คุยกับช้างน้อย-กุญชร The Cloud กับฝันที่อยากให้เที่ยวไทยไประดับโลก

ครั้งแรกของ Amazing Green Fest ว่าด้วยเที่ยวยั่งยืนหลายเชด

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวเราจะนึกถึงอะไรกันบ้าง?

เวลาจะแพลนทริปที ก็คงไม่พ้นเรื่องกิน เที่ยว ที่พัก แล้วแต่คนจะสรรหาตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง 

แต่ในขณะเดียวกัน มีสถิติที่บอกว่าอุตสาหกรรมเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 4,500 ล้านตันในแต่ละปี หรือคิดเป็น 8% ของการปล่อยทั่วโลก

จะดีแค่ไหนถ้าเราทำให้การท่องเที่ยวนั้นถูกใจเรา และยั่งยืนต่อโลกได้มากขึ้น?

ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่อยากให้เกิดสิ่งนี้ 

Amazing Green Fest ก็เช่นกัน

เทศกาลด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนสุดยิ่งใหญ่ที่ตั้งใจยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งนำโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ The Cloud

ก่อนจะเข้าเรื่องเฟสติวัล เราชวนพี่ช้างน้อย-กุญชร ณ อยุธยา แห่ง Cloud & Ground มาคุยกันถึง ‘ความ The Cloud’ กันซะก่อน เพราะสารภาพตามตรงว่าในฐานะนักซุ่มอ่านบทความบนเดอะ คลาว ก็อดดีใจไม่ได้ที่จะมีเฟสติวัลท่องเที่ยว และก็ได้แต่คิดว่า “ในที่สุด!”

พี่ช้างน้อยเล่าให้เราฟังถึงที่มีของชื่อบริษัทไปจนถึงคุณค่าที่พวกเขายังยึดถือมาถึงทุกวันนี้

‘บริษัทเราชื่อ Cloud & Ground ‘Cloud’ คือ ก้อนเมฆ ซึ่งเราอยากให้มันเป็นสตอรี่ที่เคลื่อนไปไหนก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เล่าผ่านช่องทางไหนก็ได้ ส่วน Ground คือ ประสบการณ์ ซึ่งมันมีหลายแบบ ทั้งประสบการณ์ด้านการกินอาหาร การใส่เสื้อผ้า การพักที่พัก หรือไปเฟสติวัลดี ๆ ก็ตาม

และแน่นอนว่าก่อนจะมีประสบการณ์ดี ๆ ได้ก็ต้องมาจากผู้ผลิตหรือต้นทางที่จะสร้างประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้ได้

“เราพยายามทำสิ่งที่อิมแพคกับคนหลายกลุ่ม เป็นการทำให้ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ดีขึ้น อย่างแรกเราดูก่อนว่าซัพพลายเชนนี้มีอะไรบ้าง เช่น แวดวงกาแฟ ก็มีทั้งเกษตรกร คนผลิตกาแฟ บาริสต้า รวมถึงป่าดี น้ำดี หรือการจะมีข้าวที่ดี ก็ต้องนึกถึงคนที่ปลูกข้าวด้วย”

“เราเชื่อว่า ถ้าเราทำงานดีพอให้คนดื่มเข้าใจได้ว่ากาแฟที่ดีเป็นยังไง สุดท้ายเกษตรกรที่ทำก็จะมีคนซื้อ ระบบนี้ก็จะมั่นคง เกษตรกรก็จะมีความสุขขึ้น เกษตรรุ่นใหม่ก็กลับไปทำงานที่บ้านเกิดได้” 

เดอะ คลาวด์กับการเป็นพื้นที่ให้คนรวมตัว

ในบทสนทนา เราชวนพี่ช้างย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ The Cloud เกิดใหม่ ๆ แม้จะเปิดตัวมาด้วยการเป็นสื่อออนไลน์ แต่พวกเขาก็เชื่อว่ายังมีบางอย่างที่โลกออนไลน์ยังตอบโจทย์มนุษย์ไม่ได้

“ในช่วงปีสองปีแรกที่เราเป็นสื่อออนไลน์ที่เกิดมาในช่วงดิจิตัล แต่เราคิดว่า human touch เป็นอะไรที่หายไป เพราะฉะนั้นเรามีกิมมิกที่ให้แฟนๆเดอะ คลาวด์ คนอ่านส่งเข้ามา และให้คนเขียนตอบกลับไป ให้เขารุ้สึกว่าเดอะ คลาวด์ก็เป็นคน มีชีวิตจิตใจที่สามารถตอบกลับคุณได้ พอเราย้ายออฟฟิศเราก็เอามาด้วย เพราะเรารุ้สึกว่านี่คือของขวัญของคนทำคอนเทนต์ เราใจฟูทุกครั้งเราได้อ่าน ในนี้มีอะไรซ่อนอยู่ค่อนข้างเยอะ”

