Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

No cookies to display.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

No cookies to display.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

No cookies to display.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

No cookies to display.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

No cookies to display.

เสียงคนเชียงรายเมื่อภัยธรรมชาติซัด เขื่อนซ้ำ ทิ้งไว้เพียงอนาคตที่ไม่แน่นอน - EnvironmanEnvironman

เสียงคนเชียงรายเมื่อภัยธรรมชาติซัด เขื่อนซ้ำ ทิ้งไว้เพียงอนาคตที่ไม่แน่นอน

น้ำท่วมจากไปทิ้งไว้เพียงร่องรอยความเสียหายและอนาคตที่ไม่รู้ทิศทางให้คนในพื้นที่

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าวอุทกภัย น้ำท่วมเฉียบพลัน ดินถล่ม ฯลฯ ที่ชาวภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายต้องเผชิญ ความรุนแรงในปีนี้ชวนผู้คนลุกมาตั้งคำถามกันว่า สาเหตุหลักนั้นเป็นเพราะอะไรกัน? ความรุนแรงจากโลกรวน? การปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขง? หรืออะไรอีกนะ? ชวนมาหาคำตอบและทำความเข้าใจจาก “ร่องรอย” ความเสียหายทั้งชีวิตและจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ไปจนถึงวิถีชีวิตบนลุ่มแม่น้ำโขงที่หายไปและถูกทิ้งไว้เพียงแต่อนาคตที่ ‘ไม่แน่นอน’ ของชาวบ้านในพื้นที่

เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายในช่วงที่ผ่านมา  แม้จะมีปัจจัยหลักจากอิทธิพลของพายุยางิที่พัดผ่านจนทำให้มีฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องและเกิดเป็นอุทกภัยและดินถล่มในหลายพื้นที่ แต่จากการได้เข้าไปสำรวจและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ก็พบว่า ‘ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สูงขึ้น’ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมค้างในพื้นที่นานขึ้นและท่วมเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น เนื่องจากแม่น้ำสายย่อยในเชียงรายไม่สามารถไหลลงปลายทางที่แม่น้ำโขงได้ จึงไหลกลับและระบายออกด้านข้างลำน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านแทน

ภูมิศาสตร์เชียงราย

จังหวัดเชียงรายมีแม่น้ำสำคัญที่จะไหลไปลงลำน้ำโขง ได้แก่ แม่น้ำกก แม่น้ำรวก แม่น้ำสาย แม่น้ำอิง โดยปกติแล้ว แม้ฤดูน้ำหลากก็จะไม่สร้างความเสียหายที่รุนแรงนัก เพราะเมื่อฝนตกหรือน้ำจากที่อื่นไหลมา มวลน้ำเหล่านี้จะไหลออกสู่ปลายทางที่ลำน้ำโขงได้

แผนที่แม่น้ำสายหลักเชียงรายอย่างแม่น้ำกก แม่น้ำรวก แม่น้ำสาย แม่น้ำอิงที่ระบายลงน้ำโขง

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่และการบอกเล่าของกลุ่มรักษ์เชียงของและองค์กร International River ที่ติดตามสถานการณ์ในแม่น้ำโขงและโครงการสร้างเขื่อนที่เกิดขึ้นบนลำน้ำแห่งนี้ พบว่าปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดจากลำน้ำโขงในปีนี้คือ “ภาวะน้ำเท้อ” ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมการเก็บ-ปล่อยน้ำของเขื่อนในต้นน้ำทางประเทศจีนหรือไม่

ภาวะน้ำเท้อ หมายถึง ภาวะที่น้ำท่วมเพิ่มระดับเนื่องจากทางน้ำมีสิ่งกีดขวางอยู่ ทำให้ไม่สามารถไหลระบายไปต่ออย่างปกติ เมื่อน้ำโขงหนุนสูง จึงเกิดเป็นภาวะที่ลำน้ำสาขาอย่างแม่น้ำกก แม่น้ำรวก แม่น้ำสาย แม่น้ำอิง ที่ควรจะไหลระบายลงแม่น้ำโขงนั้นไม่สามารถไหลลงได้อย่างเคย เพราะแม่น้ำโขงสู้กลับด้วยระดับน้ำที่สูงกว่า จึงทำให้เกิดภาวะน้ำเท้อไหลออกด้านข้างระหว่างทาง กลายเป็นมวลน้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยโดยรอบแทน

