คุยกับ ‘สภาลมหายใจ เชียงใหม่’ เมื่อการแก้ปัญหาต้องทำทั้งปี ไม่ใช่โยนงบตอนฤดูฝุ่น - EnvironmanEnvironman

คุยกับ ‘สภาลมหายใจ เชียงใหม่’ เมื่อการแก้ปัญหาต้องทำทั้งปี ไม่ใช่โยนงบตอนฤดูฝุ่น

เปลี่ยนเสียงผู้คนยังไงให้กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง

ในช่วงหลายปีให้หลัง ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปัญหาที่ยิ่งรุนแรงมากขึ้นในเชียงใหม่ และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือการที่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานและยังขยายตัวกลายเป็น ‘ปัญหาข้ามพรมแดน’ 

เรื่องเลวร้ายที่อาจได้เห็นกันจนชินตาในช่วงต้นปีคือจังหวัด ‘เชียงใหม่’ มักขึ้นไปติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก ในรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2024 ที่ผ่านมายังระบุว่า ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย PM2.5 เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 4 เท่า และเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในปี 2024 มากที่สุดเท่ากับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายอยู่ที่ 91 เปรียบเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 597 มวน แม้คุณจะไม่ได้สูบจริงก็ตาม

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ แห่ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” คือหนึ่งในคนเชียงใหม่ที่แม้จะไม่ได้มีภูมิลำเนาเกิดระบุที่เชียงใหม่ แต่เขาก็อยู่อาศัยที่นี่มากว่าค่อนชีวิตและผูกพันกับที่นี่มากพอที่จะอยากเห็นเมืองแห่งนี้พัฒนาขึ้น และเห็นผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เรื่องฝุ่นนี่ไปคุยกับใครทุกคนเอาหมดเลย ไม่มีใครปฏิเสธเลย คือมันเห็นวิกฤตชัดจนทุกคนพร้อมช่วย เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่รวมคนง่ายมาก”

นี่คือสิ่งที่ชัชวาลย์เปิดประโยคให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการกระโดดเข้ามาแก้ปัญหาฝุ่น การเกิดขึ้นของสภาลมหายใจจึงเป็นการวางสถานะตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มกลาง สำหรับใครที่อยากแก้ปัญหาก็สามารถกระโดดเข้ามาร่วมมือกันได้ และที่สำคัญคือการมองว่าสื่งนี้คือการทำงานระยะยาว ทุกการดำเนินงานจึงต้องยั่งยืนในเชิงแก้ปัญหาและไม่ขัดต่อวิถีชีวิตผู้คน

“เรื่องฝุ่นนี่มันเหมือนกับ โห ต้องใช้พลังเยอะมาก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซับซ้อนเชื่อมหลายกระทรวง แล้วก็อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ํา”

ในปีแรกของสภาลมหายใจ มีการรวมตัวของกลุ่มศิลปินชื่อว่า Art For Air ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้น โดย ‘คามิน เลิศชัยประเสริฐ’ แกนนำศิลปินที่ช่วยระดมทุนชวนศิลปินไปขอภาพภาพวาดของศิลปินมาประมาณสัก 25 ท่าน มาจัดประมูลวันเดียวได้ 5 ล้านบาท ชัชวาลย์ก็ยังเล่าแบบติดขำว่า ตอนแรกเขาบอกกับคามินว่าจะทำเสื้อขายเพื่อมาเป็นทุนกันก็โดนถามกลับมาว่า กำไรตัวละ 50 บาทนี่ต้องขายกี่ตัวที่จะได้ทุนในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ? ก็เป็นโมเมนต์ที่ทำให้ชัชวาลย์เองถึงกับไปไม่เป็น แต่ก็ได้กลุ่มศิลปินเข้ามาช่วยกันระดมทุนจากการที่ให้ฟังเสวนาเรื่องปัญหาฝุ่นแล้วเอาไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมา

สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อรณรงค์และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีปัญหายาวนานเกินสิบปี โดยยึดถือแนวคิดหลักคือ ‘เรามีลมหายใจเดียวกัน’

