3 ประเทศในโลกที่ปล่อยคาร์บอนติดลบ

มารู้จักกับ 3 ประเทศขนาดเล็กสมาชิก ‘Carbon Negative Alliance’ ที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่ปล่อยออกมา

ติดลบสิดี! มารู้จักกับ 3 ประเทศขนาดเล็กสมาชิก ‘Carbon Negative Alliance’ ที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่ปล่อยออกมา

เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Carbon Neutral’ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนกันบ่อยมาก ๆ ซึ่งคำนี้หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การปลูกต้นไม้ หรือการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด (ส่วน Net Zero จะเน้นถึงก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ ด้วย)

โดยประเทศส่วนใหญ่ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็น Net Zero ภายในปี 2050 ส่วนประเทศไทยก็มีการตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 (เพิ่งมีการขยับมาจากปี 2065) และการเป็น Net Zero ภายในปี 2065

ส่วน ‘Carbon Negative’ หรือการปล่อยคาร์บอนติดลบอาจจะเป็นคำที่หลาย ๆ คนยังไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่าไหร่ แต่มีหมายความว่าประเทศนั้น ๆ สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าที่ปล่อยออกมาทั้งหมดนั่นเอง โดยในปัจจุบัน มีเพียง 3 ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ได้รับการรับรองว่าเป็นประเทศ Carbon Negative

วันนี้เราอยากชวนคุณมาอ่านเรื่องราวของ 3 ประเทศสมาชิก ‘Carbon Negative Alliance’ จะมีประเทศอะไรบ้าง และพวกเขาทำได้อย่างไร ?

ภูฏาน

ภูฏาน หรือราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประเทศขนาดประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยติดกับทิเบตและอินเดีย เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ราบ ปัจจุบัน ประเทศภูฏานมีประชากรอยู่ประมาณ 784,014 คน

สู่ประเทศแรกในโลก

แม้ว่าภูฏานจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีพื้นที่สีเขียวอยู่เยอะมาก โดยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่มากถึง 72 – 73% ของประเทศ ดังนั้น พื้นที่ป่าของภูฏานจึงถือเป็น Carbon Sink หรือแหล่งกักเก็บคาร์บอนแห่งสำคัญของโลก ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ถึง 9.4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ทั้งประเทศมีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 4 ล้านตัน

นอกจากนี้ ภูฏานยังผลิตและส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้จำนวนมหาศาล ดังนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ภูฏานกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนและยังเป็น Carbon Negative อีกด้วย

ภูฏานทำได้อย่างไร ?

ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP (Gross Domestic Product) เป็นตัวชี้วัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภูฏานใช้ความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH (Gross National Happiness) เป็นดัชนีที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถดำเนินการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น โดยมีหนึ่งในสี่เสาหลักของดัชนีเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ

ตั้งแต่ช่วงปี 2009 รัฐบาลภูฏานได้ออกนโยบายที่เอื้อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประเทศต้องมีพื้นที่ป่าไม่ต่ำกว่า 60% อีกทั้งยังมีการแบนการตัดไม้สำหรับส่งออก ส่วนในด้านพลังงาน ภูฏานได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และได้มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทใช้ฟรีเพื่อลดการตัดฝืน นอกจากนี้ รัฐบาลภูฏานยังได้ร่วมมือกับบริษัทยานยนต์ อย่าง Nissan เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

เพื่อการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน ประเทศภูฏานได้ตั้งเป้าผลิตอาหารออร์แกนิคให้ได้ 100% ภายในปี 2020 และมุ่งมั่นจะเป็นประเทศ Zero Waste ให้ได้ภายในปี 2030 พร้อมทั้งมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมผ่านการเพิ่มการลงทุนในพลังงานสีเขียวประเภทอื่น ๆ

