ตั้งคำถาม-เลิกรอ-ลงมือทำ !
เมื่อไหร่โลกจะหายร้อน? เมื่อไหร่บ้านเมืองจะสะอาด? เมื่อไหร่ขยะจะถูกนำไปรีไซเคิลมากกว่านี้? เมื่อไหร่…? เราเชื่อว่าหลายคนก็มีคำถามเหล่านี้ในหัวมากมาย ซึ่งจริง ๆ ไม่ผิดเลย และมันดีด้วยซ้ำ เพราะคำถามสามารถนำไปสู่การหาความจริง การลงมือทำแก้ไขปัญหา การชักชวน และการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ !
อย่างในโฆษณาของกรุงศรี ออโต้ แบรนด์สินเชื่อยานยนต์ ที่สนับสนุนให้ทุกคนก้าวออกไปทำตามเป้าหมายนี้ เขาก็อยากชวนทุกคนให้ #เลิกรอ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ตั้งคำถาม แล้วลงมือทำเลย
วันนี้เราเลยอยากจะเอาไอเดียนี้จากในโฆษณาของกรุงศรี ออโต้ มาย่อยออกมาให้ทุกคนเห็นว่าคำว่า #เลิกรอ สามารถนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแค่เราเริ่มด้วยการ “ตั้งคำถาม” เป็นแอคชั่นแรกก่อน แล้ว “เลิกรอ” และ “ลงมือทำ” เพื่อให้เราเข้าใจถึงปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้น
Step 1: ตั้งคำถาม
“เมื่อไหร่โลกจะหายร้อน?” เมื่อคำถามนี้ผุดขึ้นมา เราก็อยากจะชวนทุกคนตั้งคำถามเพิ่มอีกหนึ่งคำถาม “รู้ไหม… ทำไมโลกร้อน?” เพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของภาวะโลกรวนที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ (โดยพยายามเล่าให้สั้นสุด)
คือปกติโลกเรามีภาวะเรือนกระจกเหมือนเป็นโดมครอบโลก ที่ช่วยกักเก็บพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ รักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ทำให้โลกอบอุ่น แต่ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มนุษย์เราเริ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นจากกิจกรรมการเผาไหม้เชื้งเพลิงฟอสซิลมาผลิตไฟฟ้า มาใช้ในการคมนาคม และขับเคลื่อนเครื่องจักร และอีกมากมาย อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก็มีก๊าซกระจกอื่น ๆ อีก เช่น ก๊าซในกลุ่มไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ก๊าซในกลุ่มเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จากกิจกรรมอื่น ๆ
พอก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมามากขึ้น มันก็ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกเรากักเก็บพลังงานความร้อนได้มากขึ้น จนเริ่มร้อนไป นักวิทยาศาสตร์เห็นความสัมพันธ์ของอุณหภูมิกับก๊าซเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 1990 หลังจากนั้น ก็เลยมีการลงนามต่าง ๆ เช่น ความตกลงปารีส ที่หลายประเทศมาตกลงกันเพื่อร่วมมือลดก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิด และช่วยกันไม่ให้อุณหภูมิโลกไม่ขึ้นสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (ตอนนี้อุณหภูมิขึ้นมา 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว)
นี่เลยเป็นสาเหตุที่โลกเรามีอุณหภูมิที่สูงขึ้น หลายคนเลยเรียกว่าภาวะโลกร้อน แต่จริง ๆ มันคือภาวะโลกรวนเลยก็ว่าได้ เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็ทำสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ทำให้รูปแบบการเกิดฝนในบางพื้นที่เปลี่ยนไป ความแห้งแล้งบางพื้นที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น อาจทำให้ไฟป่าหรือภัยพิบัติจากภัยแล้งที่ปกติก็มีอยู่แล้วเกิดขึ้นถี่ขึ้นได้ อาหารการกินของคนบนโลกมีปัญหา หรือบางพื้นที่อากาศร้อนขึ้น น้ำทะเลอุ่นขึ้น ทำให้เกิดพายุหมุนแขตร้อนถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น หรือน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น จนระดับน้ำทะเลโลกสูงก่อภัยคุกคามให้หลายเมืองทั่วโลก
ที่กล่าวมาเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ผลกระทบจากโลกที่ร้อนขึ้นมีมากกว่านี้อีก นี่เลยนำมาซึ่งอีกหนึ่งคำถาม “แล้วใครจะได้รับผลกระทบ?” คำตอบคือ ทุกคนที่อยู่บนโลก ตอนนี้หลายหน่วยงานเลยเริ่มรณรงค์เรียกร้องให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมกันลงมือทำเพื่อโลก เพื่อตัวเราเอง และเพื่อรุนลูกรุ่นหลานของพวกเรา!