นั่นสิ ในโลกที่บนอินเตอร์เน็ตมีอะไรให้เราอ่านมากมาย แทบค้นหาในทุกสิ่ง แต่การคุยโต้ตอบ-แลกเปลี่ยนกัน ยังคงเป็นสิ่งที่เติมเต็มหัวใจมนุษย์ได้อยู่ สิ่งนี้ก็เป็นอะไรที่เดอะ คลาวด์เก็บไว้มาตลอดและนิยามให้ตัวเองเป็น “ที่รวมชุมชนคนเล่าเรื่อง” ให้ทุกคนได้มาสื่อสารกันผ่านการเล่าเรื่อง,ประสบการณ์ของตัวเองในสิ่งที่กูเกิลหาไม่ได้

ในงานนี้ก็เช่นกัน ที่พวกเขาตั้งใจให้งานนี้เป็นพื้นที่กลางที่ทุกคนในห่วงโซ่มาอยู่ในงาน ได้มาแลกเปลี่ยน สื่อสารกัน และช่วยกันทำให้มันดีขึ้น 

“เราให้นิยามงานของเราว่าคือ B2B2C อย่าง 2C คือ to Customer เราเขื่อว่าถ้าเราอยากนำเสนอข้าว เราก็ต้องทำให้คนรู้จักและกินข้าวที่หลากหลายเป็น ถ้าท่องเที่ยวเราอยากให้ยั่งยืน ก็ต้องทำให้คนเที่ยวแบบนี้เป็นเยอะ ๆ 

ทั้งที่พักที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เคารพธรรมชาติและคนในพื้นที่ มีแนวคิดดี ถ้ามีคนจ่าย มีคนให้คุณค่ากับโรงแรมแบบนี้ พวกเขาก็จะอยู่ได้ในเชิงธุรกิจ

กลับมาที่ฝั่ง B2B คือ Bussiness to Bussiness สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังในงานคืออยากให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเขามาเดินแล้วเขาเห็นว่า 

‘มันมีคนที่คิดเหมือนกันเต็มไปหมด’ 

‘เขาไม่ได้บ้าคนเดียวนะ’

เราอยากให้พวกเขาได้สื่อสารกัน ได้ช่วยสร้างให้วงกลมนี้มันใหญ่ขึ้น ๆ เพราะเรื่องพวกนี้มันคงไม่ได้สร้างได้ในปีเดียว แต่ก็ดีกว่าเราไม่ทำเลย”

OPTIMIZE PROFIT not MAXIMIZE PROFIT

เมื่อถามถึงมุมมองการจัดอีเวนท์ของชาวเดอะ คลาวด์ผ่านแว่นธุรกิจ พี่ช้างแชร์ให้เราฟังแบบเรียบง่ายแต่ก็มากพอที่จะทำให้เราเข้าใจมุมมองและสิ่งที่เดอะ คลาวด์อยากจะเห็นมันเป็นจริงได้มากขึ้น

“แน่นอนธุรกิจไม่ได้คุ้มทุนในปีแรก แรก ๆ บางคนก็อาจจะมองว่านี่งานอะไรวะ แต่เราก็ทำให้เห็นว่าเราทำจริงนะ ทำเรื่อย ๆ เราจัดงานด้วยมุมมอง ‘Optimize Profit’ มากกว่า ปกติเขาจะงานแบบ Maximize Profit กันมากกว่า คือดูว่าพื้นที่เท่านี้จะวางบูธได้เท่าไหร่ เก็บเงินได้เท่าไหร่ ซึ่งแบบนั้นงานมันจะมีความแบน คือจะมีแต่คนที่มีเงินจ่ายมา

การจัดงานเราเลยพยายามเชื่อมทุกคนในห่วงโซ่ เราก็ดูว่าการท่องเที่ยวมีอะไรบ้าง มีชุมชน มีโรงแรม มีคนที่ชอบทำกิจกรรม สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องมีอยู่ในงาน”

สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านอย่างเรามองว่าเป็นจุดเด่นของเดอะ คลาวด์เองคือการมองเห็นภาพรวมของแต่ละสิ่งให้ชัดเจนได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเราชวนพี่ช้างคุยถึงทุกอีเวนท์ที่เดอะ คลาวด์จัดมา เขามาพูดเสมอว่า ‘เราต้องดูว่าเรื่องนี้มีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง’ ซึ่งเมื่อเห็นภาพว่ามีใครในสมการนี้บ้างก็จะทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าใคร จะมาช่วยต่อจิ๊กซอว์เติมเต็มตรงไหนได้บ้าง

“หลายคนจะชอบคิดว่ารัฐต้องเป็นคนจัดการทุกเรื่องทั้งหมดสิ กระทรวงไหนเกี่ยวก็ต้องมาช่วย แต่สำหรับผมมันคือทุกฝ่าย ทุกคนในห่วงโซ่นี้ มันไม่ใช่แค่ผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว แต่ทั้งรัฐ เอกชน ชุมชนก็ต้องช่วยหมด”

ซึ่งข้อได้เปรียบของเดอะ คลาวด์ ผมว่าเราดีตรงที่เราไม่มีหมวกอะไร อย่างเวลาเป็นภาครัฐมันก็มีความยากในการวางตัว มันมีกฎเกณฑ์ ลำดับขั้น หรือความเป็นกระทรวงนั้นนี้ที่กลัวล้ำหน้ากัน ดังนั้น การขับเคลื่อนด้วยเดอะ คลาวด์ก็ดีตรงที่เราเป็นกาวประสานและช่วยเล่าเรื่อง มันก็เป็นมวลที่ดี ให้เราได้เห็นคนทุกเลเวล ทุกภาคส่วนอยู่ในงาน”

แต่สุดท้ายก็บอกตรง ๆ ว่านี่เป็นปีแรกที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดไรขึ้นเหมือนกัน 

เชี่ยวชาญแค่ไหน แต่ก็ยังท้าทายเสมอ

แม้งาน Amazing Green Fest จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่นี่ก็ไม่ใช่การจัดอีเวนท์ครั้งแรกของเดอะ คลาวซะทีเดียว เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นตากันบ้างกับ Thailand Coffee Fest 2024 และThailand Rice Fest ที่จัดมาแล้วหลายปี แต่ทุกครั้ง ทุกปี ก็ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ เสมอ และเขาไม่เคยมองว่ามันเหมือนกัน

“อย่างงานกาแฟนี่เราเริ่มตั้งแต่ปี 2018 มันโตขึ้นมาก… มากจนเรากลัวว่าจะทำได้ดีกว่านี้มั้ย” พี่ช้างเล่าก่อนจะค่อย ๆ ขยายให้เราเห็นภาพที่เขาร่างเอาไว้ในหัว

“แต่แน่นอน เราเชื่อว่ามันดีกว่านี้ได้ ที่ผ่านมา เราค่อย ๆ ขยายมันมาเรื่อย ๆ ละเราอยากเห็นมันเป็นเฟสติวัลระดับโลก

แต่ก่อนเราเคยคิดว่า ถ้าใครรู้จักแชมป์โลกให้ชวนมาหน่อย จะให้ออกค่าตั๋วก็ได้นะ เราพร้อม แต่พอเวลาผ่านไป อย่างปีที่ผ่านมา มันกลายเป็นว่าเราเดินกระทบไหล่แชมป์โลกในงานได้เลย มีเป็นสิบ ๆ คน แล้วมาทุกวัน เรามาเพราะเขารักประเทศไทย ก็กลายเป็นว่าคุยกันแล้วประทับใจ แลกคอนแท็คอะไรกันไป ซึ่งนี่มันแปลว่างานมันเข้าขั้นอินเตอร์เนชั่นแนลแล้ว ปีก่อนเรามีคนมาร่วมงานกว่า 58 ชาติ”

“ตอนจัดครั้งแรกมันก็เสียวสิ (หัวเราะ) อย่างงานข้าวปีที่แล้วเราก็เสียว บางทีไอโลกครีเอทีฟที่เราคิด มันอยู่ในหัว ในความฝันของเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าคนอื่นจะอินกับเราไหม แต่อันนึงที่เราว่ามันมีความหมายและมีค่ามากคือร้านที่มาร่วม เช่น เชฟชื่อดัง ร้านอาหารดัง ๆ สโลว์ฟู้ดที่เราชวนมาอยู่ในงาน 

การชวนเขามาจริง ๆ เขาไม่มาก็ได้ ขนอะไรก็ลำบาก ขายได้มั้ยก็ไม่รู้ 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้คือ ‘เขาเชื่อในเดอะ คลาวด์’ 

