Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

No cookies to display.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

No cookies to display.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

No cookies to display.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

No cookies to display.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

No cookies to display.

ไก่บนบานรักษ์โลก สตาร์ทอัพเมืองคอนที่อยากแก้ปัญหาของแก้บนล้นวัดเจดีย์(ไอ้ไข่)

ก.เอ๋ย ก.ไก่ ย่อยสลายได้ แก้บนได้แบบไม่กระทบศรัทธา ไม่ทำร้ายโลก

เมื่อพูดถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อว่าหนึ่งในสถานที่ที่สายมูเตลูหลายคนน่าจะเคยแวะไปเยือนนั่นก็คือ วัดเจดีย์(ไอ้ไข่) อ.สิชล วัดขึ้นชื่อในจังหวัดที่ผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวกราบไหว้กันเป็นหนาตา บางคนก็อาจมาเพื่อขอพรเป็นสิริมงคลนิดหน่อยตามโอกาส หรือบางคนหากมีเรื่องหนักใจ ต้องการจะมีที่พึ่งทางใจสักหน่อยก็อาจทำการบนบานให้ได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้ 

หมู-ถากูร เชาว์ภาษี ผู้ก่อตั้งไก่บนบานรักษ์โลกเล่าว่า การเกิดขึ้นของไอเดียนั้นริเริ่มมาจากการที่เขาเห็นว่าวัดเจดีย์(ไอ้ไข่) ในจังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเกิดของเขาแห่งนี้ ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องพื้นที่วัดเต็มไปด้วยของแก้บนอย่าง ‘ไก่ปูน’ ที่คนนำมาถวายขอบคุณ แก้บน ‘ไอ้ไข่’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขานับถือ 

ตุ๊กตาไก่แก้บนที่ว่านั้น หากมีคนนำมาถวายเพียงคนสองคนก็คงจะไม่ใช่ปัญหาหนักอะไร แต่นานวันเข้า จากหลักสิบก็เพิ่มเป็นหลักร้อย ร้อยหลักเป็นหลักพัน กลายเป็นหลักหมื่น หลักแสนตัว จนทำให้พื้นที่ในวัดไม่เพียงพอและมีการไปเช่าพื้นที่ชุมชนรอบด้านขยายออกไปเพื่อใช้เก็บตุ๊กตาปูนปั้นไก่เหล่านี้

“ตอนแรกเค้าไปวางเรียบร้อยเลย แล้วก็หลัง ๆ มันเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ มันก็เลยแบบเป็นกองภูเขา โดยเฉพาะตัวเล็ก ๆ มันค่อนข้างจัดการยาก เพราะมันแตกหักได้ง่าย แล้วเราคิดว่าไอ้พื้นที่ที่วางไก่นั้นน่ะ เราสามารถไปใช้ประโยชน์อื่นอื่นได้อีกเยอะแทนที่ว่าจะมาวางแค่ไก่อย่างเดียว

เราเห็นว่าพอไก่มันมีจํานวนเยอะ วัดก็ต้องใช้วิธีการซื้อพื้นที่เพื่อมาวางไก่ ซึ่งเราว่ามันเป็นทางออกที่ไม่ค่อยถูกต้อง เราคิดว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราก็เลยมาดูว่า เออ ทํายังไงให้แก้ปัญหาจุดนี้ได้โดยที่ไม่เสียศรัทธาและไม่เสียสมดุล”

ภาพ: BonBan บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก/FB

ของแก้บนรักษ์โลกที่ย่อยสลายได้ ไม่สร้างขยะให้โลก

แล้วเราจะจัดการปัญหานี้ยังไงดี? คุณหมูได้เลือกที่จะหยิบเอาวิชาออกแบบที่ร่ำเรียนมา มาใช้แก้ปัญหาและต่อยอดธุรกิจตรงนี้ ด้วยตัวคุณหมูเองจบจากสาขาออกแบบอุตสาหรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ และแฟนของเขาก็จบด้านการออกแบบคาแรคเตอร์ดีไซน์ เมื่อทั้งสองมาผนึกกำลังกันก็โป๊ะเช๊ะ! เดินหน้าสู่การเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ที่วางแผนเอาไว้ว่า ‘ต้องเป็นของที่ไม่สร้างมลพิษและมีประโยชน์หลังจากการแก้บนเสร็จ’

ไก่บนบานรักษ์โลกที่ว่านี้คือผลิตภัณฑ์ของแก้บนทางเลือกที่ทางแบรนด์ผลิตออกมาเพื่อตั้งใจจะแก้ปัญหากองไก่ปูนที่เยอะขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่คนมาแก้บน โดยที่ไก่เหล่านั้นไม่สามารถนำไปวนใช้ประโยชน์ได้ ด้วยเรื่องความเชื่อที่ว่าหากเอาของไป จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงนำเสนอไก่จากกระดาษรีไซเคิลเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้กับสายมูทั้งหลาย โดยโมเดลไก่นี้ทำมาจากรีไซเคิลและใส่เมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคลไว้ข้างใน ด้วยแนวคิดที่ไม่อยากให้มีขยะหลงเหลือ เมื่อกาลเวลาผ่านไปประกอบกับการผ่านร้อนผ่านฝน ไก่จากกระดาษรีไซเคิลก็จะยุ่ยเปื่อยไป และเมล้ดพันธุ์เหล่านั้นก็จะงอกเงยกลายเป็นต้นไม้ด้วย

ทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้มูทั้งหลาย

โจทย์หนึ่งที่คุณหมูยอมรับว่าต้องทำการบ้านเยอะมาก ๆ ก็คือการทำความเข้าใจความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งก็ต้องตีโจทย์ให้แตก โจทย์แรกคือทำอย่างไรไม่ให้ไปขัดกับความเชื่อเดิมและโจทย์ที่สองคือทำอย่างไรให้ความสบายใจในการมูนั้นยังคงอยู่ เพื่อให้คนอยากที่จะซื้อ

“ด้วยความที่เป็นคนคอน เราได้ยินชื่อพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ หลวงพ่อนวลเกจิอาจารย์ หรืออย่างจตุคามรามเทพ ไข่วัดเจดีย์ ฯลฯ เราอยู่ในหลายยุคของการมูเตลูในเมืองคอนเลยแหละ พอมาทำเรื่องการแก้บนไอไข่วัดเจดีย์ เราก็ต้องย้อนไปศึกษาการถวายของแก้บนเมื่อก่อนเพื่อให้เข้าใจได้ถูกต้อง ซึ่งเขาถวายไก่จริงกัน แต่ว่าด้วยถวายไก่จริงจนมันล้นวัด วิ่งกันไก่เต็มวัดเลย ก็เลยวิวัฒนาการมาเป็นไก่ปูน 

ซึ่งไก่ปูนเนี่ยเอาจริง ๆ มันก็ไม่ได้เหมือนจริงขนาดนั้น มันก็คือโมเดลจําลองขึ้นมาเหมือนกัน ก็เหมือนของเราแต่แค่มันเป็นอีกสไตล์หนึ่ง แล้วจริง ๆ ไก่ปูนก็เหมือนถูกออกแบบมาเพื่อไว้ประดับบ้านซะด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพื่อการแก้บนตั้งแต่แรก”

“อีกเรื่องที่คนถามเยอะคือการเป็นไก่ย่อยสลาย คนก็สงสัยว่าเดี๋ยวมันจะย่อยสลายไปใช่ไหม อยากให้มันคงอยู่ไว้ จับต้องได้ แต่เราก็จะอธิบายว่าสิ่งนี้มันก็เหมือนกับการถวาย เหมือนกับการเผากงเต๊กอ่ะครับ ถ้าเรามอบให้คนที่ล่วงลับไปแล้วและอยากให้เขาได้รับของพวกนั้น ก็ต้องให้มันสลายไป แต่ถ้ามันยังอยู่แปลว่ามันก็ยังอยู่ในโลกนี้ ก็เป็นเรื่องของความเชื่อในอีกมิติหนึ่งอีก แล้วแต่คน ซึ่งเราก็ต้องคอยพยายามให้ข้อมูลกับลูกค้า พอเขาเข้าใจมากขึ้น หลายคนก็ตัดสินใจซื้อโดยไม่มีคำถามอะไรเลย”

ที่ขาดไม่ได้คือการคงกิมมิคในการเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยความที่กลุ่มลูกค้าของไก่บนบานเห็นได้ชัดเจนว่าจะเป็นกลุ่มเจนวาย หรือกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว ไม่ใช่คนรุ่นใหม่วัยเรียน เพราะสังเกตได้ว่ากลุ่มคนที่เริ่มมีภาระ มีสิ่งต้องรับผิดชอบมากขึ้นในชีวิตก็จะเริ่มต้องการกำลังใจหรือที่พึ่งทางใจไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เช่น เริ่มสอบเข้า การสมัครงาน ฯลฯ การเริ่มมูเตลูก็เลยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจให้กับตัวเขาเอง หลาย ๆ คนก็มาขอเรื่องเงิน เรื่องการค้าขาย เขาก็ได้สำเร็จสมใจ ซึ่งคุณหมูเล่าว่ากิมมิคอย่างหนึ่งที่ตั้งใจใส่มาก็คือ ให้ไก่ทุกตัวมีเลข 3 ตัวให้ขูดที่ตรงฐานด้วย แต่ละตัวก็จะมีไม่เหมือนกัน เวลาลูกค้าซื้อไป ส่วนมากก็เอาไปเล่นลอตเตอรี่หาโชคกัน มีทักกลับมาบอกร้านให้ชื่นใจกันหลายคนเชียวล่ะ

