เมื่อปี 2568 วนมา เป็นอันได้ฤกษ์งามยามดี ประเทศไทยประกาศห้ามนำเข้าเศษพลาสติกเป็นที่เรียบร้อย หลังจากได้มีการเรียกร้องคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศนับตั้งแต่ปี 2563 และยืดเยื้อ ผ่อนปรนกันเรื่อยมา
Environman ขอชวนทุกคนมากางแผนที่ขยายความกันดูต่อสักหน่อยว่า ในวันที่ประเทศไทยไม่ใช่ถังขยะโลก ไม่มีการนำเข้าเศษพลาสติกแล้ว จะมีผลดีและผลเสียอย่างไร? แล้วธุรกิจรีไซเคิลจะเดินไปยังไงต่อ หากวัตถุดิบขยะรีไซเคิลนี้มีน้อยลง?
สะอาดประเทศโลกที่หนึ่ง แต่เพิ่มขยะให้ประเทศปลายทาง
คำว่า ‘ถังขยะโลก’ เช่นนี้ เป็นคำเปรียบเปรยของกลุ่มประเทศที่ที่มีรายได้น้อยที่กลายเป็นแหล่งทิ้งเศษขยะส่งออกของประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ประเทศในกลุ่ม OECD ที่ส่งออกขยะมายังกลุ่มประเทศมีรายได้น้อยในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แม้วิธีการเหล่านี้จะส่งผลดีกับประเทศต้นทางที่ทำให้กำจัดขยะได้ง่ายขึ้น ลดจำนวนการฝังกลบและเผาขยะไปได้จำนวนหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว ขยะส่วนนั้นก็จะถูกส่งไปเป็นปัญหาที่ประเทศปลายทาง ซึ่งหากประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือระบบรับมือที่มีประสิทธิภาพมากพอก็อาจกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน
ทั้งนี้ยังมีการตรวจพบว่าการนำเข้าขยะพลาสติกทำให้มีการขยายตัวของโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลพลาสติกมากขึ้น ซึ่งโรงงานจำนวนไม่น้อยเป็นการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจากทุนจีนที่มีการประกอบกิจการโดยผิดกฎหมายและไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

จาก “ลงชื่อ #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก” สู่ “กฎหมายห้ามนำเข้าเศษพลาสติก”
ปัญหานี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของชาติใหญาอย่างจีน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ประเทศจีนได้ยื่นต่อองค์การการค้าโลกว่าจะใช้นโยบาย China’s National Sword หรือการแบนการนำเข้าขยะมูลฝอย 24 ประเภทอย่างเด็ดขาด ในวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป โดยเฉพาะขยะพลาสติกเกรดต่ำและกระดาษที่มีมลพิษเพื่อลดการนำเข้าขยะที่มีคุณภาพต่ำและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ
มีตัวเลขที่ระบุว่าจีนได้เผชิญปัญหากับขยะพลาสติกมากกว่า 8 ล้านเมตริกตันต่อปี และกว่า 76% นี้ถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงพบว่าโรงงานรีไซเคิลกว่า 60% ในประเทศจีนละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จุดประสงค์ของการประกาศใช้นโยบายนี้อย่างเด็ดขาดของจีนจึงเป็นไปเพื่อการลดการนำเข้าพลาสติกคุณภาพต่ำที่ยากต่อการคัดแยกและรีไซเคิล แล้วหันมาปรับปรุงคุณภาพของขยะมูลฝอยภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของนโยบายดาบแห่งชาติ (China’s National Sword)
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อจีนผู้เป็นชาติใหญ่แห่งการรับซื้อขยะเหล่านี้จากหลายชาติทั่วโลกได้ปิดประตูไม่รับซื้อก็ส่งผลให้ราคาขยะทั่วโลกแปรปรวนและขยะจากหลายประเทศใหญ่ไม่มีทางไป ซึ่งปลายทางของเศษขยะเหล่านั้นจึงถูกหันมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน จนทำให้ปริมาณขยะนำเข้าของ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย พุ่งขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์
เหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความไม่พอใจคือเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2561 เมื่อมีการตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์นำเข้ามาที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ข้างในบรรจุเศษพลาสติกกว่า 2 หมื่นตัน ประกอบด้วยทั้งเศษพลาสติกสะอาดและพลาสติกที่สกปรกไม่ได้ผ่านการคัดแยก รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำเข้ามาเผาหลอมทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย ซึ่งจากการขยายผลพบว่า เป็นการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกเข้าไทย โดยอ้างสำแดงสินค้าผิดประเภท ไม่ใช่การนำเข้าพลาสติกตามที่แจ้งขออนุญาต แต่เป็นขยะถุงพลาสติก จากเหตุการณ์นั้นจึงได้มีการขยายผลอื่น ๆ และเข้าตรวจโรงงานจนสั่งปิดโรงงานไป

