สักวันหนึ่งเราจะไม่มีปลาทูไทยกิน

ปลาทูเป็นอาหารจานคุ้นเคยที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ทุกวันนี้ปลาทูที่เรากินอาจเป็นปลาทูที่อิมพอร์ตเข้ามา เพราะว่าปลาทูไทยกำลังจะหายไปตลอดกาล

ที่จั่วหัวแบบนี้ไม่ได้คลิกเบตนะครับ แต่มันคือความจริงของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แล้วจริง ๆ ไอคำว่า สักวันหนึ่ง ที่ว่า ก็คืออีกแค่ 20-30 ปีต่อจากนี้ จะมองว่าอีกนานก็ไม่ผิด แต่อยากให้ลองนึกดูว่ารุ่นลูกรุ่นหลานอาจจะไม่มีสิทธิได้ริ้มรสปลาทูหน้างอคอหักจากแม่กลองอีกแล้ว อวสานแล้วซึ่งน้ำพริกปลาทู น้องๆ หนู ทำได้มากสุดคืออ่านรีวิวและจินตนาการรสชาติตาม

ปลาทูไทยไม่มี ก็กินปลาทูประเทศอื่น” ถ้าพูดแบบนี้แสดงว่ายังไม่เคยกินปลาทูไทย หรืออาจจะยังไม่รู้ว่า ส่วนใหญ่ที่ขายกันตอนนี้ ก็คือปลาทูอิมพอร์ตเกินครึ่ง และปลาทูไทยก็มีความเนื้อแน่น อร่อยกว่าปลาทูอิมพอร์ตเจ้าไหน ๆ

“ปลาทูไม่มี ก็กินปลาอื่นแทนก็ได้” ใช่ครับ ก็ไม่ผิด หากมองประเด็นนี้เพียงผิวเผิน แต่การที่ปลาทูจะหายไปจากมหาสมุทรนั้น มันส่งคลื่นซึนามิใต้น้ำ เป็นแรงกระเพื่อมที่สะเทือนไปถึงระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ปลาทูไม่ได้มีบทแค่เกิดมาชิล ๆ ว่ายน้ำเล่น รอวันถูกคนจับกินนะครับ มันมีหน้าที่คอยควบคุมประชากรในห่วงโซ่อาหารของพวกมันด้วยเช่นกัน

รายงานจากพูลิตเซอร์ระบุว่า ปลาทูไทยมีขนาดเล็กลง มีพฤติกรรมสืบพันธุ์เปลี่ยนไป เหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง Climate Change ก็ด้วย การทำประมงอย่างไม่บันยะบันยังก็ด้วย รวมถึงการที่เราเอาลูกปลาทูเป็นจำนวนมากมาประกอบอาหารก็มีผลเช่นกัน

(อ่านรายงานจากพูลิตเซอร์เพิ่มเติม https://bit.ly/3KKnoyf)

ไม่นานมานี้ อวรม. ได้รับเกียรติเชิญไปร่วมโต๊ะดินเนอร์ของโครงการ I Miss You ปลาทูไทย ที่นำเสนอเรื่องราวปัญหาของปลาทูไทยผ่านศิลปะและการทำอาหาร ออกแบบโดยพงษ์พันธ์ สุริยภัทร และเชฟเช้า ต่อจันทน์ แคทริน บุณยสิงห์ เจ้าของร้าน Bite Me Softly เลยจะขอเล่าประสบการณ์ให้ฟังสักเล็กน้อยกรุ้มกริ่ม และตีความ (เดา) การจัดแสดงแต่ละอย่างเพื่อเป็นการชื่นชมถึงความสร้างสรรค์ของผู้จัดงานไปในตัว 

ดินเนอร์นี้มีเขียดผู้มีแกก 12 ท่านครับ ผมนั่งตรงกลางระหว่างพี่ท็อปจาก Time Out สื่อด้านไลฟ์สไตล์คนเมือง ที่อยู่ทางขวามือ และซ้ายมือของผมคือ Mister Aidan Jones ผู้สื่อข่าวจาก South China Morning Post ที่อยู่ไทยมา 8 ปี เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ทำเนื้อหาตีแผ่เกี่ยวกับปลาทูไทยที่หายไป (ปล. ที่น่าดีใจคือทั้งคู่เขาบอกว่ารู้จัก อวรม. ด้วยครับ)

