จะชดเชยยังไง… ?  เมื่อการเที่ยวกระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อการท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ละประเทศ แต่ละสถานที่เลยต้องมีกิจกรรมชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

อยากเที่ยวให้สุดใจ แต่ก็อยากไปแบบยั่งยืน #ไปไหนดี ?… ปี 2024 เป็นปีที่ผู้คนทั่วโลกเข้าใจบทบาทของตัวเองในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจอย่างวิจัยจาก Booking.com ที่ชี้ว่า นักท่องเที่ยวกว่า 3 ใน 4 ต้องการเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นในปีนี้ และผลสำรวจจาก Expedia Group ที่เผยว่านักเดินทางกว่า 90% มองหาตัวเลือกที่ยั่งยืน

กระแสการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มมีมาตรการรับมือกับการท่องเที่ยว นโยบายใหม่ ๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นขึ้น Environman อยากมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวรอบโลก ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสายยั่งยืนทุกคนในช่วงสิ้นปี พร้อมฉลองคริสต์มาส-ปีใหม่ พร้อมรับเทรนด์ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อโลกในปี #2025

เกาะซาบา: มรกตแห่งแคริบเบียน มีของดีก็ต้องรักษาไว้

เกาะซาบา (Saba) หนึ่งในเทศบาลพิเศษที่เล็กที่สุดของเนเธอร์แลนด์ เป็นแชมป์การท่องเที่ยวยั่งยืนในแคริบเบียน สร้างความประทับใจด้วยความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การเดินทางมายังเกาะซาบาต้องอาศัยเครื่องบิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เกาะแห่งนี้ได้ชดเชยด้วยโครงการอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตพลังงานได้ประมาณ 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด มีระบบรีไซเคิลครบวงจร มีเขตอุทยานทางทะเลรอบเกาะที่นอกจากจะรักษ์โลกแล้วยังเหมาะแก่การดำน้ำ และการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง มีตัวอย่างธุรกิจสีเขียวอย่างร้านอาหารบนเกาะ Rendezvous ที่ใช้เทคโนโลยีไฮโดรโปนิกส์เพาะปลูก ลดการใช้น้ำถึง 80% 

ในปี 2023 Saba Bank ได้รับการประกาศให้เป็นจุดแห่งความหวังหรือ Hope Spot จากองค์กรอนุรักษ์ทางทะเลนานาชาติ Mission Blue เพราะเป็นพื้นที่สำคัญต่อสุขภาพของมหาสมุทร นอกจากนี้ เกาะซาบายังเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการทางทะเลแห่งแรกในหมู่เกาะ Windward ของแคริบเบียนดัตช์ 

เหมือนกันกับเกาะซาบา หลายเมืองและประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น  เซนต์คิตส์และเนวิส ประเทศในแถบแคริบเบียนที่มีโครงการ “Plastics Be Gone” ลดการใช้พลาสติก 30% สหราชอาณาจักร แบนผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายประเภท ฝรั่งเศส และ กรีซ เพิ่มมาตรการควบคุมการใช้พลาสติกจากข้อกำหนดสหภาพยุโรป มาตรการเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

วาเลนเซีย สเปน: เมืองสีเขียวแห่งยุโรป

เมืองวาเลนเซีย ประเทศสเปน ได้รับรางวัล European Green Capital Award ปี 2024 เป็นรางวัลเมืองที่มุ่งมั่นปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว

เมืองวาเลนเซียมีเป้าหมายผลิตพลังงานไฟฟ้า 100% จากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2025 และมีพื้นที่สีเขียวกว่า 5 ล้าน ตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมี Huerta พื้นที่เพาะปลูกผักผลไม้ 120 ตารางกิโลเมตร ส่งเสริมอาหารท้องถิ่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการรับประทานอาหารนอกบ้านและสนับสนุนการทำอาหารเอง ในแง่การเดินทางก็มีการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะและพื้นทางเดินเท้า วาเลนเซียยังมีทางจักรยานยาว 200 กิโลเมตร

มีหลายเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะและทางจักรยานดีเยี่ยม ช่วยส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างโคเปนเฮเกนมีชื่อเสียงด้านการขี่จักรยาน มีทางจักรยานที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มีทางจักรยานยาวกว่า 400 กิโลเมตร ทำให้การขี่จักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่นิยมมากที่สุด หรือปารีสที่เพิ่มเส้นทางจักรยานและบริการเช่าจักรยาน Vélib’ ที่มีสถานีทั่วเมือง

