เหนื่อยนัก ให้ธรรมชาติฮีลใจ

ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

เหนื่อยไหม ? ลองปล่อยให้ ธรรมชาติ ฮีลใจ เพราะยาวิเศษชนิดนี้มีประโยชน์ต่อทั้งร่างกาย จิตใจ เวลา ความทรงจำ จิตนาการ และความคิดของเรา การได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว 

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบชีวิตในเมืองอย่างกรุงเทพมหานครที่วุ่นวายและเร่งรีบ คุณตื่นขึ้นมาและพยายามทำทุกอย่างให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางไปยังที่ทำงานโดยใช้เวลาอีกนับชั่วโมงผ่านรถติด ผู้คนที่หนาแน่นบนรถไฟฟ้า และรถเมล์ที่นั่งไม่ค่อยสบายนัก 

เมื่อมาถึงราว 5 โมงเย็น ทุกคนกำลังเตรียมตัวกลับบ้านด้วยความเหนื่อยล้า คุณอาจแวะกินของอร่อยสักมื้อหนึ่งเพื่อให้ชุ่มชื้นหัวใจ แต่แล้วชีวิตก็วนกลับมาใหม่อีกครั้งในเช้าวันถัดไป เราทำแบบนี้อยู่ซ้ำ ๆ เป็นเดือน เป็นปี และเป็นสิบ ๆ ปี สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยผู้คนเช่นนี้ได้กดดันให้ใครหลายคนรู้สึกเหนื่อย กดดัน เครียด และอาจถึงขั้น หมดไฟ 

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้นที่อาจกำลังหมดแรง บางการลองหาเวลาไปใช้นอกเมืองกับธรรมชาติ ซึ่งอาจช่วยให้เราผ่อนคลายขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย

“ความเครียดส่วนใหญ่ที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ตอบสนองต่อสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมา แต่ก็ยังคงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางสรีวิทยา เช่น ระดับคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจและความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงความทรงจำ อารมณ์ และความสนใจ” 

ดร. David Strayer นักประสาทวิทยาด้านความรู้ความเข้าใจ จากมหาวิทยาลัยยูทาห์ กล่าว

พลังธรรมชาติบำบัดนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ใหม่ก็คือสาขาประสาทวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำลังพยายามค้นหาว่าทำไมและอย่างไร สมองของเราจึงได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากการอยู่กับธรรมชาติ

ยาดีจากธรรมชาติ

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทราบกันดีอยู่แล้วคือ สีเขียว (เช่นสภาพแวดล้อมสีเขียวของพืช) และสีน้ำเงิน (น้ำที่เคลื่อนที่) สัมพันธ์กับความเครียดที่ลดลง ทำให้อารมณ์ดีขึ้น อารมณ์เชิงบวกมากขึ้น และความวิตกกังวลที่ลดลง แต่ทุกวันนี้มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าการเปิดรับธรรมชาติยังช่วยให้การรับรู้ของสมองดีขึ้น รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจ ความทรงจำ การใช้เหตุผล การตัดสินใจ จิตนาการและการแก้ปัญหา

การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าแค่การมองออกไปที่หลังคาสีเขียวเพียง 40 วินาทีก็ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมงานวิจัยทำแบบทดสอบได้ผิดพลาดน้อยกว่า เมื่อเทียบการมองหลังคาอื่น ๆ ในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2008 ของดร. Marc Berman ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการด้านประสาทวิทยาสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ก็พบว่าการใช้เวลาอยู่ในธรรมชาติ 50 นาทีก็ทำให้ทำงานดีขึ้นได้แล้ว

“เมื่อผู้เข้าร่วมงานวิจัย ได้เดินท่ามกลางธรรมชาติ ประสิทธิภาพ(การทำงาน)ดีขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับการเดินในสภาพแวดล้อมของเมือง”

ดร. Berman กล่าว

ประโยชน์ของธรรมชาติยังขยายไปยังจิตนาการของเราอีกด้วย ศาสตราจารย์ Kathryn Williams นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นได้ใช้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินป่าในการทดลองเป็นเวลา 4 วันโดยไม่มีโทรศัพท์และเทคโนโลยีอื่น ๆ สามารถเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ได้มากขึ้น 50% ในการทดสอบ

ตัวตนที่ขัดแย้งในปัจจุบัน

เมื่อร่างกายและสมองของมนุษย์วิวัฒนาการขึ้นมา มันทำงานได้เป็นอย่างดีในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ช่วยให้บรรพบุรุษของเราประสบความสำเร็จในฐานะนักล่า นักสำรวจ และนักเก็บของป่า พร้อมกับกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวและอยู่รอดได้มาจนถึงปัจจุบัน

