ความตายที่เงียบงัน : ธรรมชาติกำลังสูญเสียเสียง และมันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล - EnvironmanEnvironman

ความตายที่เงียบงัน : ธรรมชาติกำลังสูญเสียเสียง และมันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

ธรรมชาติเงียบเสียงลงมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังสูญหายไป

‘ไม่มีเสียงนกร้อง ไม่มีเสียงน้ำตก ไม่มีเสียงเหยียบพื้นดิน และไม่มีเสียงกระพือปีก ธรรมชาติกำลังไร้เสียงมากขึ้น’ นี่เป็นคำเปรยจาก Bernie Krause นักบันทึกเสียงชาวอเมริกันที่คอยฟังเสียงกว่า 5,000 ชั่วโมงจาก 7 ทวีปในช่วง 55 ปีที่ผ่านมา และจากศาสตราจารย์ Bryan Pijanowski จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดูวที่ใช้เวลากว่า 40 ปีเพื่อฟังเสียงของระบบนิเวศต่าง ๆ

พวกเขากล่าวว่าเสียงของธรรมชาติกำลังเงียบลงอย่างรวดเร็ว และจะกลายเป็น ‘ฟอสซิลทางเสียง’ ซึ่งหมายความเสียงต่าง ๆ จะเหลืออยู่แค่ในบันทึกเท่านั้น ไม่มีให้ฟังจริงอีกต่อไป เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มลพิษสิ่งแวดล้อม และปัญหาอีกจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ

เสียงเหล่านี้ต่างเป็นตัวชี้วัดสุขภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทั้งป่า ดิน ภูเขา และมหาสมุทร สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนใครเหล่านี้ต่างสร้างเสียงที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และนักวิทยาศาสตร์ก็วิเคราะห์เสียงนั้นเพื่อดูว่าในแต่ละสถานที่เป็นอย่างไรบ้าง

น่าเศร้าที่เสียงอันคุ้นเคยหลายอย่างลดน้อยลงเรื่อย ๆ เช่นเสียงนกร้องยามเช้าที่ใครหลายคนในเมืองไม่ได้ยินมันอีกต่อไปแล้ว และจะกลายเป็นสิ่งที่รุ่นลูกหลานของเราไม่เคยฟัง รวมถึงเสียงสัตว์ร้องและขณะที่มันเดินเหยียบหญ้า ความเงียบงันกำลังปกคลุมไปทั่วทุกที่ เหลือไว้แค่เสียงจอแจจากมนุษย์เท่านั้น

“การเปลี่ยนแปลงนั้นลึกซึ้งมาก และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกที่”

Bernie Krause บอก เขาประเมินว่ากว่า 70% ของเสียงที่เคยได้ยินเมื่อ 30 ปีที่แล้วไม่มีอยู่อีกต่อไป ราวกับว่าระบบนิเวศเผยให้เห็น ‘ความตายที่เงียบงัน’ ของมันเอง

แม้แต่ในใต้น้ำก็ไม่รอด

ในการศึกษาเมื่อปี 2021 ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature ระบุว่าพื้นที่กว่า 200,000 แห่งทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือเงียบลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะ “การสูญเสียความหลากหลายทางเสียงและความเข้มข้นของภาพเสียง แพร่หลายไปทั่วทั้งสองทวีปในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงของความอุดมสมบูรณ์ของสายพันธุ์”

พร้อมกับเสริมว่า “หนึ่งในวิถีทางพื้นฐานที่มนุษย์มีส่วนร่วมกับธรรมชาตินั้นกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง และอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์” รวมถึงสถานที่ใต้มหาสมุทรด้วยเช่นกัน

ในช่วงสงครามเย็น กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ใช้ระบบเฝ้าระวังใต้น้ำเพื่อติดตามเรือดำน้ำฝ่ายโซเวียต และพบว่าแนวปะการังนั้นสร้างเสียงได้น่าสนใจมากเมื่อคลื่นจากโซนาร์เข้ากระทบ นักวิทยาศาสตร์พลเรือนสามารถเข้าถืงข้อมูลลับนี้ได้เมื่อปี 1990 ซึ่งทำให้ประหลาดใจอย่างยิ่ง