การเดินหมากแผนยุทธศาสตร์ของสภาลมหายใจจึงกลายเป็นการทำตัวให้เหมือน ‘กระดาษกลาง’ ที่ให้ทุกคนมายื่นไม้ยื่นมือมีส่วนร่วมในสิ่งที่ตัวเองถนัด นอกจากบทบาทของภาครัฐเอง เหล่าบรรดาผู้ประกอบการในเชียงใหม่เองก็มาร่วมมือร่วมใจด้วย เพราะแน่นอนว่า หากเชียงใหม่ยังให้คุณภาพอากาศที่ดีไม่ได้ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเรื่องของการลงทุนเหมือนกัน ภาคธุรกิจในเชียงใหม่มีการรวมตัวกันเป็น ‘ เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เพื่อพยายามช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทั้งการรณรงค์ ลงพื้นที่ชุมชน สนับสนุนทุนให้ชุมชน เพื่อให้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง เช่น การทําระดมทุนจากสมาชิกของภาคธุรกิจเพื่อโครงการชุมชนปลอดการเผา หากชุมชนไหนควบคุมการเผาได้ก็จะมีงบให้ก้อนหนึ่งไปสนับสนุนชุมชน ส่วนผู้ประกอบการก็อาจจะเอาไปลดหย่อนภาษีได้เป็นการตอบแทน

ใครจะมา ใครจะไป แต่ประชาชนต้องไปต่อ

ส่วนสำคัญที่พวกเขาให้ความสำคัญคือ ‘การสร้างการมีส่วนร่วม’ ระหว่างท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งแม้จะดูเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนแต่ก็เป็นสิ่งที่ใหญ่ไม่น้อย และสิ่งที่สำคัญคือการให้คนที่รู้จักพื้นที่ดี อยู่ติดน้ำ ติดป่า ได้มีบทบาทในการพัฒนาและแก้ปัญหาในบ้านเกิด

เมื่อเป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่ การเข้าอกเข้าใจธรรมชาติของพื้นที่นั้น ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ชัชวาลย์ยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีโมเดลไหนที่จะสามารถนำมาวางปุ้ป ใช้ปั้ปได้กับทุกพื้นที่ หากแต่ต้องปรับให้เข้ากับบริบทพื้นที่นั้น ๆ ปัญหาหนึ่งที่เชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดเจอตลอดมาคือการที่ตำแหน่งบริหารอย่าง ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ นั้นมาจากการโยกย้ายแต่งตั้ง มิใช่การเลือกตั้งจากเสียงประชาชน อีกทั้งยังดูจะเป็น  “เก้าอี้รอเกษียณ” ในหลายวาระ ทำให้การทำงานขาดความต่อเนื่อง หากจะรอภาครัฐอย่างเดียวก็ดูจะต้องเป็นเรื่องที่ตั้งไข่ใหม่กันรอบแล้วรอบเล่า

“เราทำงานมา 5 ปี แล้ว เราเจอทั้งผู้ว่าฯ ที่มาจากสายท้องถิ่นที่เข้าใจและให้บทบาทท้องถิ่นช่วยกันเรียนรู้ดีมาก พวกเราก็เข้าไปเข้าไปช่วยทํางานเยอะ แต่อยู่แค่ 2 ปีก็เกษียณ พอเจอคนใหม่มาที่ไม่ค่อยเปิดช่องให้ประชาชน หรือหลายคนที่ส่งมาก็ผู้ว่าฯ อายุ 50 ปีขึ้นกันแล้ว เหมือนจะรู้กันว่าเชียงใหม่จะเป็น “เก้าอี้รอเกษียณ” สำหรับตำแหน่งผู้ว่าฯ หรืออีกอย่างคือ “เก้าอี้รอโต” สำหรับคนที่จะโตในตำแหน่งใหญ่ขึ้น เหมือนเขาเรียกมาที่นี่สักพักนึงแล้วก็เพื่อที่จะเอาตําแหน่งไปต่อ”

“ประชาชนเป็นคนที่เหนื่อยที่สุดเพราะเราไม่ย้ายไปไหน” 

