FAST FURNITURE แฟชั่นในรูปแบบของแต่งบ้านที่อาจทำลายทั้ง ‘ชีวิต’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ - EnvironmanEnvironman

FAST FURNITURE แฟชั่นในรูปแบบของแต่งบ้านที่อาจทำลายทั้ง ‘ชีวิต’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’

เฟอร์นิเจอร์ราคาหลักร้อย ใช้ได้ไม่นานก็พัง และต้องทิ้ง ไปไวมาไว ไม่ต่างจาก Fast Fashion

ทุกคนคงเคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘FAST FASHION’ กันอยู่แล้ว เสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วยวัสดุสังเคราะห์ เพื่อสร้างเสื้่อผ้าที่มีราคาถูกคุณภาพไม่ค่อยเลิศเลอ ให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการใส่ชุดเพียงไม่กี่ครั้ง จนสุดท้ายอุตสาหกรรมนี้ก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

เป็นเรื่องน่าดีใจที่ในตอนนี้ใครหลายคนได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาของ Fast Fashion แล้ว ทว่า ยังมีสินค้าอีกหมวดหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมได้ไม่ต่าง หรืออาจจะมากกว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเลย นั่นก็คืออุตสาหกรรมของตกแต่งบ้านหรือเฟอร์นิเจอร์

Fast Furniture คืออะไร ?

Fast Furniture หรือ Fast Deco คือสินค้าตกแต่งบ้านต่างๆ ที่มีกลไกการทำลายล้างไม่ต่างจาก Fast Fashion คือมาไวไปเร็ว คุณภาพสินค้าต่ำ แต่ราคาถูกทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกซื้อง่ายทิ้งคล่อง ด้วยความรู้สึกที่ว่าถึงแม้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้จะพังเร็ว แต่มันทำหน้าที่ได้คุ้มราคาแล้ว

ในอดีตอายุขัยของเฟอร์นิเจอร์นั้นยืนยาวพอๆ กับบ้านหนึ่งหลัง  ตัวอย่างโซฟาไม้ประจำบ้านที่ผ่านมามากกว่า 18 ฝนก็ยังคงทน แต่ในปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์มีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปีหรือน้อยกว่านั้น นับเป็นการบังคับเราในทางตรงว่าถึงเวลาต้องซื้อใหม่แล้ว 

ถ้าผู้อ่านเคยสั่งซื้อชั้นหนังสือหรือเฟอร์นิเจอร์ราคาหลักสิบหลักร้อยจากประเทศทางเหนือไทยไป ก็อาจจะพอเข้าใจเรื่องคุณภาพว่าเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งมันก็มีบางส่วนที่บุบสลายไปก่อนที่เราจะประกอบเสร็จด้วยซ้ำและต้นเหตุของมันก็มาจากการใช้ ‘วัสดุคุณภาพต่ำ’ 

เพื่อควบคุมปัจจัยด้านราคา การใช้วัสดุสังเคราะห์ราคาถูก จำพวก ไม้อัด ไม้เอ็มดีเอฟที่ทำมาจากใยไม้ผสมกับกาวเรซินนำมาอัดเป็นแผ่น หรือปาร์ติเกิลบอร์ดที่ทำมาจากเศษไม้และขี้เลื่อยผสมเรซิน นอกจากนี้ ยังมีวัสดุประเภทพลาสติก โลหะราคาถูก และผ้าใยสังเคราะห์ต่าง ๆ ทั้งหมดถูกนำมาแทนวัสดุคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งานยืนยาว นอกจากจะไม่คงทนแล้ว อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพด้วย

ภัยร้ายในรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน

หนึ่งสิ่งที่เป็นข้อควรระวังจากการซื้อของประเภท Fast Furniture คือการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานที่มีสารอันตราย อย่างปาร์ติเกิลบอร์ด (​Particle Board) ที่มีการผสมกาวเรซินซึ่งมีสารฟอร์มาลีไฮด์(Formaldehyde) โดยสารตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถปล่อยสารออกจากเฟอร์นิเจอร์ที่วางอยู่สู่อากาศในบ้านของเราได้ อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองผิวหนัง และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ในระยะยาว แต่นอกจาการชนิดนี้แล้วยังมีสารชนิดอื่นอีก เช่น สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นสารประเภทเดียวกับที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงกลั่นน้ำมัน สารหน่วงไฟ (Flame Retardants) และพาทาเลต (Phthalates) โดยสารแต่ละชนิดก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่างกันไป 

ทางเลือกที่ดีกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการนำระเบิดเวลาสุขภาพเข้าบ้าน คือการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจาก ‘ไม้ไผ่’ หรือ ‘ไม้หวาย’ นอกจากจะเป็นมิตรกับร่างกายยังสามารถใช้งานได้ยาวนานด้วย

