เสียงจาก “ไรเดอร์” ท่ามกลางอากาศร้อน ฝุ่นควัน และสุขภาพที่เสี่ยง - EnvironmanEnvironman

เสียงจาก “ไรเดอร์” ท่ามกลางอากาศร้อน ฝุ่นควัน และสุขภาพที่เสี่ยง

ไรเดอร์” ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเผชิญทั้งภาระงานหนักและสภาพอากาศที่รุนแรง

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2023–2027 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยรายปีจะสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (1850–1900) ระหว่าง 1.1 – 1.8 °C และมีโอกาสถึง 98% ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้านี้จะร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ปี 2025 จะมีอุณหภูมิสูงที่สุด 42 – 43 °C พร้อมกับพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นได้เป็นระยะ โดยในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีอากาศแปรปรวน อากาศร้อนอบอ้าวและมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น

อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นแค่ตัวเลขในรายงาน หากแต่สะท้อนถึงความร้อนที่เผาไหม้ถนน คนทำงานกลางแจ้ง และชีวิตของผู้คน

เสียงของ “ไรเดอร์” บนถนนที่ร้อนเกินทน

กลางแสงแดดร้อนจัด ฝุ่นควันลอยคละคลุ้ง และอากาศที่ชวนหายใจติดขัด ไม่ใช่แค่เมืองที่เปลี่ยนไป แต่คือความเป็นอยู่ของคนทำงานกลางแจ้ง อย่าง “ไรเดอร์” ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับอาหารและพัสดุส่งถึงบ้านคุณ ที่ต้องเผชิญทั้งภาระงานหนักและความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไรเดอร์คือหนึ่งในอาชีพ ที่ต้องเผชิญกับความร้อน ฝุ่นควัน และอุบัติเหตุจากการทำงานกลางแจ้งโดยตรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40 °C อย่างที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ 

ข้อมูลจากสมาคมไรเดอร์ เดือนมีนาคม ปี 2024 จำนวนไรเดอร์ในประเทศไทย มีประมาณ 300,000 – 400,000 คน ซึ่งไรเดอร์เกิน 60% ประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก

ธัญญ์นรี จารุประสิทธิ์ เลขาธิการ สมาคมไรเดอร์ภาคใต้ จากจังหวัดกระบี่ เล่าว่า “ก่อนนี้ทำงานประจำ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ผันตัวมาประกอบอาชีพไรเดอร์ ได้ประมาณ 5 ปี เธอทำงานวันละ 10 กว่าชั่วโมง ได้ค่ารอบ 15 บาท ตั้งแต่มาทำงานไรเดอร์ สุขภาพแย่ลงชัดเจน ต้องเผชิญทั้งฝน แดด พายุ ฝุ่น และอากาศร้อน เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน และตนเองเป็นภูมิแพ้ด้วย บางครั้งถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลจากการติดเชื้อในกระแสเลือดเพราะกลั้นปัสสาวะขณะทำงาน ถึง 3 ครั้ง แม้จะพยายามพักผ่อนในที่ร่ม และดื่มน้ำบ่อย แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความร้อนและความเครียดที่ต้องเผชิญทุกวันหากหยุดพักนานก็จะไม่มีรายได้ เพราะรายได้ของไรเดอร์ขึ้นอยู่กับการทำงาน นอกจากนี้ เพื่อนๆไรเดอร์ในพื้นที่ยังพบปัญหาป่วยด้วยโรคปอด เป็นหวัดเรื้อรัง เนื่องจากฤดูฝนอันยาวนาน 5 – 8 เดือนของภาคใต้ ทำให้เกิดเชื้อราในร่มผ้า เพราะซักผ้าแล้วตากให้แห้งไม่ทัน”

พิสุทธิ์ สมุทรโคตา วัย 55 ปี จากนนทบุรี เล่าว่า “ทำงานเป็นไรเดอร์ส่งอาหารตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด -19 ได้ประมาณ 5 ปีแล้ว แม้พยายามดูแลตัวเองโดยการเช็กสภาพอากาศและค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำ หากเข้าไปส่งอาหารในเขตกรุงเทพมหานคร ที่เป็นโซนสีแดง ก็จะใส่แมสป้องกันฝุ่นตลอด  แต่ก็ยังมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเจอสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งฝนตก ทั้งแดดร้อน ในวันเดียว”