“คือเราก็อยู่ของเราไปจนตาย เพราะงั้นเราก็ต้องมาวางแนวทางกันใหม่ให้มันเดินต่อได้ ก็ทำเป็นแผน 5 ปี ที่จะเป็นตัวที่การันตีว่าใครจะไปมาไม่รู้  แต่ขอให้ยึดแผนตัวนี้ไว้ ซึ่งอันนี้คนที่เป็นคนผลักดันหลักก็คือรองผู้ว่าฯ ที่ดูแลเรื่องนี้ แล้วก็ให้นักวิชาการ สถาบันนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยกัน”

“ในเชียงใหม่ทั้งหมด 210 ตําบล ก็จะมาดูว่าตําบลไหนวิกฤต โดยใช้ฐานว่ามีจุดความร้อน 200 จุดขึ้นไป ปรากฏว่ามีอยู่ 21 ตําบล ซึ่งมันเท่ากับว่าจาก 210 ตำบลมีแค่ 10% เองที่ไฟเยอะ อีก 80%  มีไฟน้อยมากน้อยกว่า 50 จุดด้วยซ้ำ ซึ่งพอเอราเห็นแบบนี้ก็สร้างกลยุทธ์ขึ้นมา คือทำงานกับ 21 ตำบลนั้น และให้ขวัญกําลังใจชุมชนอีก 80% ที่เหลือว่าคุณทําดีอยู่แล้ว ทางผู้ว่าฯ ก็มอบวุฒิบัตร มอบเกียรติบัตรให้ชุมชนไป” 

สำหรับการทำงานการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ตามหลักความจริงและแยกตามลักษณะแต่ละพื้นที่ การทำงานขอคณะทำงานระดับกลุ่มป่าในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่นั้นจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 โซน และอีก 1 พื้นที่ป่าพิเศษ โดยยึดโยงกับ 7 กลุ่มป่าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 1 อำเภออมก๋อย, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 2 อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอกัลยานิวัฒนา, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 3 ออบหลวง อำเภอฮอด-ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง , กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 4  ดอยสุเทพ ปุย-ออบขาน อำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง อำเภอสะเมิง, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 5 อำเภอสันทราย อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 6 ศรีลานนา อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง, กลุ่มพื้นที่ป่าที่ 7 ดอยหลวงเชียงดาว อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มพื้นที่ป่าพิเศษ คือพื้นที่ฝั่งหน้าดอยสุเทพ อำเภอเมือง และอำเภอแม่ริม โดยจะมีการจัดทำแผนร่วมกันระหว่างชาวบ้าน กํานัน ผู้ใหญ่ นายอําเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และทุก ๆ ภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ครบถ้วนมากที่สุด 

ฝุ่นเชียงใหม่ เริ่มแก้จากตรงไหนดี ?

นอกเหนือจากเรื่องปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน การแก้ไขปัญหาจากจุดเผาในจังหวัดเองก็เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน ชัชวาลย์สะท้อนให้เห็น ‘อคติ’ ที่ยังซ่อนอยู่ในนโยบายและการปฏิบัติที่กดทับกลุ่มชาติพันธุ์หรือเกษตรกร ซึ่งหากมองผิดตั้งแต่จุดแรกก็จะนำไปซึ่งนโยบายการแก้ไขที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงและไม่ยั่งยืนในระยะยาว

หนึ่งคือ อคติของข้อมูลที่มองว่าชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชิดป่าเป็นผู้ทำลาย เป็นผู้เผา แล้วก็มองว่าการเข้าไปจัดการชาวบ้านจะเป็นทางออกที่จบ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เมื่อในปัจจุบันมีข้อมูลวิชาการมากมายที่ระบุว่าฝุ่น PM 2.5 เหล่านี้ก็มีต้นตอหลักมาจากภาคคมนาคม โรงงาน อุตสาหกรรมจากภาคเกษตร หรือธุรกิจในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่เรารู้กัน เพียงแต่มายาคติในสังคมมักจะหล่อหลอมให้คนเรามุ่งเป้าไปที่กลุ่มชายขอบเพียงเท่านั้น