แต่การเรียกร้องให้ยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกได้ประสบปัญหาและเสียงคัดค้านจากผู้นำเข้าและผู้ประกอบการรีไซเคิลอยู่เรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2564 เกิดกระแสเคลื่อนไหว #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก จาก 72 องค์กรภาคประชาสังคมกระตุ้นให้รัฐบาลไทยเรื่องออกกฏหมายห้ามนำเข้าขยะพลาสติกโดยเด็ดขาด จนในที่สุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามนำเข้าขยะพลาสติกจากการประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพ.ศ. 2567 โดยจะมีผลหลังจากวันที่ 31 ธันวาคมพ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
สถานการณ์พลาสติกไทยในปัจจุบัน
บทความโดย สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ Krungthai COMPASS บน Zoom Business News ระบุข้อมูลว่า ประเทศไทยได้นำเข้าเศษพลาสติกจากญี่ปุ่นมากที่สุดเฉลี่ยราว 33% ของปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาที่ถูกกว่าขยะพลาสติกภายในประเทศประมาณ 2-4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยมักเลือกใช้เศษพลาสติกจากต่างประเทศมากกว่าการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ เช่น โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
สำหรับพลาสติกบริโภคในประเทศ มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยมากถึง 2-2.5 ล้านตัน โดยในปี 2564 ไทยมีปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภค 2.76 ล้านตัน ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้มักถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ เผา หรือเทกองรวมกับขยะอื่นๆ ซึ่งมีเพียงประมาณ 20% หรือราว 5.5 แสนตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ที่เหลืออีก 0.08 ล้านตันตกค้างในสิ่งแวดล้อม และมีปริมาณมากกว่า 2.13 ล้านตันที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์
คำถามต่อมาคือ ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรบ้าง?
จากประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพ.ศ. 2567 ที่ระบุให้เศษพลาสติกภายใต้พิกัดศุลกากรประเภท 39.15 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 ทำให้ไทยต้องมุ่งเตรียมพร้อมระบบการรีไซเคิลในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากพอ และบรรลุเป้าหมายการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศให้มีการรีไซเคิลเศษพลาสติกเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อสัดส่วนการนำเข้าลดลงจึงจำเป็นต้องทรัพยากรภายในประเทศมาทดแทนและทำให้ต้องหันมาจัดการกับขยะพลาสติกภายในประเทศให้มากขึ้น
แต่เมื่อยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกก็ย่อมต้องมีระบบที่ดีรองรับ จึงเกิดเป็นคำถามว่า ‘ตอนนี้เราเอื้อให้เกิดการรีไซเคิลในประเทศได้แค่ไหน?’
นับตั้งแต่ชนิดของพลาสติกที่อาจรีไซเคิลได้บ้างไม่ได้บ้าง รวมถึงการคัดแยกขยะที่หากไม่มีการคัดแยกที่ดีมากพอ ก็อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญนี้กลายเป็นผลเสีย เพราะทรัพยากรพลาสติกสะอาดในวงจรเองก็จะน้อยลงจนส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลสูงขึ้น ผู้ประกอบการทั้งหลายอาจสู้ไม่ไหว และสินค้าทางเลือกเหล่านี้ก็อาจมีราคาสูงขึ้นหรือผลิตได้น้อยลงด้วย
ความท้าทายของไทยเมื่อไร้เศษพลาสติกนำเข้า
ไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดที่รีไซเคิลได้ ชนิดของพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลก็ไม่ใช่ทุกชนิดที่สามารถใช้ได้ พลาสติกที่เป็นที่นิยมและถูกรับไปรีไซเคิลบ่อย ๆ คือ PET (Polyethylene Terephthalate) เช่น ขวดน้ำดื่มทั้งหลายที่สามารถนำไปบดและหลอมใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้, พลาสติก HDPE (High-density Polyethylene) ที่มีลักษณะทึบ หนา ทนทาน เช่น ขวดนม ขวดแชมพู ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สามารถรีไซเคิลได้ 100% และ PP (Polypropylene) เช่น พวกของใช้ในชีวิตประจำวัน จาน ชาม ตะกร้า ขวดยา และมักนำไปรีไซเคิลเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ได้
แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังคงมีพลาสติกอีกหลายชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแต่ยากต่อการรีไซเคิล เช่น
– พลาสติก PS (Polystyrene) ที่ใช้ผลิตของใช้แล้วทิ้งอย่างช้อนส้อมพลาสติก กล่องใส่อาหารร้อน