เขามองเห็นว่าเราอยากผลักดันในเรื่องนี้จริง ๆ ในขณะที่ทุกคนก็ไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จไหม เราเองก็ไม่รู้ แต่เราก็รุ้สึกว่ามันพิสูจน์ได้บางอย่างว่าน่าจะมีคนที่เอาใจช่วยเรื่องท่องเที่ยวเหมือนเรา 

การท่องเที่ยวที่แปลว่าอยู่ใน DNA เดอะ คลาว

ด้วยความที่งานสเกลใหญ่ขนาดนี้ รวมคนในงานมาได้ขนาดนี้ เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าใช้เวลาเตรียมตัวนานแค่ไหน หรืออะไรเป็นสิ่งจุดประกายให้เกิดอีเวนท์นี้ 

แน่นอนว่าเรื่องเที่ยวอยู่ใน DNA ของเดอะ คลาว แต่ใครจะไปรู้ล่ะ อาจมีพลังวิเศษเบื้องหลังการขับเคลื่อนที่เราอาจไม่รู้

“เอาจริง ๆ ความฝันอยากทำเรื่องนี้มันอยู่ในใจเรามานานแล้ว วันที่เราทำงานข้าว ทำกาแฟสำเร็จ เราก็นึกถึงสิ่งอื่น ๆ ตามมา เรื่องนี้มันเหมือนมันอยู่ในลิ้นชัก รอแค่วันถูกดึงออกมา พอททท.มาชวนปุ้ปก็ไม่คิดเลย เราทำเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องการตรงกันพอดี เราใช้เวลาเตรียมกันหนัก ๆ ก็เมษา-พฤษภา ที่ผ่านมานี่เอง”

“อย่างที่บอก… มันเป็นความฝันที่อยากทำมานานอยู่แล้ว และมันอยู่ในเนื้อในเดอะ คลาวด์ อยู่ในทุกคนที่เราเคยไปสัมภาษณ์อยู่แล้ว” 

ส่วนเรื่องการหาผู้ประกอบการหรือชุมชนมาจอยนั้น พี่ช้างเล่าให้ฟังว่ามีวิธีคร่าว ๆ ที่ง่ายมากคือการหาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือ ‘สแกนจากบทความในเดอะ คลาวด์’ ที่มี 

“เรามีคอนเทนต์ปีนึงเป็นพัน ๆ คอนเทนต์ เรื่องพวกนี้อยู่ในเนื้องานที่พวกเราทำอยู่แล้ว ซึ่งคำว่า ‘ไลฟ์สไตล์คอนเทนต์’ มันก็มีทั้งโรงแรม คนจัดทริป ฯลฯ เป็นคนที่มีสำนึกการท่องเที่ยวแบบนี้อยู่ แบบที่เราตามหา เพราะงั้นเราก็ช้อนสิ่งที่มันดีงามในเดอะ คลาวด์มาดูก่อน นอกเหนือกจากนั้นก็จะมีกฎของมือที่มองไม่เห็น เป็นกลุ่มคนที่เราทำแบบนี้แล้วเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจก็ติดต่อเข้ามาขอออกบูธร่วมด้วย ส่วนนั้นก็เป็นเรื่อง Branding ที่ผสมกัน”

แล้วการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในมุมมองเดอะ คลาวล่ะ?

“สำหรับผม มันไม่ต้องเป็นอะไรที่เยอะมากก็ได้ มันไม่ต้องเขี๊ยวเขียวขนาดนั้น มันอาจจะเป็นแค่อะไรง่ายๆ เช่น เรื่องของอาหาร แทนที่คุณจะขนส่งนู่นนี่ใช้โลจิสติกก็เปลี่ยนมาใช้ของในท้องที่ที่ลดการขนส่ง แล้วเรามาปรุง มาออกแบบให้อร่อยเท่าที่มาตรฐานควรจะเป็นก็พอ

ผมมองว่าเรื่องของวิธีคิดมันเป็นเรื่องของรอบตัวที่เราทำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องยากมากมาย แต่อยากให้มันอยู่ในเราทุกคน ทั้งวิธีคิด การขนส่ง การท่องเที่ยวชุมชนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมก็ได้ ผมว่ามันดีไซน์ได้หมดเลย” 

นอกจากอธิบายวิธีคิดก่อนจะเป็นงานนี้ พี่ช้างยังชวนให้เราดู Key Visual ที่อธิบาย ‘ความยั่งยืน’ ในแบบของเดอะ คลาว ให้เราเข้าใจได้ง่ายพอ ๆ กับคำพูด