ภัยร้ายจากในบ้านสู่มหันตภัยสิ่งแวดล้อม

เฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นไม่เพียงจะทำลายสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน แต่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติด้วย ตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิตไปจนถึงวาระสุดท้ายในหลุมฝังกลบ 

เริ่มตั้งแต่ในขั้นตอนการผลิตจากการประมาณการพบว่า บริษัทชั้นนำในการผลิตเฟอร์นิเจอร์อย่าง ‘IKEA’ ใช้ต้นไม้หนึ่งต้นในทุก ๆ 2 วินาที เท่ากับว่าในหนึ่งวัน ได้มีต้นไม้ที่ถูกตัดไปแล้วมากถึง 43,200 ต้น ด้วยวิธีการ ‘ตัดโค่นทั้งป่า’ ไม่เว้นแม้กระทั่งป่าดิบชื้นที่ไม่เคยถูกตัดมาก่อน และในการผลิตเฟอร์นิเจอร์หนึ่งชิ้นโดยเฉลี่ยแล้วจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 47 กิโลกรรม เทียบเท่ากับกรเผาไหม้น้ำมันเบนซิน 20 ลิตร 

มลพิษจากขั้นตอนการผลิตถูกส่งต่อไปปล่อยสารฟอร์มาลีไฮด์ในบ้านของเรา จากนั้นเมื่อเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นสิ้นอายุการใช้งานอันแสนสั้นและแปรสภาพกลายเป็น ‘ขยะ’ ที่เดินทางต่อไปยังหลุมฝังกลบเพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เนื่องจากการใช้วัสดุสังเคราะห์ 

Zero waste ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การเติบโตของตลาดเฟอร์นิเจอร์นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของขยะประเภทดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 2014 ถึงปี 2020 ทั้งยังมีข้อมูลจาก Environmental Protection Agency (EPA) หรือ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ กล่าวว่า ในปี 2018 ชาวอเมริกาทิ้งขยะประเภทของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์มากกว่า 12 ล้านตันโดยที่มากกว่าร้อยละ 80 ต้องมาลงเอยที่หลุมฝังกลบ

การกระจายตัวของมลพิษยังไม่ได้จบอยู่ที่หลุมฝังกลบ หากแต่สารพิษที่อยู่ในเฟอร์นิเจอร์ยังสามารถแทรกซึมไปเป็นมลพิษในพื้นดิน หรือถ้ามีการเผาก็จะกลายเป็นมลพิษทางอากาศได้อย่างไม่ต้องสงสัยอีกด้วย

จะทำยังไงไม่ให้เรากลายเป็นผู้ก่อการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการซื้อสินค้าเหล่านี้

Fast Funiture ไม่ใช่แค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งหรือสินค้าจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันเป็นเหมือนกลไกที่จะเป็นไปหากเราเลือกซื้อสินค้าด้อยคุณภาพอายุสั้น ฉะนั้นแล้วเราสามารถหยุดกลไกนี้ได้จากการเลือกซื้อของที่เราจะนำมาใช้งานหรือตกแต่งบ้าน โดยเลือกซื้อสินค้าที่ทำจากวัสดุคุณภาพดีจากแบรนด์ที่ยั่งยืน มีการการันตีว่าวัสดุไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คิดซะว่าเป็นการลงทุนให้กับของที่จะอยู่คู่เคียงบ้านของเราหรือจะเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์มือสองก็สามารถเช่นเดียวกัน 

อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจคือการนำเฟอร์นิเจอร์ที่เรามีอยู่มา Upcycle หรือดัดแปลงสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้มีฟังก์ชั่นใหม่ ๆ นอกจากจะได้ของใหม่โดยที่ไม่ต้องซื้อใหม่ ยังมั่นใจได้ว่าเราจะได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างแน่นอน (เพราะคุณภาพขึ้นอยู่กับเรา) แถมยังเพิ่มสกิลและความภูมิใจในตัวเองได้ด้วย

อ้างอิง

https://www.nssmag.com/en/lifestyle/36784/after-fast-fashion-fast-deco

https://www.brightmark.com/newsroom/fast-furniture-what-it-is-ways-to-avoid-it-and-ways-to-shop-sustainably

https://carpenterjames.com/blogs/news/fast-furniture

https://todayshomeowner.com/furniture/guides/fast-furniture

https://www.henkel-adhesives.com/fr/en/spotlights/all-spotlights/new-developments/sustainability-in-the-furniture-industry.html
https://ofisu.co.th/4-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88/

Credit

22°C

Part-time Writer, Full-Time Lover สาวสระบุรี มีลูกเป็นต้นไม้ ไม่ชอบเมืองใหญ่ อยากไปสำรวจโลก