ประภาพร ผลอินทร์ แม่เลี้ยงเดี่ยว วัย 50 ปี เขตบางแค กรุงเทพมหานคร เล่าว่า “ก่อนเคยเป็นวินมอเตอร์ไซค์ ปัจจุบันเป็นไรเดอร์ส่งพัสดุมากว่า 8 ปี เล่าว่า ด้วยค่ารอบที่ลดลง ปัจจุบันรอบละ 28 บาท ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ต้องทำงานหนักขึ้นจากวันละ 8 ชั่วโมงเป็น 12 – 14 ชั่วโมง แม้จะอยู่ชานเมืองแต่ต้องเผชิญกับฝุ่นควันจากการก่อสร้างและขยายตัวของเมือง การเผาขยะ และน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอย่าง โรคทางเดินหายใจ ผื่นคัน และอ่อนเพลียง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนจัด บางครั้งทั้งใส่เสื้อแขนยาว ใส่เสื้อสองชั้น ใส่หมวกกันน็อค ใส่ผ้าบัฟ ใส่แมส ใส่ถุงมือ เพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็ยิ่งร้อนและยังรู้สึกไม่ปลอดภัยจากฝุ่นควันและแดดที่ร้อนจัด”

“ฮีทสโตรก” ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนทำงานกลางแจ้ง

โรคลมร้อนหรือ ฮีทสโตรก เกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกิน 40°C จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยมักมีอาการตัวร้อน วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง และหมดสติ  

งานวิจัย Occupational heat strain in outdoor workers ชี้ว่าภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนในการทำงานทุกๆ 14–24 นาทีทั่วโลก  

ข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รวบรวมรายงานการเสียชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับความร้อน จากภาวะอากาศร้อนในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี ระหว่างปี 2017-2023 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 24, 18, 57, 12, 7, 8 และ 37 ราย ตามลำดับ และ ปี 2024 ที่ผ่านมา พบรายงานผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 63 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย และเพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 30 – 95 ปี (เฉลี่ย 62 ปี) ซึ่งประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25 จากทั้งหมด 

โดย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อนสูงที่สุด ร้อยละ 54 ผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 51 ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานกลางแจ้ง ร้อยละ 62 หากจำแนกรายเดือน พบว่า มีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน ร้อยละ 70 ซึ่งเดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 44 °C

สำหรับการป้องกันฮีทสโตรก คือ พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับ และถ่ายเทไม่ดี สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ เพราะจะสะสมความร้อนได้ ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป

การรับมือของต่างประเทศ เมื่อทำงานกลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศร้อนจัด  

จีน: มีข้อบังคับห้ามทำงานกลางแจ้งเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 37– 40 °C โดย 28 มณฑลได้ดำเนินการบังคับใช้กฎการจ่ายเบี้ยเลี้ยงสำหรับอุณหภูมิสูง  ในจำนวนนี้มณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และเมืองเซี่ยงไฮ้ จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับอุณหภูมิสูงมากที่สุดคือ 300 หยวน/เดือน ซึ่งกฎหมายจีน ระบุ ว่าหากองค์กรจัดให้คนงานทำงานในที่ที่มีอุณหภูมิ 35 °C ขึ้นไป โดยเป็นการทำงานกลางแจ้งและไม่สามารถใช้มาตรการลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 33 °C จะต้องจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับอุณหภูมิสูงให้กับคนงานเหล่านั้น และเดือนที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

สเปน: ปี 2023 รัฐบาลสเปนได้ออกคำสั่งห้ามการทำงานกลางแจ้งในช่วงที่มีคลื่นความร้อน หลังจากฤดูร้อนปี 2022 มีพนักงานกวาดถนนวัย 60 ปี ในกรุงมาดริด ทำงานในวันที่อุณหภูมิร้อนจัด จนล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเริ่มจากภาคการเกษตรและการก่อสร้างเป็น 2 ภาคส่วน ที่จะต้องปรับเวลาการทำงานในช่วงที่มีคลื่นความร้อนสูงตามกฎหมายใหม่