ขายการออกแบบ-คุณค่าและประสบการณ์

อีกหนึ่งความท้าทายคือ ด้วยความที่ตัวไก่ปกติที่ขายกันก็ราคาค่อนข้างถูกอยู่แล้ว การจะกดต้นทุนให้ได้ต่ำลงเพื่อแข่งกับราคาจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ทั้งคู่จึงได้บทสรุปว่าผลิตภัณฑ์ไก่บนบานรักษ์โลกของนี้จะต้องฉีกออกไปให้มากกว่าการขายของแก้บน แต่จะต้องขายทั้งดีไซน์ที่สวยไม่ซ้ำใคร ขายประสบการณ์ ขายคุณค่าการแก้ปัญหาให้สังคมและรักษ์โลก

การออกแบบก็ไม่ใช่ว่าเริ่มมีไอเดียปุ๊ป แล้วจะเกิดเป็นแบรนด์ไก่บนบานปั๊ป คุณหมูเล่าให้ฟังว่าหลังจากช่วงที่ปิ๊งไอเดียก็เว้นไปหลายปี จนกระทั่งลองมาออกแบบเป็นโมเดลแสดงในงาน Bangkok Design Week เมื่อปี 2023 ที่ไปรษณีย์กลางบางรัก และได้รับฟีดแบคที่ดีและหลากหลายมาก จนทำให้เริ่มไปหาแหล่งทุนสนับสนุนพัฒนาตัวโปรดักเรื่อยมา จนออกวางขายเมื่อต้นปี 2024  

จากจุดเริ่มต้นในวันนั้นจนถึงวันนี้ ไก่บนบานไม่เพียงประสบความสำเร็จในการแก้ Pain point ลดขยะจากของแก้บนอย่างที่ทั้งสองคนตั้งใจ แต่พวกเขายังพิสูจน์ให้เห็นว่างานดีไซน์คนไทยเจ๋งไม่แพ้ชาติใดในโลก ไก่บนบานชนะเลิศรางวัล Demark 2024 หรือรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมของไทยในสาขาไลฟ์สไตล์ ที่มอบให้งานออกแบบที่สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของไทย จนในปัจจุบันไก่บนบานก็มีโอกาสได้เดินสายไปโชว์ผลงานและเปิดตลาดลูกค้าใหม่ ๆ ในต่างประเทศด้วย

ภาพ: BonBan บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก/FB

“เรามองว่าอยากให้ช่วยกันผลักดันงานดีไซน์ เปิดโอกาสให้นักออกแบบไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ผ่านผลิตภัณฑ์หรือว่าระบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น ใส่ใจในสิ่งที่นักออกแบบคิด ผมว่างานดีไซน์มันไม่ใช่สิ่งของอย่างเดียว แต่มันคือทุกอย่างเลย มันคือวิธีการคิดด้วย

รวมถึงคนไทย เราก็อยากให้สนับสนุนสินค้าไทยผ่านวิธีการคิดหรืองานฝีมือต่าง ๆ มากขึ้น เพราะจะได้ช่วยกันผลักดันให้มีผลงานใหม่ ๆ ที่แบบดีต่อโลก ดีต่อสังคมออกมามากขึ้น และทำให้ต่างชาติได้เห็นว่าเอ้ยของไทยมันดีจริงๆนะ คนไทยยังใช้เลย ไม่ใช่แบบเออ ของดีของคนไทยแต่ต่างชาติใช้อย่างเดียว”

ในเชิงธุรกิจล่ะ? จากตอนนั้นถึงตอนนี้ถือว่าสำเร็จตามคาดไหม?

“ตอนแรกเราก็ทำใจไว้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ใหม่แบบเรามันต้องใช้เวลาหน่อย ยิ่งเป็นของที่เฉพาะกลุ่มและมันไม่ได้เป็นภาพจําเดิมที่เขาเคยเห็น มันก็ต้องใช้เวลาในการที่จะอธิบายผลิตภัณฑ์ครับ ก็ค่อย ๆ ทํามาเรื่อย ๆ แล้วก็อดทนตั้งใจทำมาเรื่อย ๆ

ถึงตอนนี้ก็อาจจะยังไม่คุ้มทุน แต่ก็อยู่ในแผนที่เราวางไว้ว่าควรต้องใช้เวลาเท่าไหร่ มันไม่ได้แบบวางเดือนเดียวแล้วได้เลย ก็ต้องใช้เวลาทั้งการประชาสัมพันธ์เอย ประกวดเอย เพื่อให้มีรางวัลการันตี ได้รับการยอมรับมากขึ้น”

“สุดท้ายเราเห็นว่ามันมีกลุ่มคนที่เปลี่ยนใจมาอุดหนุนเราเยอะมาก เพราะมันมีตัวเลือกให้เขาเห็นเยอะขึ้น เขาก็ตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น เราเห็นว่าจิตใต้สำนึกของคนไทย คนยุคใหม่จริง ๆ ก็ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่เขาอยากทำบุญ เขาก็สามารถรักษ์โลกไปได้ด้วยเหมือนกัน”

Credit

Chayanit S.

เป็นคนกรุงเทพฯ ชอบเดินเที่ยวเมือง ฟังเพลงซ้ำ ๆ นั่งโง่ ๆ ดูคนคนใช้ชีวิต :-)