เที่ยวยุโรปด้วย(จักรยาน)ตัวเอง: ทริปที่พกสัมภาระและสร้างมลพิษนิดหน่อย แต่ตักตวงความทรงจำไม่อั้น

79 วัน ผ่าน 9 ประเทศในยุโรป ที่เผชิญโลกกว้าง วิวธรรมชาติหลักล้าน และการเติบโต

ปกติคุณใช้เฟสบุคเพื่อเล่นอะไรกันบ้างนะ?

หลัง ๆ เราพบว่าตัวเองจะชอบ Explore อะไรไปเรื่อยตามกลุ่มคอมมูนิตี้ต่าง ๆ บนเฟสบุคที่เขามักจะมาแชร์ มาอวดประสบการณ์ หรือ how to อะไรที่แต่ละคนไปทำมา โดยเฉพาะเรื่องเที่ยวนี่แหละตัวดีเลย ทั้ง แบกเป้เที่ยว เที่ยวแหลกทั่วโลกด้วยตัวเอง เที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง เที่ยวไต้หวันด้วยตัวเอง เที่ยวไต้หวันด้วยตัวเอง 2024 (อันหลังนี่มีบลัฟว่าอัพเดทกว่า แฮะๆ) ปั่นจักรยานเที่ยว ฯลฯ ก็เรียกได้ว่าได้เที่ยวทิพย์ไปไหนตัว เพราะแพชชั่นน่ะมีแล้ว ขาดก็แค่เงินค่ะ ฮ่า ๆ

แล้ววันนึงหน้าฟีดเราก็มีโพสต์แนะนำขึ้นมาจากกลุ่ม ‘เที่ยวยุโรปด้วยตัวเอง’ ที่มาเตะตาเตะใจ 

“สวัสดีค่ะทุกคน เมื่อ 2 เดือนก่อนฝนมาตั้งกระทู้เที่ยวยุโรปแบบประหยัดและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม โดย touring ใช้จักรยาน วันนี้ฝนปั่นจบทริปกลับมาแล้วค่า และอยากมาแบ่งปันประสบการณ์ รายละเอียดการเดินทาง ให้ทุกคนฟังเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเที่ยวยุโรปครั้งต่อๆไปค่ะ 

ต้นปีใหม่ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำอะไรที่ Epic ในแบบที่เราอยากทำ การปั่นจักรยานไม่เคยอยู่ในหัว แต่ๆๆๆ จริตออกแนวผจญภัย เมื่อโอกาสมาก็คว้าไว้เลย Let’s go!”

ส่วนตัวด้วยความเป็นนัก (อยาก) ปั่น101 และซุ่มอ่านเรื่องปั่นจักรยานไปเรื่อยในช่วงนี้ก็ทำให้เราไปตามๆๆๆ อ่านโพสต์ต้นทาง และแอบทักไปหาเจ้าของโพสต์ว่า พี่คะ อยากชวนมาสัมภาษณ์จังเผื่อทริปของพี่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้ค่ะ

และนั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนานี้ 

เรากับพี่ฝน-วลีพร เลิศวิริยะวณิชย์ เจ้าของโพสต์ นัดเจอกันที่คาเฟ่แห่งหนึ่ง วันนั้นเรานั่งคุยกันอยู่เป็นชั่วโมงกว่า จะบอกว่าคุยไปเรื่อยไปเปื่อยก็คงใช่ ฮ่า บทสนทนาเราปั่นออกตัวตั้งแต่แมนเชสเตอร์ ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม อเมริกา แล้ววนกลับมาเชียงของ เมืองแพร่ ถนนพระรามสอง 

อ่า เที่ยวทิพย์ของแท้ล่ะ 

ว่ากันตรง ๆ ตอนแรกเราคิดว่าทริปปั่นจักรยานของพี่ฝนคงเต็มไปด้วยเรื่องรักษ์โลกแน่ ๆ แต่ก็ผิดถนัด (แล้วถ้าทุกคนคิดว่าบทความนี้จะมีแต่เรื่องรักษ์โลกก็อาจจะผิดเช่นกัน แหะ) เรื่องที่เราคุยกันมันกลับเต็มไปด้วยความสนุก การเปิดโลก เป็นเรื่องเล่าที่ในเน็ตก็คงมีข้อมูลให้ค้นหาแหละ แต่เราเชื่อว่าไม่สนุกเท่าฟังจากปากคนที่พึ่งไปผจญภัยปั่นมาแน่นอน