เอาล่ะ หรือภาษาอังกฤษว่า Anyway ไม่รู้ว่าเล่าเรื่องผังที่นั่งไปทำไมเหมือนกันครับ แต่เอาล่ะ Anyway มาพูดถึงการจัดแสดงครั้งนี้กันครับ แม้จะเอ็กซ์คลูสีฟขนาดไหน แต่ดินเนอร์นี้เราเสิร์ฟอาหารกันด้วยสายพานครับ และนี่เมสเสจลับอันแรกที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงระบบทุนนิยมแต่บริโภคนิยมที่มองกันเป็นเรื่องปกติครับ สายพานเปรียบเสมือนโรงงานผลิตที่คอยป้อนความต้องการของผู้บริโภควนไปเรื่อย ๆ แต่หารู้ไม่ว่าทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัดครับ

ผ่านไปสักพักหลังได้นั่งลงทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมโต๊ะ อาหารก็ถูกทะยอยมาจัดวางบนสายพาน เป็นออเดิร์ฟเรียกน้ำยั่วน้ำย่อย มี 3 อย่าง คือ ขนมปังหมึกกระเทียม ข้าวเหนียวน้ำพริกแมลง ที่คุณ Aidan Jones บอกว่า “It’s a little bit เผ็ดนะ” และอันสุดท้ายคือ ปลากรอบ นอกจากนั้นก็จะมีฝานึ่งติ่มซำซึ่ง (ไม่แน่ใจว่า) เป็นฮิดเด้นเมสเสจที่สองหรือเปล่า ผมคิดว่ามันจะมีปลาทูอยู่ในนั้นคร้บ แต่หยิบมาเปิดแล้วไม่เจอปลาทู เจอเป็นข้อความว่า “หาง่าย อร่อย เนื้อเยอะ และอุดมไปด้วยโปรตีน … นี่คือเหตุผลที่ปลาทูเป็นอาหารที่อยู่คู่ทุกครัวไทย“ ในใจเราคิดว่า งานนี้ไม่ได้กินแล้วล่ะปลาทู เหลือบไปเห็นชื่อการจัดแสดงอีกเขียนว่า The Vanish Feast : Performative Dinner ซึ่ง Vanish ก็คือหายไป ก็ยิ่งตอกย้ำว่าต้องเป็นอย่างนี้แน่ ๆ 

นับจากเริ่มต้นสงสัยไปประมาณ 228 วิ เมนูอาหารจากหลักก็ถูกนำมาวางลงบนสายพาน ทฤษฎีไม่ได้กินปลาทูในหัวที่ผมยังไม่ทันได้ชวนพี่ข้าง ๆ ท้้งสองสมคบคิด ก็ถูกปัดตกไป เมนูจานหลักถูกห่อมาในใบไม้ครับ (ผมไม่รู้ว่าคือใบอะไร) ‘เอ๊ะ หรือว่า เปิดมาแล้วจะไม่มีปลาทู ?’ คำตอบก็คือมีครับ แต่ … มีแค่บางคนที่ได้ปลาทู และนั่นคือแมสเสจที่สามที่ซ่อนไว้ครับ และเป็นสองขยักด้วย สามจุดหนึ่งที่ไม่มีปลาทูเพราะยูกินลูกปลากันไปแล้วในออเดิร์ฟ ส่งผลให้สามจุดสองคือปลาทูเหลือน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อความการของผู้บริโภค

หันซ้ายไป Mister Aidan Jones เปิดห่อใบไม้ (ผมไม่รู้ว่าคือใบอะไร) แล้วเจอปลาทูครับ ผมก็เช่นเดียวกัน แต่พี่ท็อปขวามือผมเปิดมาไม่เจอปลาทู แต่ปลาทูชื่อก็บอกครับว่าทู คือมีสองตัว ผมก็เลยกดแชร์ปลาทูหนึ่งหน่วยให้พี่ท็อปไปครับ (ทำตัวเป็นพ่อพระจริง ๆ) ลืมบอกไปครับ จานหลักคือเมนูข้าวผัดน้ำพริกกะปิปลาทูไทย ผมรีวิวอาหารไม่เป็น แต่อร่อยมากครับ