อันดับ 2 คือ ‘การแก้ปัญหาแบบไทย ๆ’ คําสั่งบนลงล่างที่รัฐมนตรีก็สั่งมาที่ผู้ว่าฯ แล้วผู้ว่าฯ ก็สั่งนายอําเภอ นายอําเภอก็สั่งกํานันผู้ใหญ่บ้าน สั่ง นายกฯ ต่อ แล้วสุดท้ายชาวบ้านก็จะถูกสั่งให้เข้าไปดับตามคำสั่งเท่านั้น ไม่เกิดการมีส่วนร่วมใด ๆ 

อันดับ 3 คือ การใช้คําว่า “ห้ามเผาเด็ดขาด” หรือนโยบาย Zero Burning ที่หากเผาแล้วจะถูกจับ แม้จะฟังดูน่าขัดใจในแว๊บแรกและงงสักหน่อย แต่ชัชวาลย์อธิบายว่าการห้ามเผานั้นไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่มีชุมชนอยู่ในป่า รวมถึงกลุ่มอาชีพเกษตรกร โดยเขามองว่าควรเปลี่ยนจาก Zero Burning เป็น Fire Management หรือการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่หากจำเป็นต้องเผาจริง ๆ จะต้องขออนุญาตผ่านระบบ และก็ต้องมาดูว่าทำยังไงที่จะให้อยู่ในขอบเขต 

อันดับสุดท้าย 4 คือ กฎหมายป้องกันภัยพิบัติที่ล้าหลัง ซึ่งออกมานานมากแล้วและเป็นกฎหมายเชิงรับ เช่น ถ้ามีไฟ ถ้ามีน้ําท่วมจึงประกาศภัยพิบัติ พอประกาศภัยพิบัติเสร็จถึงจะใช้งบ ใช้คน ใช้เครื่องจักรได้ ซึ่งกว่าทุกอย่างจะมา กว่าจะขออนุญาต แล้ว PM 2.5 อีก เป้นกรณีที่ต่างจากภัยอื่นคือบริบทมันต้องไปป้องกันไม่ให้มีจุดกําเนิดไฟ แต่กลับกลายเป็นไปประกาศตอนมลพิษมันมาแล้ว

“ข้อเสนอของสภาลมหายใจนอกจากเรื่องพลังงานสะอาด เรื่องการเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวไปเป็นพืชยั่งยืนแล้ว ความมั่นคงในที่ดินทํากินก็ต้องปลดล็อก คุณไปประกาศป่าทับเขา ไม่ดูแลเขาอีก ในขณะที่รายได้ก็ไม่มี เศรษฐกิจก็ไม่ดี ลําบากเพิ่มไปอีก แล้วจะเรียกร้องให้เขาทํานู่นทํานี่ได้ยังไง” 

“อันถัดมาคือ ‘ระบบสาธารณสุข’ ที่ผ่านมาคือ ประชาชนทั้งหมดต้องซื้อหน้ากากกันฝุ่นเอง ต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศเอง ตอนนี้ถ้าไปถามคนเชียงใหม่ คนที่อยู่ในเมืองนะ ส่วนใหญ่ก็ต้องมีห้องละเครื่อง ต้องพึ่งตนเอง จ่ายเองหมดทั้งนั้น ที่สำคัญคือถ้าป่วยขึ้นมาก็ต้องรักษาตัวเอง เสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้นไปอีก เราก็เลยยิ่งรณรงค์ว่า ‘คนเหนือต้องได้รับการตรวจปอด’ เพราะว่าภาคเหนือเป็นภาคที่เสี่ยงที่สุดจากสถานการณ์ที่อยู่ในดงฝุ่นตลอดเวลาทุกปี”