ทริป 2 ล้อ แต่เริ่มจาก 0 ประสบการณ์ 

ทริปนี้ของพี่ฝนเริ่มจากประสบการณ์แบบ 0 กิโลแม้ว สู่ 4,400 กิโลเมตร ในยุโรป เจ้าตัวเล่าว่าตอนอยู่กรุงเทพฯ นี่ไม่ปั่นจักรยานเลยด้วยซ้ำ ไม่มีจักรยานเป็นของตัวเอง ออกแรงปั่นครั้งล่าสุดก็น่าจะเป็นตอนเด็ก ๆ เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แต่ด้วยสัญชาตญาณชอบลุย ชอบซ่า ชอบความผจญภัย ก็ขอลองซะหน่อยละกัน!

อังกฤษ – เนเธอร์แลนด์ – เบลเยี่ยม – เยอรมัน – ฝรั่งเศส  – สวิตเซอร์แลนด์ – ลิกเตนสไตน์ – ออสเตรีย – เช็ก รูทปั่นรอบยุโรป 9 ประเทศทั่วยุโรปในเวลา 79 วัน กับแพลนแบบ no plan

แม้แต่จักรยาน เธอเองก็พึ่งมาเตรียมเอาตอนจะเดินทาง ถึงจะดูมือใหม่หัดขับ แต่เธอเองก็มีครูที่ช่วยสอนสูตรเร่งรัดให้ตลอดทางแบบ Learning by Doing จากผู้คนที่พบเจอ สะสมชั่วโมงบินจากเส้นทางที่ไป ทั้งยาก ง่าย ทางราบ ขึ้นเขา หรือบางทีก็ริมบึงที่ต้องปั่นหนีหงส์ห่านที่พร้อมจิก!

“ตอนที่ไป พี่ไปลองปั่นที่นู่นแค่รอบสองรอบก่อนออกทริปเองนะ แล้วจากนั้นก็ลุยเลย” 

โอเค เข้าใจแล้วค่ะว่าเริ่มจาก 0 จริง ๆ ฮ่า แต่ด้วยบริบทพื้นที่ที่เอื้อต่อการปั่นของหลาย ๆ ประเทศนี่แหละที่ทำให้ทุกคนปั่นได้ปั่นดีและไม่กลัวที่จะปั่น มันดูจะเป็นเรื่องปกติมากด้วยที่คนจะปั่นทัวร์ระยะไกล ๆ กันแบบนี้ 

“ตอนนั้นเราเจอหลายคนที่ออกทริปแบบนี้เหมือนกัน มันเหมือนอีกวิถีชีวิตนึงเลย บางคนจะปั่นไปโรมาเนีย ไปโปรตุเกส หรือพาลูกไปปั่นกันเป็นครอบครัวก็มี ซึ่งเขาก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นความลำบากนะ แต่มันเป็นกิจกรรมอีกอย่างที่ทำให้ลูกรู้จักอดทน ได้เห็นธรรมชาติ แล้วก็รู้จักเอาตัวรอดด้วยตัวเอง“

“คือเมืองเขาเอื้อมาก ๆ ที่พี่เห็นคือจักรยานกับรถก็ขับไปพร้อมกันบนถนนนี่แหละ ไม่ใช่ว่าใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร มันเอื้อและปลอดภัยมาก เหมือนกฎหมายเขาเองก็จะมีว่าห้ามขับชิดคนปั่นกี่เมตร ๆ และเลนจักรยานก็ขี่สะดวก อย่างในเส้นเขตชนบท ถนนก็ลาดยางเหมือนเลนรถยนต์เลย คือมันไม่ใช่แค่ปั่นแบบคอนเทนต์แต่มันคือชีวิตเขา”