“Key Visual ภาพงาน คือ ความกรีนที่ผมอยากให้เห็นว่ามันมีหลายเชด ทั้งในป่า เขา ทุ่งหญ้า นาข้าว ทะเล มันมีหลายเชดมาก แล้วแต่ซีนของแต่ละคน แล้วแต่จะดีไซน์ ทุกไลฟ์สไตล์มันกรีนได้หมด” 

“ทุกวันนี้การท่องเที่ยวมีหลายสำนึก เราอยากให้ทุกคนมีสำนึกด้านความยั่งยืนในทุก ๆ ที่ คืออยากให้เป็นมาตรฐานใหม่ที่คนเห็นด้วย ซึ่งต้องเป็นความยั่งยืนที่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจ รักโลกและอยู่รอดได้ในเชิงธุรกิจ”

ใช่ล่ะ สุดท้ายแล้วต้องตอบโจทย์กระแสโลก

ในวันที่ทั้งโลกกำลังพูดถึงความยั่งยืน พูดถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าคุณจะเป็นใครบนโลก คุณก็หนีเรื่องนี้ไม่ได้ อยู่ที่ว่าเกี่ยวข้องในบทบาทไหนเท่านั้นเอง และในมุมของ The Cloud ก็เชื่อว่า ถ้าเราเป็นปลายทางท่องเที่ยวที่สวยด้วยและยั่งยืนด้วยแล้ว ก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่หนักท่องเที่ยวจะไม่มาเยือน 

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อยากมีความรับผิดชอบต่อโลก ในฐานะคนที่สื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม หรือในฐานะคนชอบเที่ยวก็ตามแต่ บอกตามตรงว่าเราก็ยินดีและมีหวังกับการที่มีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย

เพราะความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องมีเชดเดียว และไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยากเกินไป

สำหรับพวกเขาแล้ว เขารู้และเข้าใจเต็มอกว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้สร้างกันได้ในวันเดียว ปีเดียว หากแต่ต้องใช้เวลาหลายปี และเขาก็ยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่ ‘รอได้’

“ถ้าย้อนกลับไปดูเรื่องกาแฟ กาแฟพึ่งปลูกในไทยมา 70-80 ปี ดังนั้น เราแทบไม่อยู่ในส่วนใดในประวัติศาสตร์กาแฟโลก แต่คำถามคือทำไมเราถึงทำให้งานกาแฟเป็นระดับโลก ให้แชมป์ระดับโลกมาเดินสวนกันได้? 

เริ่มจากหนึ่งมาจนถึงวันที่มีแชมป์โลกเป็นสิบคนมาเดินในงาน ผมว่าวันนี้มันกลายเป็นงานระดับโลกไปแล้ว สุดท้ายแล้ว ผมว่าเราก็ฝันใหญ่ระดับนั้นกับงานท่องเที่ยวเหมือนกัน”

“ผมแค่อยากให้ The Cloud เป็นพื้นที่ว่าง ๆ ให้คนได้มาเชื่อมถึงกันและร่วมพัฒนามันไปด้วยกัน”

เราเชื่อว่าเรื่องของการท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวสำหรับทุกคน เรื่องของความยั่งยืนก็เช่นกัน สำหรับใครที่สนใจก็อย่าลืมไปจอยที่งาน Amazing Green Fest 2024 จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ The Cloud กันได้ 

📌 15 – 18 สิงหาคม ปี 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. 

📌 พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน

📌 ภายในงานแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ Green Tourism / Green Business / Green Learning / Green Food / Green Playground / The Cloud Sharing Space


รายละเอียดเพิ่มเติม https://readthecloud.co/activity/amazing-green-fest-2024/

Credit

Chayanit S.

Related posts

เหนื่อยนัก ให้ธรรมชาติฮีลใจ

ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

แคดเมียม – สารเคมีอันตราย

สารโลหะหนักจำพวกเดียวกับปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

เสื้อผ้าชาวกะเหรี่ยงสวยจากธรรมชาติ เย็บด้วยกี่ ย้อมสีด้วยเปลือกไม้ ใช้ผ้าฝ้ายทุกผืน

เสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์สะท้อนวิถีชีวิตอันเป็นหนึ่งเดียวกับโลก ใช้วัตถุดิบและสีย้อมจากธรรมชาติ 100% รับประกันย่อยสลายได้เองทุกผืน