พื้นที่ป่าไม้ไทยที่หายไป อาจไม่ใช่เพราะ Climate Change อีกต่อไป - EnvironmanEnvironman

พื้นที่ป่าไม้ไทยที่หายไป อาจไม่ใช่เพราะ Climate Change อีกต่อไป

การใช้สอยพื้นที่ อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง แต่ไทยยังคงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้สมดุล อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศ

จากข้อมูลสถิติสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2566 ของกรมป่าไม้ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่า 317,819 ไร่ (ใกล้เคียงกับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต) 

  • พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้น้อยที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 91.86 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.002 ของพื้นที่จังหวัด
  • แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 6,655,500.77 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 83.42 ของพื้นที่จังหวัด
  • นนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง ยังคงเป็นจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2551

แล้วพื้นที่ป่าไม้คืออะไร? ตามคำนิยามของกรมป่าไม้ ‘พื้นที่ป่าไม้’ หมายถึง พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่า เป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม

ความสำคัญของพื้นที่ป่าไม้

พื้นที่ป่าไม้ถือว่ามีความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะก่อให้เกิดระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงวัฏจักรน้ำและแหล่งน้ำ สร้างการหมุนเวียนพลังงานในระบบนิเวศ อีกทั้งป่าไม้ยังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ ดูดซับฝุ่นละอองและก๊าซเรือนกระจก

เปลี่ยนจากพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ใช้สอย 

ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ยังคงมีแนวโน้มลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าไม้ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงปัญหาไฟป่าก็นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง

นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐที่ต้องการเร่งรัดพัฒนาประเทศในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ทั้งยังแผนพัฒนาทางด้านคมนาคมเพื่อสร้างถนนหรือระบบขนส่ง ก็เอื้อให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น 

เป้าหมาย 40% 

เมื่อปี พ.ศ. 2562 ร่าง ‘นโยบายป่าไม้แห่งชาติ’ ได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีใจความสำคัญ คือ ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้สมดุล อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็น 

✔️ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 

✔️ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่าทั่วประเทศ 31.47% ยังขาดอีก 26 ล้านไร่ จะบรรลุเป้าหมาย 40% ตามแผนนโยบาย แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ประเทศไทยในทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่โล่งกว้างแล้ว หลายพื้นที่มีคนอยู่อาศัยหรือเป็นเขตชุมชน การนำต้นไม้ไปปลูกเพื่อหวังเพิ่มพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ให้มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นไปได้ยาก

สิ่งที่เราทำได้ คือ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในชุมชน เพราะป่าล้วน ๆ เพิ่มได้ยากแล้ว ต้องเชื่อมคนกับป่าเข้าด้วยกัน 

ความคืบหน้าล่าสุด

โดยเป็นแผนระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ทว่า ปัจจุบันร่างนโยบายดังกล่าว ยังคงไม่มีการประกาศใช้ แต่ทาง ครม. ชุดปัจจุบัน (รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน) ได้รับทราบและขอให้มีการทบทวนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว (เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 67)

เรายังต้องติดตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์สภาพพื้นที่ป่าไม้ในไทยยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากมีแนวโน้มลดลง ผนวกกับสถานการณ์ Climate Change ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในพื้นที่จังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้หรือมีน้อย เช่น น้ำท่วมที่รุนแรงกว่าปกติ ภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดู อุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้น และฝุ่นควันจำนวนมาก

อ้างอิง :

https://forestinfo.forest.go.th/Content/file/policy/national_forest_policy.pdf

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/ratthapirak/article/download/58143/48040/135784

https://data.forest.go.th/dataset/46cf6f8b-dee3-42d8-9c38-02690af49cc0/resource/ee4c7d19-b699-445c-9c6a-5552e99fefa7/download/areaforest2556-2566.xlsx

https://forestinfo.forest.go.th/Content/file/stat2565/Forest_Area_2565_Executive_Summary_TH/Forest_Area_2565_Executive_Summary_TH.pdf

https://forestinfo.forest.go.th/Content.aspx?id=80

https://forestinfo.forest.go.th/Content/file/policy/national_forest_policy.pdf

Credit

uniPoP

Related posts

ดิน ทราย และโคลนเปื้อน ๆ ดีต่อสุขภาพของเด็ก

การให้เด็ก ๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ เล่นดิน เล่นทราย ลุยโคลน อยู่กับต้นไม้บางครั้งบางคราวช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและดีต่อสุขภาพภายใน 1 เดือน

พา ‘ต้นไม้ของเรา’ สู่ตลาด เพิ่มช่องทางซื้อ – ขาย สร้างรายได้แก่เกษตรกร

อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมอาชีพ และคืนความสมบูรณ์ให้ป่าของชุมชน อ.สันติสุข จ.น่าน

สารคดี ‘Lost in Mekong’ กับจิตวิญญาณแห่งแม่โขงที่กำลังจางหาย 

การเข้ามาของเขื่อนไฟฟ้าที่กระทบทุกสรรพสิ่ง

สโลว์ไลฟ์ : ให้ธรรมชาติช่วยให้ชีวิตคุณช้าลง

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบ พื้นที่สีเขียวจะช่วยให้คุณมีเวลาที่สมดุลมากขึ้น