ถึงจะเคยอ่านตามบทความ ดูตามยูทูปมาบ๊อยบ่อยว่าประเทศพวกนี้เป็นมิตรกับจักรยานแค่ไหน แต่พอได้ยินจากปากคนที่ไปมา คนฟังแบบเราก็ยังตาโต ใจพอง เหมือนได้ปั่นจักรยานตามไปด้วย และแน่นอน เมืองที่เป็นตัวท็อป ตัวแม่ของจักรยานและความอีโค่ก็คือเนเธอร์แลนด์อย่างเดาไม่ยาก เธอเล่าว่าสเน่ห์อย่างหนึ่งคือมุมมองของคนที่นั่น โดยเฉพาะคนดัตช์ที่มองอะไรได้ “อีโค่” ไปซะหมด 

แล้วความอีโค่นี่มันยังไงซิ

ไอที่เราชอบพูดกันติดปากเรียกการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกันว่า Eco-friendly เนี่ย บางคนอาจคิดว่าการทำอะไรที่มันเขียวจ๋า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% เป็นสิ่งที่ต้องทำขึ้นมาใหม่ ลงทุนใหม่ ต้องแปะป้ายว่า ‘รักษ์โลก’ เท่านั้น แต่ความจริงมันอาจเป็นอะไรที่แฝงอยู่ในการกระทำของเราทุก ๆ วันอยู่แล้วก็เป็นได้

ทั้งทริปจักรยานของสายลุย การตั้งแคมป์ของสายเดินป่า อาหารป้ายเหลืองที่เราชอบซื้อ พัดลมเราที่พ่อเราซ่อมแทนที่จะซื้อใหม่ เสื้อที่แม่เราเย็บกระดุมใหม่แทนที่จะทิ้ง ความอีโค่มันมีหลากหลายแบบมากในชีวิตประจำวันเรา และนี่คือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากระหว่างทาง

สิ่งหนึ่งที่พี่ฝนเล่าว่าเป็นสกิลสำคัญในการออกเดินทางและประทับใจยิ่งยวดเพราะมันดูจะเป็นสกิลหลักที่ชาวยุโรปหลายคนมีคือ ‘ความช่าง DIY’ แบบเพลงพี่เบิร์ด อะไร อะไรก็ซ่อมได้ จะยางแตก โซ่หลุด น็อตหาย ก็สบาย ถึงสกิลปั่นจะ 0 แต่ถ้าคุณเป็นคนที่พร้อมจะแก้สถานการณ์ตรงหน้าด้วยตัวเอง รู้จักซ่อมนั่นนี่ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาตัวรอดได้ แบบนั้น พี่ฝนก็บอกว่า คุณได้ไปต่อแล้วล่ะ!

เธอมองว่าไอแนวความคิดแบบนี้เองที่มีส่วนปลูกฝังให้คนในสังคมเขาชอบความผจญภัย กล้าออกไปผจญโลกมากขึ้น ไม่กลัวความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น

ไอเราก็ฟังไป พยักหน้าหงึก ๆ (อย่างแรง) ไป ด้วยความที่เห็นประเด็นตรงกันไปไม่รู้กี่รอบ ฮ่า ๆ 

ถ้าสกิลนี้มันมีขาย ก็น่าจะดีกับคนบ้านเราไม่น้อย 

ลด-ละ-รอด: แบกของน้อยย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ

แต่ละกิโลเมตรที่สองล้อหมุนไปจนแล้วจนรอดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าคุณมีสัมภาระที่หนักอึ้งติดสอยห้อยตามไปกับจักรยานด้วยแล้ว ไม่ต่างอะไรกับตอนที่เราเข็นตัวเองขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึงแบบไม่พึ่งลูกหาบแน่นอน นี่ก็เป็นอีกประสบการณ์ที่สอนให้เธอรู้จักลด-ละสิ่งของนอกกาย เลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตจริง ๆ

“พี่ว่าชีวิตคนเรามีแค่นี้ก็อยู่ได้แล้วเลย มีจักรยานที่เราใช้เดินทาง เสื้อผ้าประมาณหนึ่ง แค่นี้ มันวางเรื่องวัตถุนิยมอะไรไปเลย พออยู่ท่ามกลางธรรมชาติมันรู้สึกว่า เออ เราอยู่แค่นั้นจริง ๆ”