ผลกระทบที่ตามมาคือภาวะน้ำท่วมที่คงค้างนานขึ้นจนนำไปสู่ความเสียหายของไร่นาการเกษตร ต้นไม้ยืนต้นตาย ผลผลิตที่ควรจะเก็บส่งออกค้าขายได้ก็หายวับไปกับตา

“ส้มโอที่ปลูกไว้นี่บางเจ้าก็เกือบสิบปี ตอนนี้ตายหมด ถ้าปลูกใหม่ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปี ตอนนี้ชาวบ้านก็ไม่กล้าจะลงทุนอีกแล้ว เพราะกลัวท่วมอีก” นายไผท นำชัย ผู้ใหญ่บ้านยายเหนือเล่าให้เราฟัง

พื้นที่ปลูกส้มโอ อ.เวียงแก่น ที่ถูกน้ำท่วม ประเมินความเสียหายกว่าหลักร้อยล้านบาท/ปี

ผู้ใหญ่บ้านยายเหนือ เล่าว่า รายได้รวมของทั้งหมู่บ้านปีหนึ่งประเมินได้คร่าว ๆ มากกว่าหลักร้อยล้านบาท/ปี ปีก่อน ๆ บริเวณริมแม่น้ำงาวในพื้นที่ของเขานี้ไม่เคยมีปรากฏการณ์น้ำเท้อขึ้นมาเช่นนี้ แต่ปีนี้กลับรุนแรงขึ้นมากจนพื้นที่การเกษตรในหมู่บ้านก็เสียหายกันหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ส้มโอ และส้มโอที่ปลูกไว้นี้ของบางเจ้าก็เกือบสิบปี แต่ตอนนี้ตายหมด หรือหากจะรอฟื้นฟูแล้วปลูกใหม่ก็อาจต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปี กว่าจะเก็บลูกได้ใหม่ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและทุนอย่างมาก

ด้วยความไม่แน่นอนกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นเช่นนี้ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านในอนาคตอาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัวอย่างการทำมาหาเลี้ยงชีพที่อาชีพอาจเปลี่ยนไป หรือพืชเศรษฐกิจในท้องที่อาจไม่มีให้เห็นอีกแล้ว จากสถานการณ์น้ำเท้อขึ้นมาทั้ง 3 รอบในช่วงเพียงเดือนกว่า ๆ ทำให้พื้นที่ไร่ส้มโอในพื้นที่เสียหายหนักและขาดแคลนรายได้หลักของชุมชนไป ผู้ใหญ่ไผทเล่าว่า ส้มโอเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเวียงแก่น โดยในแต่ละปีมีการส่งออกไปยังจีน เวียดนาม เขมร ลาว และทวีปยุโรปบ้าง 

“ทำอะไรไม่ได้นอกจากตกปลาหากิน ก็ได้แต่รอน้ำลด”

อีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือบริเวณหมู่บ้านศรีชัยมงคล ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ ซึ่งอยู่ติดกับริมน้ำโขงและลำน้ำอิง

“ทำอะไรไม่ได้นอกจากตกปลาหากิน ก็ได้แต่รอน้ำลด” 

หนึ่งในชาวบ้านศรีชัยมงคลเล่าให้เราฟังระหว่างนั่งคุยกันไปพร้อม ๆ กับตกปลาไปพลาง ๆ

จากการที่ได้ลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านศรีดอนชัย อ.เชียงของ เราได้เห็นต้นไม้พืชพันธุ์เกษตรที่ทยอยยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่สูญสิ้นแหล่งทำกิน ผลผลิตที่ปลูกไว้ก็หายไปต่อหน้าต่อตา สิ่งที่ทำได้คือรอการช่วยเหลือและหวังให้สถานการณ์ทุเลาลง

