมันต้องแลกมาด้วยการสูญเสียธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน?”
“เขื่อนถูกสร้างบนพื้นที่ป่า และระบบนิเวศมันคือต้นทุนหนึ่งในการสร้างเขื่อน เขาเอาแต่บอกว่าพลังงานน้ำไม่มีต้นทุน มีแค่ก้อนหิน คอนกรีต แรงงาน น้ำ แต่เขาไม่ได้นับต้นทุนด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ต้นทุนในแม่น้ำ เช่น คน ปลา สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตต่าง ๆ เลย มันคือสิ่งที่มีมูลค่า มีคุณค่าต่อระบบนิเวศและชุมชนริมโขงที่มีคนอาศัยแม่น้ำอีกกว่า 65 ล้านคนริมแม่น้ำสายนานาชาติแห่งนี้
การกั้นเขื่อนครั้งหนึ่ง แม้จะไม่ว่าจะห่างไปสักกี่กิโลเมตร แต่มันก็ส่งผลกับประชาชนท้ายน้ำ อย่างล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา เขื่อนในประเทศจีนระบายน้ำมาตลอด ซึ่งมันก็มากระทบคนที่อุบลราชธานีที่อยู่ห่างเขามา เป็นสองพันกิโลเมตร ปลูกที่ผักโดนท่วมหมด นกที่อพยพมาในฤดูแล้งที่ควรจะมาวางไข่ที่หาดทรายแม่น้ำโขงก็ไม่รู้จะรอดและฟักต่อได้ไหม เพราะไข่บนหาดโดนน้ำท่วมหมด ซึ่งนี่แค่เขื่อนจีนยังไม่รวมเขื่อนในลาวที่มีอยู่อีก
สิ่งที่ตามมาคือระบบนิเวศเปลี่ยนไป ระบบน้ำที่เปลี่ยน ตะกอนที่มันไม่ถูกระบายมาตามปกติ ทำให้พืชในน้ำที่เป็นอยู่อาศัยของปลามันเสียหายไปเยอะมาก”

ปัจจุบันแหล่งพลังงานไทยมาจากไหนบ้าง?
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยมากกว่า 40-72% นั้นมาจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซฟอสซิล ก๊าซเหลวแอลเอ็นจี (LNG) ซึ่งถูกนับเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รองลงมายังคงมี ‘พลังงานน้ำ’ หนึ่งในแหล่งผลิตไฟฟ้าที่นับเป็นพลังงานสะอาดลำดับสำคัญต้น ๆ และไทยยังคงต้องพึ่งพาการซื้อจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว
สันติชัย อาภรณ์ศรี ผู้ประสานงาน JustPow ตั้งคำถามถึงการจัดหาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวของรัฐไทยว่า “หากเรามองว่าพลังงานน้ำเป็นพลังงานที่ถูก แต่เหตุใดรัฐถึงไม่ต่อสัญญากับเขื่อนเดิมที่เราเคยทำสัญญาด้วย แต่กลับเลือกลงทุนสร้างเขื่อนใหม่กับเอกชน?” ซึ่งการสร้างนั้นอาจหมายถึงค่าไฟที่มีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการลงทุนสร้างเขื่อนที่มีราคาต้องจ่าย และวัสดุ ขั้นตอนการก่อสร้างที่แพงขึ้นตามยุคสมัย รวมไปถึงพื้นที่ธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไป วิถีชีวิตผู้คนที่ต้องสูญหายและอพยพออกจากพื้นที่
จึงเกิดเป็นคำถามว่า การไม่ต่อสัญญากับเขื่อนเดิมและเพิ่มการร่วมลงทุนสร้างเขื่อนใหม่เช่นนี้เป็นไปเพื่อเหตุผลอะไร และจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟที่คนไทยจะต้องจ่ายแพงมากขึ้นด้วยหรือไม่

แผนด้านพลังงานสู่เป้าหมาย NET ZERO ของไทยชัดเจนแค่ไหน?
ภายใต้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ของประเทศไทย และการประกาศจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ที่มีกรอบเวลาชัดเจน แต่ทว่า ข้อน่าสังเกตคือความชัดเจนของทิศทางการใช้พลังงานที่จะปลดระวางการใช้ก๊าซฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดนั้นจะเป็นไปในแนวทางใด
แม้แต่แผน PDP หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยฉบับล่าสุดในปี 2024 ก็พบว่ามีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานในประเทศจากเขื่อนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 15% ซึ่งก็เปรียบเหมือนใบอนุญาตให้ ‘เขื่อน’ ยังคงมีอยู่ต่อไปได้ และอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการอนุมัติโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงได้มากขึ้นด้วย ทั้งที่ เทคโนโลยีในปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกมากมายซึ่งอาจส่งกระทบธรรมชาติและผู้คนน้อยกว่า รวมถึงใช้งบประมาณและระยะเวลาการสร้างที่น้อยกว่า
ในปัจจุบัน เรื่องของการก่อสร้างเขื่อนทั่วโลกกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้งทำให้หลายประเทศมีการรื้อถอนหรือยกเลิกโครงการเขื่อนไป เช่น แผนรื้อถอนเขื่อน 4 แห่งในแม่น้ำ Klamath ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและประชากรปลาแซลมอน รวมถึงการรื้อถอนเขื่อน ฝายชะลอน้ำเกือบ 500 แห่งในยุโรปเมื่อปี 2023 อันเป็นครงการรื้อถอนเขื่อนยุโรป Dam Removal Europe เป็นความร่วมมือระหว่าง 6 องค์กร คือ World Fish Migration Foundation, WWF, the River Trust และ Rewilding Europe
แนวทางการใช้พลังงานของทั่วโลกที่เปลี่ยนไปเป็นโจทย์ให้รัฐบาลไทยต่อจากนี้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างไรให้เป็นธรรม มั่นคง และลดผลกระทบต่อผู้คน สิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด รวมถึงบทบาทของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนที่พึ่งพาอาศัย ‘แม่น้ำโขง’ แม่น้ำสายนานาชาติแห่งนี้
อ้างอิง
https://justpow.co/infographic-fuel-consumption-power-generation/
https://web.facebook.com/photo/?fbid=5340287689432968&set=a.1745027465625693&locale=th_TH
https://web.facebook.com/photo/?fbid=732118435797120&set=a.521543386854627&locale=th_TH