“แต่แล้วเราก็สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดนี้ขึ้นมา เรากำลังพยายามใช้สมองของนักล่า และนักเก็บของป่าในชีวิตโลกสมัยใหม่ที่มีความเครียดและการเรียกร้องที่สูง”

ดร. Strayer กล่าว 

ปรากฎการณ์นี้รู้จักกันในชื่อ ‘ไบโอฟีเลีย’ (Biophilia) ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่าเมื่อมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีองค์ประกอบของธรรมชาติทั้งรูป รส กลิ่น และสี ร่างกายของเราจะเกิดความเครียดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ราวกับว่าสมองไม่คุ้นเคยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วย ตึกราม บ้านช่อง และยานพาหนะ

ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าซิมพาเทติก (Sympathetic) ที่ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดเวลากับสิ่งรอบข้าง มันทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น สมองประมวลผลอย่างรวดเร็วว่าจะ ‘สู้หรือหนี’ สิ่งต่าง ๆ จะถูกมองว่าไม่ปลอดภัย และมันทำให้ทำให้เราเหนื่อยล้าอย่างมาก

แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การได้สัมผัสธรรมชาตินั้นจะไปกระตุ้นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามคือระบบ ‘พาราซิมพาเทติก’ (Parasympathetic) ระบบนี้ทำสิ่งที่ซิมพาเทติกไม่ทำ นั่นคือการพักผ่อน พาราซิมพาเทติก จะทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะของความสงบ 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนชื่อ ‘ออกซิโทซิน’ ซึ่งทำตัวเป็นเหมือนเกราะป้องกันและผลักดันความเครียดให้ออกไปจากร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายของเรารู้สึกปลอดภัย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าพึงพอใจ สงบ คุ้นเคย และเริ่มฟื้นฟูให้ทุกสิ่งกลับมาเป็นปกติ

คุณไม่จำเป็นต้องชอบธรรมชาติ

หากป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากจะออกไปเดินเล่นสักเท่าไหร่ มันทั้งร้อน เหนียวตัว เหนื่อย และแดดเมืองไทยก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าคุณไม่จำเป็นต้องรักธรรมชาติ ขอแค่เพียงธรรมชาติอยู่ใกล้ ๆ ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคุณ

“แม้แต่ในเดือนมกราคม(ที่ต่างประเทศ) เมื่ออุณหภูมิด้านนอกอยู่ที่ 0°C และผู้คนก็ไม่ได้เพลิดเพลินกับการเดินชมธรรมชาติ แต่พวกเขาก็ยังคงได้รับการประโยชน์ด้านประสิทธิภาพในการทดสอบ” ดร. Berman กล่าว “พวกเขาไม่จำเป็นต้อง ‘ชอบ’ การออกไปเปิดรับธรรมชาติเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของมัน” 

ในงานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ ที่ได้สำรวจผู้คนมากกว่า 16,000 คนใน 18 ประเทศ พบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีเขียวหรือบริเวณชายฝั่งทะเล ต่างมีความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น หลายคนที่ ‘แค่’ ใช้เวลาอยู่บริเวณพื้นที่สีเขียว 5 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีรายงานการใช้ยาด้านจิตเวช(เช่นวิตกกังวล แพนิค หรือซึมเศร้า) ยาลดความดันโลหิต และยาหอบหืดน้อยลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้เวลาในพื้นที่สีเขียว 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าธรรมชาติมีผลกับสมองของเราแม้เราจะไม่ได้รับรู้ว่ามีพวกมันอยู่ หรือเราอยู่ท่ามกลางพวกมัน ทฤษฏีนี้มีชื่อเรียกว่า ‘การฟื้นฟูความสนใจ’ Attention Restoration Theory (ART) โดยนักจิตวิทยาอธิบายไว้ว่ามันคือความสามารถในการรักษาสมาธิไว้กับกิจกรรมที่เราทำ โดยไม่สนใจสิ่งภายนอก 

“พื้นที่ของสมองที่รับผิดชอบต่อความสนใจประเภทนี้อาจหมดลงเนื่องจากสภาพแวดล้อมสมัยใหม่ ที่มีการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน และมีการกระตุ้นสูง” ศาสตราจารย์ Williams อธิบาย มันทำให้เราไม่มีสมาธิ ทำงานผิดพลาด และจมอยู่กับปัญหา 

“แต่มีบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติที่ทำให้สมองมีส่วนร่วมในลักษณะที่ไม่ต้องใช้อะไรมากมายและง่ายดาย ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีโอกาสได้พักผ่อนและฟื้นตัว” ศาสตราจารย์ Williams เสริม