พื้นที่การเกษตรที่โดนน้ำท่วมขังเดือนกว่า

สถานการณ์ในพื้นที่หมู่บ้านศรีดอนชัยถูกน้ำท่วมแช่อยู่กว่าร่วมเดือน นายกิตติพงศ์ วงค์ชัย นายกเทศมนตรีตำบลศรีดอนชัย ระบุว่า  “แค่เฉพาะลำน้ำอิงก็มีโอกาสที่จะน้ำท่วมก็ทุกปีอยู่แล้ว เพราะพื้นที่เราเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่ก็ไม่เคยเสียหายเยอะขนาดนี้ เต็มที่ก็ล้นตลิ่งเท่านั้น แต่สาเหตุในปีนี้อันหนึ่งก็คือ ‘การเท้อของแม่น้ำโขง’ ที่เข้ามามากขึ้น 

ครั้งแรกปีนี้ท่วมตั้งแต่ประมาณ 10 สิงหา ท่วมแช่อยู่ครั้งนึงประมาณอาทิตนึงค่อยลด จนรอบล่าสุดตั้งแต่ 12 กันยายน จนตอนนี้สิ้นเดือนกันยาก็ยังไม่ลง ไม้ยืนต้นก็ตายหมด ยิ่งตอนน้ำโขงสูงดัน น้ำในพื้นที่จะนิ่งเพราะไหลไปไม่ได้ แล้วก็จะมีน้ำโขงไหลย้อนดันขึ้นมาอีก ทำให้ท่วมแช่กว่าเดิม”

ชาวบ้านหมู่บ้านศรีดอนชัยที่ไร่นาเสียหายออกมานั่งตกปลาในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อประทังชีพ

นอกจากนี้ ในพื้นที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน นายสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล ระบุว่า การที่ระดับน้ำโขงสูงขึ้นนั้นมีผลต่อการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่อ.เชียงแสนอย่างมาก 

“ปีที่แล้วฝนตกเยอะ น้ำมากเหมือนกัน แต่พอท่วมตอนเย็น เช้าก็หาย เพราะน้ำระบายลงน้ำโขงได้สะดวก แต่ปีนี้จากท่วมค้าง 1 คืนกลายเป็น 3 คืน เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า เราไม่เคยเห็นน้ำโขงไหลย้อนขึ้นมาแต่ปีนี้ก็ได้เห็น” 

นายสามารถ จันทาพูน นายกอบต.ศรีดอนมูล ระบุว่า อ.เชียงแสนปีนี้ท่วมค้างนานขึ้นเป็น 2-3 เท่า

เมื่อหลายลำน้ำต่างคนต่างหนุนเข้ามา บวกกับฝนตกหนักสะสมด้วยก็ทำให้ยิ่งท่วมสูง แต่เมื่อน้ำโขงลดลง น้ำสาขาย่อยก็ค่อย ๆ ลดลงตาม ซึ่งจะเห็นได้ว่าลำน้ำนั้นระบายได้ตาม ๆ กัน

ความไม่แน่นอนของชีวิตที่ถูกซ้ำเติมด้วยเขื่อน

นอกจากเรื่องของผลกระทบ สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นจากการหารือเรื่องนี้ของฝ่ายท้องถิ่น เราพบว่ามี “ความไม่แน่นอน” อยู่มากมายที่ทำให้พวกเขาเองก็ยากที่จะวางแผนบริหารจัดการมวลน้ำเหล่านี้

ย้อนแผนที่เหนือประเทศไทยขึ้นไปตามลำน้ำโขง เราจะพบว่ามีเขื่อนที่ถูกสร้างอยู่ในเขตประเทศจีนแล้วกว่า 12 เขื่อน และโครงการล่างสุดที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือ ‘เขื่อนจิงหง’ ซึ่งการระบายน้ำ-กักเก็บน้ำ มีผลอย่างมากต่อประเทศปลายน้ำลงมา

