หลายคนเดินทาง ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพ มาเป็นแรงงาน ทำงานในเมือง เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เมืองนี้และเมืองที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมอื่น ๆ นั้นไม่ได้มีพื้นที่สีเขียวที่มากเพียงพอ หรือพื้นที่สีเขียวที่ดีมากเพียงพอ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า พื้นที่สีเขียวที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่รู้ไหม… ในกรุงเทพมหานครนั้นมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเจาะลึกในแต่ละเขตพื้นที่ อย่างเขตวัฒนา ที่ถือได้ว่าเป็นชุมชนเมืองที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก พบว่ามีพื้นที่สีเขียวอยู่เพียง 1.24 ตารางเมตร ต่อคนเท่านั้น
แล้วพื้นที่สีเขียวที่น้อยทำให้คนเครียดมากขึ้น จริงหรือ?
งานวิจัยจากต่างประเทศหลายชิ้นบอกว่า การที่เราทำงาน และได้มองเห็น สัมผัสต้นไม้ หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ๆ มีต้นไม้มาก ๆ สามารถช่วยลดความเครียดได้ถึง 20 เปอร์เซนต์ และทุก ๆ ปีที่ผ่านมา คนที่ทำงานในเมืองมีความเครียดสูงถึง 36 เปอร์เซ็นต์ ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือโรคที่มีผลเกี่ยวกับสภาพจิตใจที่ไม่ดี
พื้นที่สีเขียวที่น้อยทำให้คนจนขึ้น?
ไม่ถึงกับว่าจน แต่อาจจะทำให้เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเท่านั้น การมีพื้นที่สีเขียวน้อย ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ หลายคนที่ทำงานในเมืองจึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นจากสิ่งเหล่านี้
สุดท้ายพื้นที่สีเขียวทำให้เราเหงาได้อย่างไร?
การที่เราสามารถเข้าถึงพื้นที่ ๆ เป็น Open space สวนสาธาณะ หรือพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เราได้มีโอกาสพบเจอ พูดคุย แลกเปลี่ยนกับผู้คนที่หลากหลาย และได้ทำกิจกรรมมากมาย แต่ถ้าเราไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้ หรือมีพื้นที่เหล่านี้ไม่เพียงพอ เราก็จะมีโอกาสได้พบปะ พูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นน้อยลง
พื้นที่สีเขียวตอนนี้ไม่ใช่แค่ไม่เพียงพอจนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ยังมีเรื่องของพื้นที่สีเขียวที่ไม่ตอบโจทย์ด้วย
เรามีสิทธิที่จะที่จะมีพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ
แต่ถ้านึกถึงสวนสาธารณะใกล้บ้านที่สุด หลายคนอาจจะนึกถึงที่ราบที่มีหญ้า มีทางเดินเล็ก ๆ กับพุ่มไม้ที่มีฝุ่นจับอยู่ตลอดเวลา และมีเครื่องเล่น หรือเครื่องออกกำลังกายที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะไม่มีคนไปเล่น แล้วกลายเป็นรังนก หรือที่ตากผ้าของคนที่อยู่ในชุมชนแถวนั้น
พื้นที่สาธารณะใกล้บ้านเหล่านั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ หรือคนที่สร้างอาจไม่ได้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่แท้จริง เลยเป็นที่มาของพื้นที่สาธารณะแบบ Copy Paste หรือพื้นที่สาธารณะที่หน้าตาเหมือนกันไปหมด ซึ่งช่างน่าเศร้าเพราะเราทุกคนต่างรู้ว่ามนุษย์เราไม่เหมือนกัน และความหลากหลายคือความสวยงามของมนุษย์ทุกคน
แน่นอนว่าในแต่ละพื้นที่ มีเอกลักษณ์และความต้องการที่แตกต่างกัน แต่การที่เราต้องอาศัยหรือใช้ชีวิตในแวดล้อมที่เป็นการจัดการแบบเดียวกันนั้น อาจไม่ได้ตอบโจทย์ต่อพื้นที่ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความต้องการพื้นฐาน ประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ต่างกัน
ทุกอย่างกลับกลายเป็นแบบเดียวกันไป ทิ้งกลิ่นอายแห่งมนเสน่ห์ของชีวิต และแวดล้อมของพวกเราไปหมดแล้ว ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ที่จะเป็นวงจรทำให้เรากลับมารู้สึกเครียดและเหงาเหมือนเดิม