“สุดท้ายเรื่องสำคัญที่สุดเราก็มองว่ามันต้องกระจายอํานาจ ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือรัฐรวมศูนย์อยู่ตรงกลาง อะไรก็ต้องรอตรงกลาง บางทีเนี่ยเชียงใหม่ทําแผนกันซะดีเลย พอมีปัญหาตรงกลางก็สั่งให้หยุด ซึ่งอันนี้มันไม่เวิร์ค คุณอยู่ไกลมากแล้วคุณไม่รู้เรื่องอะไรเลยแต่มีอํานาจเยอะ ในขณะที่เราคุยกันมาทุกปี สรุปบทเรียนกันทุกปี เราเรียนรู้กันเยอะมาก แต่เราอํานาจน้อยมาก ซึ่งก็เสนอว่าต้องกระจายอํานาจมาให้ชุมชน ให้ท้องถิ่น ให้จังหวัดที่จะบริหารจัดการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง เราเลยเสนอให้มีองค์กรคล้าย ๆ องค์กรประชาชนแบบสภาลมหายใจในทุกจังหวัด เพราะว่าเรารู้สึกว่า พอประชาชนรวมตัวกันแล้วเสียงมันจะดังขึ้น รัฐตื่นตัวมากขึ้น แล้วมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการทํางานได้”

แล้วได้เห็นอะไรจากการเกิดขึ้นของสภาลมหายใจบ้าง?

“ความตระหนักรู้คือสิ่งที่สําคัญที่เราเห็นมากที่สุดเลย”  

“การตื่นตัวของประชาชนคนเชียงใหม่ที่รับรู้ข้อมูลมากขึ้น เมื่อก่อนมันเป็นการฟังอย่างเดียวแล้วก็เหมือนกับเชื่อตาม ๆ กัน ซึ่งหลายเรื่องมันซับซ้อนนะ เราทํางานมา 40 ปี เราได้เรียนรู้เยอะมากในช่วงที่ทํางานมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เรื่องกระบวนการที่จะไปแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ การเรียนรู้ข้อมูล จนเราเข้าใจว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาร่วมกันจากหลายฝ่ายเนี่ย เราต้องมามีข้อมูลชุดเดียวกันแล้ววิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน มองสถานการณ์ร่วมกัน ใช้คําว่า ‘ต้องมาเห็นช้างทั้งตัวร่วมกัน’ ให้ได้

กระดุมเม็ดที่ 2 คือ มาเห็นดาวดวงเดียวกัน ที่ผ่านมามันไม่มีดาวหรือมีก็คนละดวง ไปคนละทิศคนละทาง 

อันที่ 3 ต่อมาก็คือต้องมีแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน 

และสุดท้ายก็คือต้องแบ่งบทบาทกันตามศักยภาพ เพราะว่าในการทํางานเนี่ย เราจะเห็นเลยว่าระบบราชการติดขัดไปหมด ระเบียบกฎหมายเยอะแยะมาก แต่กลับมีอํานาจ มีคน มีงบ ส่วนธุรกิจมีเงินก็จริง แต่ก็มีข้อจํากัดว่าอะไรที่เสียประโยชน์มาก ๆ เขาก็ไม่เอา หรือเจ้าหน้าที่วิชาการก็จะมีความรู้เยอะ แต่สื่อสารกับชาวบ้านไม่ได้ อย่างภาคประชาสังคมเราก็รู้เรื่องเยอะแยะไปหมดเลย แต่ไม่มีเงิน ไม่มีอํานาจ อะไรแบบนี้ มันก็จะมีข้อจํากัด เราก็ต้องมาแบ่งงานกันตามศักยภาพ มาสนับสนุนกันแต่ละส่วนแล้ววางแผนตามระยะ แล้วเมื่อปฏิบัติการร่วมกันแล้วต้องมาสรุปบทเรียนร่วมกัน” 

“อีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนคือ มันมีการเรียนรู้กันมากขึ้นระหว่างคนในเมืองกับชาวบ้านชาวชาติพันธุ์  เมื่อก่อนเนี่ยก็จะมีเสียงด่าระหว่างคนในเมืองกับชาวบ้าน แต่ตอนนี้ก็เริ่มคลายมากขึ้น ไอ้อคตินี้มันก็ยังอยู่ในสังคมไทยแต่ก็ดีขึ้น และราชการเองเราเห็นเขาก็มีการเปลี่ยนแปลง คือหมายถึงว่าเปิดมากขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการเข้าร่วมทําแผน ทําการขับเคลื่อน ก็ถือว่าเป็นเหมือนกับแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมทุกภาค” 