เฮลซิงกิ ฟินแลนด์: เมืองยั่งยืนอย่างรอบด้านอันดับหนึ่ง

เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่ยั่งยืนสูงสุดในโลกโดย GDS-Index โครงการวัดและประเมินความยั่งยืนของเมืองท่องเที่ยวและอีเวนต์

เมืองเฮลซิงกิมุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและการจัดอีเวนต์ ซึ่งมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน เฮลซิงกิสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 51% และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 80% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ เมืองยังมีพื้นที่สีเขียวมากมาย โดยมีพื้นที่สีเขียว 9,339 เฮกตาร์ ต่อประชากร 100,000 คน

ไม่ต้องรอนโยบายรัฐ โรงแรมสิวาเทล: ท่องเที่ยวได้ แบบที่รับผิดชอบ

ในภาคธุรกิจของประชาชนก็ไม่น้อยหน้า โรงแรมสิวาเทล กรุงเทพ ได้รับรางวัล Global Responsible Tourism Award สาขา Increasing Local Sourcing จาก International Centre for Responsible Tourism (ICRT)

โรงแรมสิวาเทลจัดซื้อวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรท้องถิ่นกว่า 60 รายในเครือข่าย Farmer Friends Network สนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืนตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันนับเป็น 70% ของวัตถุดิบที่ใช้ นอกจากนี้ โรงแรมยังมีโครงการ Sivatel Sustainable Market เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการนำผลิตภัณฑ์งานฝีมือและอาหารท้องถิ่นมาจำหน่ายภายในโรงแรม

อีกหนึ่งโครงการคือ From Kitchen to Chicken ลดขยะอาหาร โดยนำเศษอาหารจากครัวไปผลิตเป็นอาหารเลี้ยงหนอนดำ ต่อยอดเป็นโปรตีนเลี้ยงไก่ในฟาร์มท้องถิ่นที่เป็นซัพพลายเออร์เนื้อไก่ให้โรงแรมด้วยเป้าหมายให้ขยะโรงแรมสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยูนิฟอร์มของพนักงานยังผลิตโดยแบรนด์แฟชั่นไทยที่ยึดมั่นในความยั่งยืนและส่งเสริมช่างฝีมือไทย

สังเกตุได้ว่า เมืองที่ได้รางวัลการท่องเที่ยวสีเขียวเหล่านี้ ไม่ได้เพียงแต่มีนโยบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้วิถีชีวิตของคนในเมืองสีเขียวขึ้นไปพร้อมกันนั่นเอง 

สิ้นปีนี้ และตลอดปีหน้า ชวนทุกคนมาเป็นนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อให้การเดินทางของเราสร้างความสุขทั้งตัวเราเองและโลกใบนี้

ไปเที่ยวแล้วก็อย่าลืมแชร์กันนะ ว่ามีที่เที่ยวสีเขียวที่ไหนน่าไปบ้าง!

ที่มา

https://www.bbc.com/travel/article/20240109-10-destinations-welcoming-sustainable-travellers-in-2024

https://news.booking.com/cost-vs-conscience-bookingcom-delves-into-the-dilemma-dividing-sustainable-travel-in-2023

https://www.gds.earth/destination/helsinki/2024

https://blueandgreentomorrow.com/news/countries-that-have-banned-single-use-plastic/

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

KBank ชวนธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การลด Food Waste

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันจากกฎระเบียบโลก KBank ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรสำคัญเพื่อช่วยธุรกิจอาหารเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

friends & forest: eco space พื้นที่ปลอดภัย ในวันที่โลกรวนมากขึ้นทุกวัน

น้ำท่วมจะกลัวอะไร ถ้าเรามีที่หลบภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปิด BOOK เปิด BOARD (เกม) ลงชุมชนผ่านสนามจำลองกับเกม ‘เครื่องมือเจ็ดชิ้น’

สืบเสาะเบาะแสในชุมชน เก็บข้อมูลด้วยการจดๆๆๆ และจดเพื่อคว้าคะแนน!

การซื้อของชุมชนท้องถิ่น ของใกล้ตัวที่เรามองข้าม อาจช่วยโลกได้มากกว่าที่คิด

ยิ่งซื้อของในชุมชนท้องถิ่น ยิ่งมีส่วนในการลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่ง ช่วยโลกทางอ้อม และยังสามารถพัฒนาชุมชนได้ในทางตรงด้วย

เขื่อนแก่งเสือเต้น ทาง(ไม่)ออก น้ำท่วมลุ่มน้ำยม

การสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ถูกปลุกให้ตื่น หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ จริงหรือไม่