ไม่ใช่ว่าธรรมชาติจะไม่มีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นเลย แต่สมองของเราตีความสัญญาณที่มาจากธรรมชาติเช่น เสียงนกร้อง ใบไม้ที่กระทบกัน สายลมที่พัดผ่าน หรือแม้แต่เสียงเท้าที่เหยียบลงไปบนดินของเราเอง เป็นสัญญาณที่ ‘นุ่มนวล’ และสบายใจ จึงทำให้สมองไปทำงานด้านอื่นได้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงนี้ที่เกิดขึ้นได้จริง

ในงานวิจัยหนึ่งชี้ให้เห็นว่าสมองมีสัญญาณจากส่วนหน้าลดลงในระหว่างการสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่าสมองส่วนนี้กำลังพักผ่อน ในทางตรงกันข้าม สมองส่วนเดียวกันนี้กลับถูกกระตุ้นมากขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมของเมือง ราวกับบอกว่ามันพยายามอย่างหนักที่จะประมวลผลข้อมูลมากขึ้น

“ลักษณะทางธรรมชาติ สมองอาจประมวลผลได้คล่องมากขึ้น เพราะเราพัฒนาไปพร้อมกับสิ่งเหล่านั้น” ดร. Berman กล่าว เขาเชื่อว่าเส้นโค้งต่าง ๆ ในธรรมชาติเช่น เนินเขา ทางเดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล หรือลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ อาจเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ซึ่งเมื่อเรามองดูสภาพแวดล้อมของเมือง เราจะเป็นว่าเป็นเส้นตรงและมีเหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึก ‘ทื่อ ๆ’

ดังนั้นถ้า “เราคิดเกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี เราอาจต้องใส่องค์ประกอบทางธรรมชาติลงไปในถนน สำนักงาน โรงเรียน บ้าน โดยไม่ลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่าย” 

“ผลการวิจัยที่กำลังเติบโตเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หากเราไม่ใช่เวลาในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เราก็ไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ และสมองของเราก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ” Dr. Berman กล่าว “มันไม่ใช่ความฟุ่มเฟือย แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น”

เคล็ดลับง่ายๆ

เอาล่ะหากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงเกิดความสงสัยว่าจะมีวิธีไหนที่นำไปใช้กับธรรมชาติได้ง่าย ๆ บ้าง เรามีเคล็ดลับเล็กน้อยที่สามารถปรับให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันได้

  • กำหนดช่วงเวลา ‘รับชมธรรมชาติ’ ในแต่ละวันอย่างน้อย ๆ แค่ 10 นาทีต่อวัน
  • เพิ่มสีเขียวให้กับโต๊ะทำงาน ในออฟฟิศ และบ้าน ซึ่งต้นไม้เล็ก ๆ บนโต๊ะสามารถลดความเครียดได้อย่างมีนัยสำคัญตามงานวิจัย
  • ลุกเดินเป็นระยะสั้น ๆ บ้าง การขับร่างกายช่วยให้เกิดความผ่อนคลายจากการทำงาน
  • เปิดเสียงธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น เสียงฝนตก นกร้อง หรือทะเล เสียงเหล่านี้ช่วยให้หลายคนรู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • รับประทานอาหารนอกบ้านในร้านที่มีต้นไม้หรือตกแต่งด้วยธรรมชาติ เพราะการกินอาหารดี ๆ สักมื้อต่อเดือนท่ามกลางดอกไม้หรือสิ่งแวดล้อมดี ๆ ช่วยให้คุณสดชื่นได้

“แม้เพียงไม่กี่นาทีก็สามารถปรับปรุงการทำงานด้านการรับรู้(ของสมอง)” Eileen Anderson นักมานุษวิทยาการแพทย์และจิตวิทยา กล่าว “อย่าลืมใช้โอกาสเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการอยู่กับธรรมชาติ และใช้เวลาให้นานขึ้นหากเป็นไปได้” 

Credit

Related posts

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า

วังการี มาไท สตรีเคนยาผู้ผลักดันให้ผู้หญิงสร้างพื้นที่สีเขียวให้โลกและตัวเอง

จากเป้าหมายต้นไม้ 30 ล้านต้นในเคนยา สู่ชีวิตที่อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรม

เมืองดัตช์ จากเมืองที่จักรยานเป็นภัยคุกคามสู่เมืองปั่นดีระดับโลก

เพราะประเทศแห่งการปั่น ไม่ได้สร้างในวันเดียว!

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า