เหนือเขตแดนประเทศไทยขึ้นไปจะพบว่ามีเขื่อนกว่า 11 แห่งที่สร้างบนลำน้ำโขงในเขตจีน

นายสามารถ จันทาพูน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล กล่าวถึงความเชื่อมโยงของกรณีการรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน กับเขื่อนบนน้ำโขงให้เห็นว่า แม้หลายคนจะเชื่อว่าเขื่อนมีส่วนในการช่วยกักเก็บ-ชะลอน้ำ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นภัยร้ายต่อพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ในปลายน้ำถัดมา 

เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยน้ำอย่างเป็นทางการจากเขื่อนในประเทศจีนได้ แม้จะมีการหารือกับทางประเทศจีนก่อนหน้านี้เพื่อทำข้อตกลงให้มีการเปิดเผยข้อมูลและส่งให้กับประเทศไทยโดยตรง แต่ปัญหาคือจีนไม่มีการอัพเดทข้อมูลให้กับหน่วยงานไทยโดยตรง แต่ส่งผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และส่งให้ประเทศลาวเท่านั้น ส่งผลให้หน่วยงานฝั่งไทยเกิดความไม่แน่นอนในการวางแผนรับมือ ต้องคอยรีเช็คข้อมูลกับประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงค่อยมาประมวลกันว่าจริงไหม ส่งผลกระทบขนาดไหน และจะมาถึงเชียงแสนในกี่วัน 

อีกความยากลำบากคือ จุดระดับน้ำที่ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้นั้นเป็นจุดที่ห่างเพียง 50 กิโลเมตรก่อนจะถึงอำเภอเชียงแสน แม้จะมากพอที่จะคำนวณการมาถึงของมวลน้ำ แต่ก็จะดีกว่ามากหากได้รับข้อมูลสถานีน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงระบุว่าควรมีการร่วมมือกันในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขง

ต้นไม้ยืนต้นตายริมฝั่งโขง อ.เชียงของ ที่แสดงถึงระดับน้ำที่ท่วมสูงในปีนี้

เมื่อไม่สามารถคาดการณ์สภาพอากาศได้ ทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่ใต้ความไม่แน่นอน ซึ่งยากต่อการหาเลี้ยงชีพ ในแง่การรวมตัวกันของชุมชน อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลใจในระยะยาวคือ อากาศที่ย่ำแย่แปรปรวนนั้นอาจนำไปสู่ “การบังคับย้ายถิ่นฐาน” ที่อาจเกิดขึ้น 

เมื่อพื้นที่บ้านเกิดไม่สามารถทำมาหากิน สร้างรายได้ได้อย่างที่เคย ความเสียหายและความไม่แน่นอนเหล่านี้ก็ย่อมบังคับให้ผู้คนจำยอมย้ายถิ่นฐานออกไปพื้นที่อื่น จังหวัดอื่น หรือแม้กระทั่งประเทศอื่น เพื่อแสวงหาแหล่งงานและรายได้ที่ดีขึ้น ความเป็นชุมชนก็ย่อมหายไปจากการขาดแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน การรวมกลุ่ม การมีปฏิสัมพันธ์ก็หมดไปจากพื้นที่ จนสุดท้ายอาจเหลือทิ้งไว้เพียงเมืองว่างเปล่าที่ไร้ชีวิต ไร้ผู้คนขับเคลื่อน 

ปัญหานี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายหรือประเทศไทย หากแต่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญมากขึ้นเรื่อย ๆ และร่วมมือกันแก้ไข รับมือให้ได้อย่างทันท่วงทีที่สุด

Credit

Chayanit S.

เป็นคนกรุงเทพฯ ชอบเดินเที่ยวเมือง ฟังเพลงซ้ำ ๆ นั่งโง่ ๆ ดูคนคนใช้ชีวิต :-)