กินคาวไม่กินหวานไม่ได้ครับ ปิดท้ายด้วยของหวานทิรามิสุมะม่วงเสาวรส ผมรีวิวของหวานไม่เป็น แต่อร่อยมากครับ ซึ่งเมนูนี้ก็ตบปิดท้ายเมสเสจที่ซ่อนไว้อันสุดท้าย เพราะบางจานไม่มีมะม่วงกับเสาวรสครับ มีแต่เค้ก เพราะต้องการสื่อว่าไม่ใช่แค่ปลาทูที่จะหายไปครับ ตอนนี้มีหลายอย่างที่จะหายไปด้วยเหมือนกัน วัตถุดิบเริ่มหายากขึ้น ผลไม้มาไม่ตรงฤดูกาลบ้าง ไม่เหมือนก่อน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภาพใหญ่จากการบริโภคของมนุษย์

และนี่ก็เป็นอันเสร็จสิ้นมื้อดินเนอร์ Performative Art การหายไปของปลาทูไทยครับ น่าเสียดายและขออภัยที่ผมถ่ายรูปมาน้อยครับ พอดีอีกเมนูนึงที่เขาเสิร์ฟแบบรีฟิลคือ Sparkling Wine ครับ ผมก็เลยซดเพลินไปหน่อย บวกเม้าท์แตกกับพี่ทั้งสองที่นั่งข้างกันครับ

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณพี่ ๆ จาก Once ที่ให้เกียรติชวน อวรม. ตัวน้อย ๆ ไปเปิดประสบการณ์นะครับ รวมถึงขอบคุณทีมผู้จัดงานที่เลือกที่จะสื่อสารประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักให้กว้างมากขึ้นครับ

สุดท้ายขอปิดท้ายบทความอันยาวเหยียดนี้ ด้วยการเชิญชวนทุกคนให้บริโภคอย่างมีสติครับ กินอาหารให้หลากหลายครับ จะได้ไม่เป็นภาระอาหารใดอาหารหนึ่ง และผมว่าคุณธรรมหลังดินเนอร์นี้ที่ผมได้ คือ Don’t Take Anything For Granted ครับ อย่ามองสิ่งต่าง ๆ เป็นของตายครับ สิ่งที่เราเห็นวันนี้ ที่เราได้กิน ได้ใช้ วันพรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ปีหน้ามันอาจจะหายไปไม่เหลืออยู่อีก เหมือนกับปลาทูไทยที่สักวันนึงจะหายไป ถ้าเรายังเป็นเหมือนเดิมครับ

มุมโปรโมทเพื่อนบ้าน

Credit

eci

one of the human behind environman

Related posts

สิ่งแวดล้อมกับ ‘พะยูน’ เพื่อนร่วมโลกที่กำลังจากเราไป 

พะยูนในไทยอาจมีไม่ถึงร้อยตัว และภัยคุกคามของพะยูนคงไม่ได้มีแค่การทำประมงอีกต่อไป

แกะเบื้องหลังบทเพลงของ ‘LANDOKMAI’ ที่อบอวนไปด้วยธรรมชาติและบรรยากาศดี ๆ

เมื่อเคล็ดลับอาจเป็นการช่างสังเกตเอาความธรรมดามาใส่ในบทเพลง

เที่ยวยุโรปด้วย(จักรยาน)ตัวเอง: ทริปที่พกสัมภาระและสร้างมลพิษนิดหน่อย แต่ตักตวงความทรงจำไม่อั้น

79 วัน ผ่าน 9 ประเทศในยุโรป ที่เผชิญโลกกว้าง วิวธรรมชาติหลักล้าน และการเติบโต

ฝีดาษลิง โควิด-19 อาจพบได้แรงและบ่อยขึ้น เพราะโลกรวนและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม? 

70 ปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักไวรัสเหล่านี้ เพราะอะไรถึงทำให้มันกลายเป็นหายนะใหญ่?