ซูรินาม

ซูรินาม (ซูรินาเม) หรือสาธารณรัฐซูรินาม (ในอดีตรู้จักกันในชื่อ ดัตช์เกียนา) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ติดกับประเทศกายอานา บราซิล และเฟรนช์เกียนา (จังหวัดโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส) ซูรินามเป็นประเทศขนาดเล็ก มีเนื้อที่ประมาณ 163,820 ตารางกิโลเมตร โดยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นและเนินเขา ส่วนแถบชายฝั่งมีพื้นที่ราบลุ่มและหนองน้ำ ปัจจุบัน ประเทศซูรินามมีประชากรอยู่ประมาณ 586,634 คน

สู่ประเทศที่สองในโลก

ถึงแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ซูรินามก็เป็นประเทศ carbon negative มาตั้งแต่ปี 2014 โดยพื้นที่ของซูรินามกว่า 93% ถูกปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ทำให้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นเลิศ ที่มีส่วนในการดูดซับคาร์บอนกว่า 8.8 ล้านตันทุกปี ในระหว่างที่ซูรินามมีการปล่อยคาร์บอนเพียง 0.01% ของสัดส่วนการปล่อยทั่วโลก

ซึ่งประเทศซูรินามก็ตั้งมั่นที่จะคงอัตราส่วนของพื้นป่าไว้ อีกทั้งยังมีเป้าหมายให้พลังงานกว่า 35% มาจากแหล่งพลังงานสะอาดภายในปี 2030 นอกจากนี้ ซูรินามยังตั้งใจที่จะพัฒนาแนวทางสำหรับการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคส่วนที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมามาก

ปานามา

ปานามา หรือสาธารณรัฐปานามา เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอเมริกากลาง ระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ติดกับประเทศคอสตาริกาและโคลอมเบีย โดยตอนเหนือของปานามาอยู่ติดกับทะเลแคริบเบียน ส่วนทางตอนใต้อยู่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ปานามามีพื้นที่ประมาณ 75,417 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอยู่ถึง 4.38 ล้านคน

ปานามาและป่าไม้

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ปานามาเป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวอยู่ราว 63.4% ถือเป็นประเทศที่มีผืนป่ามากที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลาง ดังนั้น ผืนป่าแห่งปานามาจึงเป็น Carbon Sink อีกแห่งหนึ่งที่ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมาก โดยผืนป่ากว่า 2 ใน 3 เป็นพื้นที่ภายในเขตแดนของชนเผ่าพื้นถิ่นหลายกลุ่ม ซึ่งพวกเขาก็ได้ลุกขึ้นมาร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อหาแนวทางในการสำรวจป่า และปกป้องธรรมชาติของพวกเขาจากภัยคุกคามต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ปานามาได้พิชิตเป้าหมายตามแผน 30×30 ซึ่งระบุถึงการอนุรักษ์ผืนป่าและทะเลให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 อีกทั้งยังมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในคลองปานามา รวมถึงแผนในการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและน้ำมันเตาภายในปี 2023

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปานามาได้ร่วมมือกับประเทศภูฏานและซูรินามในการก่อตั้ง ‘Carbon-Negative Alliance’ หรือ ‘กลุ่มพันธมิตรคาร์บอนติดลบ’ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเป็นการแบ่งปันข้อมูล และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหาภาวะโลกรวน และขับเคลื่อนให้โลกของเราสามารถก้าวไปสู่การเป็นสังคมแบบ Carbon Negative

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

Hug Organic ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของคนไทยที่ดีต่อกาย ดีต่อใจ ใช่ต่อโลก

“เราอยากเป็นสื่อกลางของความรักที่ทุกคนมอบให้กันผ่านผลิตภัณฑ์ฮัก ออร์แกนิก”

สิ่งแวดล้อมกับ… วังวนมลพิษ ที่ผังเมืองลิขิตไว้ 

‘กรุงเทพ.. เมืองเทพสร้าง’ ที่การวางผังเมือง และทิศทางการพัฒนาไม่ได้เป็นไปดั่งใจเทพเสียเท่าไหร่

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

มองโลกรวน ไซโคลน สงคราม ผ่านผู้ลี้ภัยในโมซัมบิกกับภารกิจของ UNHCR

ชะตากรรมในศูนย์พักพิงของคนที่ฝันอยากกลับบ้าน แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยภัยจากมนุษย์