ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพงขึ้นในช่วงหน้าร้อน ?

หน้าร้อนเมื่อใด ค่าไฟขึ้นทุกที สิ่งนี้มันมีมูลมีเหตุมาจากอันใดกันเล่า

หน้าร้อนปีนี้เรียกได้ว่าค่าไฟขึ้นสูงจนมองไม่เห็นเพดานกันเลยทีเดียว เราเชื่อว่าหลาย ๆ บ้านก็คงหวั่นใจกับการได้รับใบแจ้งค่าไฟในแต่ละเดือนไม่ต่างกัน วันนี้เราเลยจะชวนมาดูวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าตัวเองในฉบับแบบง่าย ๆ เพื่อจะช่วยในการวางแผนค่าไฟ และหวังว่ามันจะช่วยให้เพื่อน ๆ ลดค่าไฟได้บ้าง มากไปกว่านั้นคือทำให้เพื่อน ๆ วางแผนในการใช้ไฟฟ้าต่อไปในอนาคตได้อย่างชำนาญมากยิ่งขึ้น

ทำไมค่าไฟถึงแพงในช่วงฤดูร้อน

เราเข้าใจว่าประเทศไทยมีแค่ฤดูร้อน ร้อนมาก และร้อนเรือหาย แต่โดยปกติเราจะสัมผัสถึงความร้อนแบบสุดขั้วหัวใจในช่วงเดือนมีนา-เมษา เฉกเช่นเดียวกันในปีนี้ที่ร้อนตับแตกเสียเหลือเกิน ทั้งนี้ก่อนที่เราจะเข้าไปสู่การคำนวนค่าไฟ อยากจะชวนให้เข้าใจสาเหตุที่ค่าทำไมค่าไฟถึงแพงขึ้นในช่วงอากาศร้อนแบบนี้ โดยเมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่าแต่ละหน้าร้อน มีปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟขึ้นแตกต่างกัน โดยในบางครั้งอาจเกิดจากการต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น แต่ในปีนี้เกิดมาจากผลพวงของอากาศที่ร้อนจากภาวะโลกรวน ส่งผลให้อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่ออากาศร้อนแบบนี้ เราจึงมักจะหนีร้อนไปพึ่งเย็นด้วยการเปิดแอร์ เมื่อเปิดแอร์บ่อย ๆ ก็ส่งผลให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้นไปด้วย

สมมติว่าปกติอุณหภูมิอยู่ที่ 36 องศา แต่เราต้องการอากาศ 25 องศา เราจึงให้ลดอุณหภูมิไป 11 องศา แล้วโดยเฉพาะในปีนี้ที่อุณหภูมิกลายเป็น 40 องศา แต่เราต้องการ 25 องศาเหมือนเดิม แอร์จึงต้องทำงานหนักขึ้นด้วยการลดอุณหภูมิถึง 15 องศา ต้องใช้หน่วยไฟเพิ่มขึ้นในการทำงาน ส่งให้ค่าไฟสูงขึ้นนั่นเอง

สำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนคิดค่าไฟ

เริ่มจากสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก่อนว่ามีอะไรบ้าง พัดลม โทรทัศน์ ไมโครเวฟ บลา บลา บลา … หลังจากนั้นให้สังเกตเครื่องใช้ไฟฟ้า ว่ามีการใช้กำลังไฟที่มีหน่วยเป็นวัตต์มากน้อยเพียงใด โดยเปรียบเทียบได้ว่ายิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังไฟ (วัตต์) มาก อัตราค่าไฟที่ออกมาก็จะมากตามไปด้วย ถ้ามีกำลังไฟ (วัตต์) น้อย อัตราค่าไฟที่ออกมาก็จะน้อยตามไปด้วย และปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าไฟอีกสิ่งคือจำนวนเวลาในการเปิดใช้งานเครื่องไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งนาทีและชั่วโมง

ถึงเวลาคิดค่าไฟ

เมื่อรวบรวมข้อมูลของทั้งสองส่วนนี้แล้วจะสามารถนำมาใส่ในสูตรสำเร็จนี้ได้

กำลังไฟฟ้า (วัตต์ ) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ÷ 1000 x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ใน 1 วัน = จำนวนหน่วยต่อวัน (หน่วย)

ตัวอย่างเช่น บ้านนายหมีน้อย มีเครื่องไฟฟ้าอยู่ทั้งหมด 2 ชนิดได้แก่ แอร์และทีวี

แอร์ มีกำลังไฟฟ้าคือ 1800 วัตต์ x มีทั้งหมด 2 เครื่อง ÷ 1000 x ใช้ทั้งหมด 8 ชั่วโมงต่อวัน

= 28.8 หน่วย/วัน (864 หน่วย/เดือน)

ทีวี มีกำลังไฟฟ้าคือ 300 วัตต์ x มีทั้งหมด 1 เครื่อง ÷ 1000 x ใช้ทั้งหมด 4 ชั่วโมงต่อวัน

= 1.2หน่วย/วัน (36 หน่วย/เดือน)

ดังนั้น บ้านนายหมีน้อยจะมีการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 864 + 36 = 900 หน่วยต่อเดือน แล้วนำตัวเลขหน่วยการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดต่อเดือนไปคำนวนต่อที่เว็บไซต์ของการไฟฟ้ามหานคร (MEA)

ซึ่งจะนำหน่วยไฟฟ้าไปแปลงค่ากับการคูณราคาต่อหน่วย รวมไปถึงค่าธรรมเนียมบริการอื่น ๆ เช่นค่าบริการ ค่าไฟฟ้าผันแปร และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบ โดยหลังจากการคำนวนผ่านทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้ามหานคร (MEA) สามารถสรุปได้ว่าบ้านนายหมีน้อย จะจ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนอยู่ที่ 4,441.45 บาท

แล้วเราจะลดค่าไฟอย่างไรได้บ้าง ?

ขอนำเสนอวิธีการลดค่าไฟด้วยการปรับวัตต์

วัตต์ (Watt) เป็นหน่วยในการวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยทั่วไปแล้วจะมีความคิดที่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้วัตต์สูงจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าวัตต์ต่ำ โดยประโยคนี้จะถูกต้องต่อเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ว่านั้นอยู่ในพวกเครื่องทำน้ำอุ่น แอร์ ตู้เย็น เครื่องทำความร้อน ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้ามากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้วัตต์สูง เช่นหลอดไฟ ถ้ามีค่าวัตต์ที่สูงกว่าความจำเป็นก็เป็นเพียงแค่การเพิ่มการใช้หน่วยไฟอย่างไม่จำเป็นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีลดค่าไฟที่สามารถนำไปใช้ได้คือการเก็บข้อมูลวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นในบ้าน และนำไปเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นกำลังใช้ไฟมากเกินความจำเป็นหรือไม่ และเปลี่ยนไปใช้เครื่องอื่น ๆ หรือลดการใช้แทน เพื่อปรับลดค่าไฟของบ้านตัวเองลง

ค่าไฟไม่เท่าเดิมเสมอไป

โดยแม้หน่วยไฟฟ้าจะถูกใช้ในปริมาณเท่าเดิม ค่าไฟฟ้าก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละเดือน เนื่องจากค่าไฟฟ้าผันแปร ที่จะเปลี่ยนขึ้นลงไปตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้า และยิ่งสูงขึ้นในช่วงนี้เนื่องจามีการขึ้นของน้ำมันอันเป็นผลกระทบจากสงคราม การผลิตแก๊สธรรมชาติในไทยได้น้อยลง การนำเข้าที่มากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องการคิดค่าไฟแบบขั้นบันได ที่จะเพิ่มราคาต่อหน่วยไฟฟ้าขึ้นเมื่อใช้เกินขั้นที่กำหนด

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

แคดเมียม – สารเคมีอันตราย

สารโลหะหนักจำพวกเดียวกับปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม

เกเลพู : ‘เมืองแห่งสติ’ ของภูฏานและอนาคตของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เมืองแห่งการฝึกสติแห่งใหม่ของภูฏาน ที่จะเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับการฝึกสติ สะท้อนให้เห็นการท่องเที่ยวของภูฏานที่หยั่งรากลึกในความเป็นอยู่ที่ดีท่ามกลางแวดล้อมธรรมชาติ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

สารคดี ‘Lost in Mekong’ กับจิตวิญญาณแห่งแม่โขงที่กำลังจางหาย 

การเข้ามาของเขื่อนไฟฟ้าที่กระทบทุกสรรพสิ่ง