“สิ่งที่ตอนนี้ประชาชนเชียงใหม่พยายามจะผลักดันก็คือเรื่อง พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ซึ่งเราก็หวังว่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งให้เราได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และในนี้มันจะมีเรื่องสภาพลเมืองที่ระบุว่าประชาชนคนเชียงใหม่โดยตรงที่จะมีส่วนร่วมกันกําหนดแผนพัฒนาเชียงใหม่ มาตรวจสอบถ่วงดุลผู้แทนของตัวเองได้ ภาคประชาชนมีบทมากขึ้น และมีการเก็บภาษีเองโดยส่งให้ส่วนกลางที่สัดส่วน 30% และใช้บริหารตัวเอง 70% เราอยากได้ผู้แทนที่เป็นคนอยู่ที่นี่ เข้าใจปัญหาที่นี่ แล้วก็เป็นปากเป็นเสียงเป็นตัวแทนของคนที่นี่ได้จริง ตอนนี้ทุกทุกฝ่ายเริ่มตื่นตัวแล้ว เราเชื่อว่าเชียงใหม่น่าจะมีความพร้อมในการบริหารจัดการตัวเองพอสมควรด้วยต้นทุนที่มีอยู่ ถ้ามันมีการกระจายอํานาจอย่างเต็มที่และเรามีงบประมาณเพียงพอ เชียงใหม่จะสามารถบริหารตัวเองให้มีความสุขได้”

ถ้าคนที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วอยากจะมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องแก้ปัญหามลพิษฝุ่น อยากส่งเสียงอะไรถึงพวกเขา?

“อยากให้ติดตามข้อมูลข่าวสารปัญหามลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคุณภาพอากาศ ซึ่งตอนนี้เทคโนโลยีมันเร็วมาก เข้าไปที่แอปพลิเคชันก็เจอเยอะแยะไปหมดเลย อย่างน้อย ๆ ติดตามข่าวไว้ก็ช่วยให้เรากําหนดชีวิตเราให้ปลอดภัย ช่วยให้เราตระหนักและก็ป้องกันตัวเองได้ และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทุกคนช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่นควัน ลดมลพิษ ลดการทําลายสิ่งแวดล้อมในแบบที่เราทําได้ภายใต้เงื่อนไขของตัวเอง เรื่องพวกนี้ทําเลย เดินบ้างถ้าไม่ไกล จักรยานบ้างก็ได้ หรือว่าเปลี่ยนพลังงานให้มันสะอาดมากขึ้น ดูแลขยะ ปลูกต้นไม้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราน่าจะทําได้ง่าย ๆ

สุดท้าย การรวมตัวกันหรือมาสนับสนุนองค์กรที่กําลังขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ ทั้งฝุ่นควันน้ําท่วมภัยพิบัติ การดูแลป่า แม่น้ํา การพัฒนาพื้นที่สีเขียว ลดคาร์บอนอะไรต่าง ๆ ยิ่งเรามารวมกันเป็นองค์กรมันก็จะยิ่งมีพลังมากขึ้น ยิ่งประชาชนร่วมมือกันมากขึ้น มันจะทําให้องคาพยพอื่น ๆ เปลี่ยนไปด้วย รัฐก็เปลี่ยน ทุกฝ่ายก็จะเริ่มเปลี่ยนไปด้วย สุดท้ายอยากให้พวกเราร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะ ผลักดันกฎหมายที่ดีที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในในเชิงโครงสร้างระยะยาวให้เกิดขึ้นให้ได้”

“ทุกวันนี้ เรายังทําด้วยความสุขที่อยากจะเห็นบ้านเราดีขึ้น จังหวัดเราดีขึ้น สังคมไทยเราดีขึ้นนะ 

อืม… ก็ยังมีความหวังอยู่

สังคมเรายังต้องการความหวังของทุก ๆ คนเสมอ”

Credit

Chayanit S.

เป็นคนกรุงเทพฯ ชอบเดินเที่ยวเมือง ฟังเพลงซ้ำ ๆ นั่งโง่ ๆ ดูคนคนใช้ชีวิต :-)