Climate Education – แก้ไขวิกฤตโลกร้อนจากห้องเรียน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในตอนนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในตอนนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นภาวะโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่า ไปจนถึงมลพิษในอากาศ ซึ่งในปัจจุบัน เราเห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเป็นอย่างมาก และมักจะออกมาเรียกร้องให้ผู้นำร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังอยู่บ่อยครั้ง

งานศึกษาชิ้นหนึ่งเผยว่า จากการสำรวจเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 16 – 25 ปี จำนวน 10,000 คนทั่วโลก เยาวชนกว่า 84% ระบุว่าพวกเขามีความกังวลเรื่องผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระดับปานกลาง โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนการรับมือที่ดีพอ ในขณะที่เยาวชนกว่า 45% เผยว่า พวกเขามีความวิตกกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศ (Climate Anxiety) ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

ทว่า ท่ามกลางความกังวลของคนรุ่นใหม่ การสำรวจจาก UNESCO กลับพบว่า นโยบายด้านการจัดการศึกษาใน 78 ประเทศทั่วโลกมีการกล่าวถึงเรื่องสภาพภูมิอากาศอยู่ประมาณ 47% เท่านั้น และมีการกล่าวเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพอยู่เพียงแค่ 19% ทั้ง ๆ ที่ Climate Education หรือการศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตโลกรวน ผ่านการปลูกฝังจิตอนุรักษ์ การส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และเสริมสร้างพลังเพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่าการตัดสินใจของพวกเขาก็มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกของเรา

แต่ถึงแม้ว่าครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และสหาราชอาณาจักร จะเห็นด้วยกับการนำเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่ บุคลากรทางการศึกษากว่า 70% ในสหราชอาณาจักรระบุว่า พวกเขาไม่เคยได้รับการฝึกอบรมให้สอนเรื่องนี้ ทำให้รู้สึกว่ายังไม่มีความพร้อมที่จะสอนนักเรียน

ถึงอย่างนั้น บางประเทศก็เริ่มมีการนำ Climate Education เข้ามาอยู่ในหลักสูตรแล้ว เช่น อิตาลี ที่มีการนำ Climate Education เข้ามาอยู่ในการเรียนการสอนตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2020 และเป็นประเทศแรกในโลกที่มี Climate Education เป็นภาควิชาบังคับ ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญจาก Columbia University และ Oxford University เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาต่าง ๆ จะมีความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

โดยนักเรียนทุกชั้นปีจะได้เรียนเรื่อง ‘สภาพภูมิอากาศและการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน’ ประมาณ 33 ชั่วโมงต่อปีการศึกษาผ่านการสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในวิชาอื่น ๆ ที่เด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่แล้ว อย่าง ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ เพื่อทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว นอกจากนี้ เด็กนักเรียนในช่วงอายุระหว่าง 6 – 19 ปีจะได้ใช้เวลาอาทิตย์ละหนึ่งชั่วโมงเพื่อเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางทะเล การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน และทรัพยากรหมุนเวียน

ส่วนในประเทศไทยก็มีโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมและหลักสูตรของกระทรวงมาบูรณาการ และเป็นหนึ่งใน ‘วิชาเลือก’ ของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย ซึ่งนักเรียนมัธยมต้นสามารถเลือกวิชา อย่าง “กินกอบกู้โลก” เพื่อเรียนรู้วิธีการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่วนนักเรียนในชั้นมัธยมปลายก็สามารถเลือกวิชา “รู้สู้โลกร้อนและภัยพิบัติ” ที่จะสอนเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ โดยเป็นการสอนแบบเน้นกิจกรรมและกรณีศึกษา เพื่อให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ไกลตัวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่อะไรที่แก้ไขได้ด้วยศาสตร์แขนงเดียว และ Climate Education รวมถึง Eco Education ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้เราปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ห้องเรียน ดังนั้น การใส่วิชาเหล่านี้เข้ามาเป็นวิชาบังคับก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะในวันที่เด็กและเยาวชนของเราเติบใหญ่ พวกเขาจะกลายเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในขณะเดียวกัน การสอนเนื้อหาเหล่านี้จะทำให้พวกเขาได้คิดวิเคราะห์ หาถึงผลกระทบของการกระทำต่าง ๆ ของตัวเอง ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น แต่อาจจะยังขาดอยู่ในการศึกษาไทย นอกจากนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การดูแลสุขภาพจิตภายใต้ภาวะโลกรวน และการจัดการกับ Climate Anxiety เพราะอาจจะนำมาซึ่งความรู้สึกสิ้นหวัง และหมดกำลังใจกับโลกใบนี้

ดังนั้น ท่ามกลางสภาวะเช่นนั้น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่การเรียนรู้สู้วิกฤตโลกรวนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาไทยอย่างเต็มรูปแบบ

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

ปิด BOOK เปิด BOARD (เกม) ลงชุมชนผ่านสนามจำลองกับเกม ‘เครื่องมือเจ็ดชิ้น’

สืบเสาะเบาะแสในชุมชน เก็บข้อมูลด้วยการจดๆๆๆ และจดเพื่อคว้าคะแนน!

พื้นที่ป่าไม้ไทยที่หายไป อาจไม่ใช่เพราะ Climate Change อีกต่อไป

การใช้สอยพื้นที่ อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง แต่ไทยยังคงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้สมดุล อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศ

ให้เสียงจากธรรมชาติบำบัดใจ กับ นท-พนายางกูร

อัลบั้มใหม่ที่ว่าด้วยความเข้าใจชีวิต โดยมีธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ

เขื่อนแก่งเสือเต้น ทาง(ไม่)ออก น้ำท่วมลุ่มน้ำยม

การสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ถูกปลุกให้ตื่น หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ จริงหรือไม่