“เมื่อใดก็ตามที่เราไปแนวปะการังที่สมบูรณ์แข็งแรง มันทำให้เราทึ่งมาก เสียงต่าง ๆ ที่เราได้ยิน” ศาสตราจารย์ Steve Simpson ผู้เฝ้าติดตามแนวปะการังโดยใช้ไฮโดรโฟน(ไมโครโฟนใต้น้ำ)มานานกว่า 20 ปี กล่าว “แนวปะการังที่แข็งแรงคืองานรื่นเริงแห่งเสียง”

ธรรมชาติส่งเสียงร้องออกมาอย่างสดใส จนกระทั่งในปี 2015-2016 ที่เกิดเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ทำให้ประชากรปะการังเสียหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และเมื่อศาสตราจารย์ Simpson กลับไปฟังเสียงพวกมันอีกครั้ง ก็เหลือแค่เพียงความเงียบงันราวกับว่า “แนวปะการังร้องไห้ใส่หน้ากาก(ดำน้ำ)ของเรา”

หากใต้น้ำยังเสียหายขนาดนี้ แล้วบนบกจะยิ่งแย่แค่ไหน? Hildegard Westerkamp นักนิเวศวิทยาด้านเสียงชาวแคนาดา ได้บันทึกเสียงมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ กล่าวว่าประชากรสัตว์ป่ามีจำนวนลดลงโดยเฉลี่ยเกือบ 70% ทั่วโลก

“เสียงและความเงียบเหล่านี้พูดกลับมาหาเราเหมือนกระจก” เธอกล่าว ในการเริ่มต้นโครงการ ‘World Soundscape’ ที่พยายามบันทึกเสียงในระบบนิเวศต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดเมื่อปี 1973 ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องตระหนัก ว่าปัญหาเหล่านี้น่ากังวลมากแค่ไหน

ข้อมูลเสียงเหล่านั้นถูกนำมาใช้ควบคู่กับข้อมูลภาพเพื่อติดตามสัตว์ป่าต่าง ๆ และสนับสนุนแนวทางในการอนุรักษ์เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศไว้ และเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีด้านไมโครโฟนก็พัฒนาขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถฟังเสียงที่ไม่ได้ยินด้วยหูมนุษย์ได้ ซึ่งระบุได้ว่าเป็นเสียงที่พืชพรรณสร้างขึ้นเมื่อพวกมันเกิดความเครียด แล้วความเครียดนั้นมาจากไหน?

ภัยคุกคามโหมกระหน่ำ

เมื่อปี 2017 ครอบครัวของ Bernie Krause ต้องประสบกับไฟป่าแคลิฟอร์เนียตอนเหนือครั้งใหญ่ เปลวเพลิงที่รุนแรงทำให้บ้านของเขาสูญหาย แต่ยิ่งกว่านั้นมันได้เผาพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นบ้านของสรรพชีวิตไปกว่า 80% ของสวนสาธารณะ

แม้ต้นเมเปิลใหญ่จะรอดมาได้ ซึ่งแลกมากับกิ่งก้านที่สูญเสียไปบางส่วน แม้สภาพภายนอกจะยังดูดีอยู่ แต่ทว่าภายในของมันนั้นราวกับทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส Breck Parkman นักโบราณคดีของสวนสาธารณะของรัฐเคยเชื่อว่าต้นไม้ต้นนี้จะอยู่ไปได้อีก 200-300 ปี แต่แล้วพวกเขาก็พบว่ามันจะไม่มีวันนั้น

“นกรู้ว่าต้นไม้นั้นยิ่งใหญ่ สำหรับพวกเขา(นก)แล้ว นี่คือต้นไม้แห่งชีวิต” เขากล่าว “มันเป็นความเศร้าประเภทหนึ่งซึ่งยากที่จะอธิบาย”

แม้หลายพื้นที่ไฟป่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ไฟจะช่วยย่อยสลายใบ้ไม้และกิ่งไม้ที่ตายแล้วให้กลายเป็นสารอาหารหมุนเวียนกลับสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญคือต้นไม้และสัตว์ต่างปรับตัวเข้ากับฤดูไฟป่าได้ พวกมันจึงรู้จักหลีกเลี่ยงเมื่อไฟมาตามฤดูกาล

แต่ในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้นพร้อมกับภาวะโลกร้อน ทำให้อากาศในหลายพื้นที่แห้งแล้งขึ้นซึ่งมีโอกาสเกิดไฟป่าง่ายขึ้น นี่ยังไม่รวมไฟที่จุดขึ้นโดยเจตนาของมนุษย์ ทำให้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีไฟป่ารุนแรงขนาดใหญ่หลายครั้งซึ่งสร้างความเครียดให้กับสิ่งมีชีวิต และนักวิทยาศาสตร์ก็ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้

“การได้ยินความเงียบของพืชและสัตว์พื้นเมืองเหล่านั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นญาติของเรา” Desirae Harp นักการศึกษาที่สวนสาธารณะแคลิฟอร์เนีย กล่าว ความเงียบนั้นทำให้จิตใจแตกสลายได้ “ฉันรู้สึกเหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อเราทำลายระบบนิเวศทั้งหมด แต่เรามักไม่เข้าใจถึงความหมายของสิ่งนั้นเสมอไป”

ความเปลี่ยนแปลง

หนึ่งในหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นที่สุดของศตวรรษที่ 20 นั่นคือ Silent Spring โดย Rachel Carson (ซีรีย์เรื่อง 3 Body Problem ก็อ้างอิงถึงหนังสือเล่มนี้เช่นกัน) ได้กล่าวเอาไว้ว่า หากผู้คนยังไม่หยุดทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาฆ่าแมลง(ปัจจุบันถูกควบคุมเรียบร้อยแล้ว) จะทำให้จำนวนนกและสัตว์ป่าอื่น ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับความเงียบงันที่ปกคลุมโลกธรรมชาติ

เมื่อดูเนื้อหาของหนังสือคร่าว ๆ แล้ว ดูเหมือนว่าสิ่งนี้ก็กำลังเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง “เรากำลังดู(หนังสือ)เรื่องนี้ในช่วงชีวิตของเราเอง ซึ่งมันน่าตกใจ” Bernie Krause กล่าว

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเสียงตามธรรมชาติโลก สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะสัตว์หรือต้นไม้เท่านั้น แต่รวมถึงน้ำด้วย เมื่อก่อนผู้คนลงเล่นน้ำตามแม่น้ำลำธาร ไปตกปลา ไปเดินเล่น และไปพักผ่อนกันเป็นประจำ แต่ปัจจุบันหลายแห่งน้ำลด สูญหาย และสกปรก

เสียงน้ำไหลที่เคยกังวลกลับลดน้อยลง เสียงน้ำตกที่สดชื่นก็เปลี่ยนไป ความหลากหลายทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำก็หายไปเช่นกัน เส้นทางน้ำที่เคยเป็นสายใยสำคัญของชีวิตไม่มีอีกต่อไป

สำหรับนักวิจัยแล้ว เสียงที่หายไปคือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และมันก็เป็นความโศกเศร้าด้วยเช่นกัน

“ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมมีปัญหาในการอธิบายว่าความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร” Marcus Maeder นักนิเวศวิทยาด้านเสียงจากสวิตเซอร์แลนด์ กล่าว “แต่ถ้าผมเล่นเสียงและพูดถึงสิ่งที่กำลังพูดอยู่ เสียงเหล่านี้ก็คือความหมายของสถานที่แห่งนั้น”

“เสียงเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ที่ทรงพลังที่สุดสำหรับมนุษย์ ความทรงจำเกี่ยวกับเสียงก็แข็งแกร่งมากเช่นกัน ผมกำลังคิดถึงเรื่องนี้ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยากที่จะไม่แสดงอารมณ์ออกมาได้”

Credit

Related posts

สักวันหนึ่งเราจะไม่มีปลาทูไทยกิน

ปลาทูเป็นอาหารจานคุ้นเคยที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ทุกวันนี้ปลาทูที่เรากินอาจเป็นปลาทูที่อิมพอร์ตเข้ามา เพราะว่าปลาทูไทยกำลังจะหายไปตลอดกาล

สโลว์ไลฟ์ : ให้ธรรมชาติช่วยให้ชีวิตคุณช้าลง

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบ พื้นที่สีเขียวจะช่วยให้คุณมีเวลาที่สมดุลมากขึ้น

เหนื่อยนัก ให้ธรรมชาติฮีลใจ

ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า