“ไรเดอร์” แรงงานอิสระกลางแจ้ง ที่ยังต้องการการคุ้มครอง

ประเทศไทย มีกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานจากความร้อน ซึ่งระบุในข้อ 2 ว่า

ให้นายจ้างควบคุมและรักษาระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างทํางานอยู่มิให้เกินมาตรฐาน ดังต่อไปนี้

  1. 1. งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานเบาต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 34 °C 
  2. 2. งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานปานกลางต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 32 °C 
  3. 3. งานที่ลูกจ้างทําในลักษณะงานหนักต้องมีมาตรฐานระดับความร้อนไม่เกินค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ 30 °C 

ซึ่งมีผลบังคับกับนายจ้างที่ต้องควบคุมมาตรฐานความร้อนให้กับลูกจ้าง ซึ่งไม่รวมแรงงานอิสระที่ทำงานกลางแจ้ง อย่าง “ไรเดอร์” 

พี่แหม่ม กล่าวว่า  “เราต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง เพราะว่าทุกชีวิตที่อาศัยบนโลก มันจะไม่ไหวกับสภาพอากาศแบบนี้ และโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นง่ายขึ้นทุกวัน ถ้าโลกยังคงร้อนขึ้น คิดว่าสักวันคงต้องไปอยู่ที่อื่น เรามองถึงอนาคตว่าอยากให้ลูกหลานเราได้มีอากาศที่ดี รวมทั้งรายได้สอดคล้องกับค่าครองชีพ”

พี่เปิ้ล กล่าวต่อว่า “ต่อไปอาจจะมีคนที่ออกจากอาชีพไรเดอร์ เพราะด้วยอากาศที่ร้อน ค่ารอบที่น้อย ทำให้ไม่คุ้มกับสุขภาพที่ต้องเสียไป ในกลุ่มสมาคมไรเดอร์ภาคใต้ บางจังหวัดเริ่มโยกย้ายจากจังหวัดตัวเอง เพื่อไปหางานในจังหวัดที่มีงานมากขึ้น อย่าง เพื่อนไรเดอร์ในจังหวัดตรัง ก็ย้ายไปทำงานที่ภูเก็ต”

ในวันที่อุณหภูมิสูงจนอยู่แทบไม่ไหว แต่รายได้กลับไม่พอกับค่าครองชีพ พวกเขาไม่ได้ขออะไรมากเกินไป เพียงขอสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีพอให้มีแรงทำงานในวันถัดไป

จะเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทย จะมีมาตรการรองรับแรงงานอิสระกลางแจ้งในยุคที่โลกร้อนขึ้นทุกวัน อย่างการกำหนดอุณหภูมิสูงสุดในการทำงานกลางแจ้ง การสนับสนุนประกันสุขภาพและหลักประกันสังคมสำหรับผู้ที่ทำงานอิสระกลางแจ้ง รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และบริษัทแพลตฟอร์มขนส่ง เพื่อออกแบบระบบงานที่ยืดหยุ่นในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศหรือคลื่นความร้อนสูงจากสภาพอากาศแปรปรวน เพื่อปกป้องแรงงาน ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่มีใครหยุดได้

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.thaihealth.or.th/?p=357832

https://www.pptvhd36.com/health/news/6710

https://www.prachachat.net/ict/news-1515767

https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC9154804

https://www.safetechthailand.net/articledetail.asp?id=35315

https://climate.copernicus.eu/copernicus-2024-first-year-exceed-15degc-above-pre-industrial-level

https://thai.cri.cn/20190627/5d868f98-1d82-4bbe-be6e-7da91f2a5bdd.html

https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg2/downloads/outreach/IPCC_AR6_WGII_FactSheet_Health.pdf

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0378778824008090

https://www.irishlegal.com/articles/spain-government-bans-outdoor-working-during-heatwave

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/242492

https://www.kinyu.co.uk/chinas-heatwave-policies/#:~:text=Employers%20in%20China%20are%20required,how%20they%20impact%20your%20operations

Credit

Atitaya P.

นักสื่อสารหาทำ สนใจเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ชอบความท้าทายเล็กๆ เดินทาง ท่องเที่ยว เรียนรู้ผู้คน