– พลาสติก PLA (Polylactic acid) หรือพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่แม้จะเป็นพลาสติกจากพืชแต่ก็ต้องใช้กระบวนการย่อยสลายที่เฉพาะเจาะจง ต้องพึ่งกระบวนการหมักในโรงหมักปุ๋ยอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเฉพาะทั้งเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น ในปัจจุบันก็ยังคงต้องส่งให้กับกลุ่มรับรีไซเคิลเฉพาะทาง
– พลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) เช่น ท่อน้ำประปา สายยางใส หนังเทียม เป็นพลาสติกที่กำจัดและรีไซเคิลยากมาก เนื่องจากมีส่วนผสมของคลอรีนซึ่งเป็นสารแปลกปลอมต่อธรรมชาติและร่างกาย การเผา PVC จะทำให้เกิดสารพิษไดออกซินจำนวนมากที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ทั้งในคนและสัตว์ การลงทุนเรื่องการตรวจจับ รับผิดชอบมลพิษที่ปล่อยในพื้นที่รอบด้านจึงมีต้นทุนสูงมาก ทำให้ไม่ค่อยมีโรงงานที่จะลงทุนกำจัดพลาสติก PVC ด้วยวิธีเตาเผา
ทำให้เห็นว่ายังมีพลาสติกหลายชนิดที่วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน แต่กลับยังไม่มีที่ไปรองรับ โรงงานรีไซเคิลมักรองรับเฉพาะพลาสติกบางชนิด เช่น PET และ PP ส่วนพลาสติกที่มีต้นทุนการรีไซเคิลสูง เช่น PS, PVC หรือ PLA ก็มักโดนปฏิเสธ จึงยังเป็นโจทย์ต่อไปของประเทศไทยว่าจะจัดการกับพลาสติกกลุ่มนี้อย่างไรต่อไป หรือจะมีการประกาศควบคุมประเภทของพลาสติกที่ใช้ได้ให้น้อยลงหรือไม่ เพื่อให้ระบบการรีไซเคิลภายในประเทศเกิดขึ้นจริงได้มากที่สุด และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศให้ลดลงตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
ไม่ใช่ทุกคนที่จะทิ้งได้ ทิ้งดี อย่างที่บอกไปว่าไม่ใช่พลาสติกทุกชนิดที่สามารถรีไซเคิลได้ ดังนั้น จึงควรมีการกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกพลาสติกชนิดหลัก ๆ อย่าง PET, PP และ HDPE ให้เข้าระบบให้ได้มากที่สุด เช่น การเพิ่มจุดรับขยะเหล่านี้ ปัจจุบันเราได้เห็นบทบาทของผู้ประกอบการหลายเจ้าที่พยายามออกนวัตกรรมตู้คืนขวดน้ำ การมีจุดดร็อปรับพลาสติกเพื่อส่งต่อให้โรงงานปลายทาง รวมไปถึงกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ที่เพิ่มแรงจูงใจให้คนนำพลาสติกเหล่านี้มาแลกรางวัลหรือร่วมกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้ผู้คนซึมซับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นเรื่องปกติได้ในที่สุด
อีกทั้งต้องมีการสร้างความเข้าใจในการทิ้งแก้วเครื่องดื่มหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ถูกวิธีเพื่อให้ขยะเหล่านั้นสามารถส่งไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อได้ และลดการปนเปื้อนต่อขยะชนิดอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยการเริ่มต้นจากพฤติกรรมต้นทางอย่างการทำให้ขยะสะอาดก่อนส่งต่อ เช่น การเทน้ำและแยกขยะเศษอาหารออกก่อนที่จะทิ้งลงถังแยก ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการแยกขยะที่ทำให้วัสดุต่าง ๆ ไม่ถูกหยิบไปวนใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เท่าที่ควร

หากประเทศไทยสามารถปรับตัวและพัฒนาระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพได้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงถึงราว 1.2-1.4 แสนล้านบาทต่อปี และหากไทยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก1.55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีเลยทีเดียว
ท้ายที่สุด เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่เคยสำเร็จได้ด้วยการกระทำที่เริ่มจากแค่ตัวเอง หรือเริ่มจากแค่ผู้อื่น เมื่อในวันที่กฎหมายขยับเพดานและเอื้อต่อการจัดการขยะที่ลดผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการที่ผู้บริโภคต้นทางอย่างเรา ๆ ทุกคนจะต้องผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศนี้เกิดขึ้นได้จริง ให้ผู้ประกอบการสามารถพึ่งพาทรัพยากรขยะสะอาดจากในประเทศได้ มีทรัพยากรที่นำไปผลิตสินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลได้มากพอในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้ว ปริมาณขยะก็จะลดลงและการพึ่งพา ถลุงทรัพยากรใหม่ ๆ จากธรรมชาติก็จากลดตามลงไปด้วย
อ้างอิง
https://www.facebook.com/share/p/1DRhq2xR63
https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/
https://ejfoundation.org/resources/downloads/TH-Ban-Plastic-Waste-Import-CSOs-Joint-Statement.pdf