Step 2: เลิกรอ ! ลงมือทำ
จากปัญหาทั้งปวงที่เรากำลังจะเจอจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ที่เราได้จากการตั้งคำถามและหาคำตอบ ขั้นตอนต่อไปก็คือ… การ #เลิกรอ และลงมือทำ
เราจะทำอะไรเพื่อกอบกู้สถานการณ์ภาวะโลกรวนได้บ้าง? จริง ๆ มีหลากหลายเลย เราต้องดูว่าก๊าซเรือนกระจกมาจากกิจกรรมใดของเรา หลังจากนั้นก็พยายามอุดรู ลดการปล่อยก๊าซเหล่านั้น หรือดูดซับเอาก๊าซเรือนกระจกกลับคืนมา
นั่นเลยเป็นที่มาที่ว่า ทำไมเวลาทำกิจกรรมเพื่อโลก หลายคนจะนึกถึงการ #ปลูกต้นไม้ นั่นเป็นเพราะว่า พื้นที่ป่าไม้และมหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนเอาไว้ได้ และช่วยรักษาสมดุลของก๊าซคาร์บอนในอากาศ
หรืออีกอย่างที่คนเริ่มหันมาสนใจมากขึ้นคือเรื่องของการกิน อาหารที่เรากินสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยไม่เท่ากันขึ้นกับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อาหาร ปัจจุบันเลยมีการชวนให้ทุกคนหันมา #กินผักให้มากขึ้น เพราะการทำฟาร์มปศุสัตว์ก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ ตั้งแต่ก๊าซมีเทนในฟาร์มจากตัวสัตว์ ไปจนถึงการขนส่ง แปรรูป และการปรุงอาหาร ปัจจุบันเลยมีเทรนด์อาหาร Plant-based อาหารจากพืช หรืออาหารทางเลือกอื่น ๆ เช่น อาหารจากในห้องแล็ป และอาหารจากแมลง มาเป็นทางเลือกใหม่ สำหรับคนที่อยากลดก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่การ #กินเกลี้ยงจาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากขยะอาหารด้วย
#ลดสร้างขยะเน้นใช้ซ้ำ อันนี้ก็ลงมือทำได้เลย เพราะสิ่งที่เราใช้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างการผลิตทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าเราเน้นซ้ำ ก็เป็นการลดการปล่อยก๊าซได้ นี่เลยเป็นที่มาของเทรนด์ #wearวนไป ที่ให้เราเน้นใส่เสื้อผ้าที่เรามีวนไป ลดการกระตุ้นการผลิตเสื้อผ้าใหม่ด้วย และที่สำคัญ การใช้ซ้ำจะนำมาซึ่ง #การลดขยะ ปัญหาขยะไม่ได้เพียงแค่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทัศนีย์ภาพ และเป็นอันตรายต่อสัตว์ ตอนที่เรากำจัดขยะ ขยะก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เช่น ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการนำขยะไปฝังกลบ ก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากน้ำเสีย หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาขยะที่มีคาร์บอน (เช่น พลาสติก และวัตถุสิ่งทอสังเคราะห์)
STEP 3: ทำให้ยั่งยืน
ถ้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลง บางทีอาจทำได้เลยอย่างรวดเร็วตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของเราเอง แต่เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้างก็ควรทำต่อให้เกิดความยั่งยืนด้วย แล้วจะยั่งยืนได้อย่างไร? คำตอบคือ อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
เราคนตัวเล็ก ๆ ในฐานะประชาชนผู้บริโภค ก็สามารถ #เลิกรอ ช่วยลดก๊าซได้ตัวตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมใช้ขนส่งสาธารณะ ปิดไฟ ใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น หรือวิธีที่บอกไปในรูปก่อนหน้า และอีกมากมาย ส่วนเราในฐานะเจ้าของกิจการ หรือภาคเอกชน ก็สามารถคิดค้นทางเลือกใหม่ที่จะลดการปล่อยก๊าซจากภาคการผลิตได้ หรือช่วยหาวิธี ส่งเสริมกิจกรรมที่จะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกคืนมา ส่วนภาครัฐก็เป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญ ที่จะร่วมมือกับประชาชนและเอกชน ออกนโยบาย กฎหมายที่เข้มงวด และเอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละภาคส่วนด้วย
เพราะสุดท้าย ปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกรวนก็ไม่ #เลิกรอ เช่นกัน ดังนั้น เราทุกคนคงจะต้อง #เลิกรอ รีบแก้ปัญหากันตอนนี้ ก่อนที่จะต้องมาจ่ายค่าสูญเสียในภายหลัง ซึ่งอาจราคาสูงกว่าค่าการแก้ไขในตอนนี้ก็เป็นได้