ทริปนี้ดูเหมือนจะเป็นเทรนเนอร์ชีวิตให้เธออีกครั้ง นอกจากสกิลจักรยานที่เธอบอกเริ่มจาก 0 แล้ว เรื่องของความนอนกลางดินกินกลางทรายก็ดูจะไม่ถนัดนัก นอนเต๊นท์ก็ไม่เคย ห้องน้ำก็ต้องสะอาดตลอด แต่ใน 79 วันของทริปนี้ ทุกอย่างมันกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ เธอเล่าว่าทั้งการวางแผนที่นอนและการเดินทาง มันโคตรจะ ‘Free Spirit’ ภาษาเยาวรุ่นก็คงว่า ปล่อยจอย ในแง่ที่มันไม่ต้องยึดติดกับแบบแผนหรือข้าวของอะไร คิดแค่วันต่อวันที่เราเดินทางไปจริง ๆ

ความ Flexible คงเป็นอีกสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากทริปนี้

แน่นอนว่าก่อนจะออกทริปก็จะต้องมีแพลนคร่าว ๆ ว่าจะเริ่มจากประเทศไหนไปไหนบ้าง ช่วงวันที่เท่าไหร่ เพื่อใช้ประกอบการยื่นวีซ่า โชว์ความพร้อมผจญภัยให้สถานทูตได้เห็นพร้อมยิ้มหวาน แต่เธอบอกว่านั่นจะเป็นเพียงไกด์ไลน์บางส่วนเท่านั้น ส่วนมากก็จะต้องดูจากหน้างานว่าแต่ละวันเราไหวถึงเท่าไหน บางช่วงก็ต้องใช้เวลากว่าที่คิดไว้มาก เจอแดดร้อน ฝนตกอีก ที่พักของพวกเขาจึงกลายเป็น ‘ค่ำไหนนอนนั่น’ ซะเยอะเลย (ถ้าเป็นที่ไทยก็อาจจะได้ฟังเรื่องที่พักของเธอในรายการเดอะโกสต์ เรดิโอ ก็เป็นได้ ฮ่ะ ๆ)

กับเรื่องอาหารการกิน ร้านอร่อย ๆ ดัง ๆ ก็ต้องลืมไปชั่วขณะ เปลี่ยนเป็นพิกัดร้านที่ถูกและอิ่มซะมากกว่า หลาย ๆ ครั้งก็เลยไปจบที่บุฟเฟต์ร้านอาหารจีนให้กินอิ่มนอนหลับได้ในแต่ละวันก็เห็นจะเป็นพอ

“เหมือนทริปนี้มันสอนให้เรารู้จักคำว่าติดดิน”

(หรือจริง ๆ ก็อาจจะเพราะของแพงและสัมภาระหนักก็เลยต้องติดดินให้ได้นั่นแหละ แหะ)

ตลอดบนสนทนาที่พาเราไปเที่ยวทิพย์ก็ชวนให้สังเกตได้ว่าทริปปั่นที่ดูเหมือนเราคิดว่ามาจาก ‘ความรักษ์โลก’ นี้ ดูจะเป็นทริปที่ดันมีความรักษ์โลกเป็นผลดีที่ตามมาซะมากกว่า ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความคิดที่ไม่ดีนะ และสำหรับเรามันคือกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนตัวเองให้ดีต่อโลกเลยด้วยซ้ำ

เธอเริ่มออกเดินทางเพราะชอบความแอดเวนเจอร์ 

แต่ผลพลอยได้คือการเดินทางด้วยจักรยานที่ไร้มลพิษ

เธอนอนเต๊นท์เพราะเอื้อต่อการเดินทาง 

แต่ผลพลอยได้คือได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

เธอพกของให้น้อยที่สุดเพราะไม่อยากแบกของหนัก

แต่ผลพลอยได้คือลืมเรื่องการช็อปแบบฟาสต์ ๆ ไปได้เลย

อย่าดูถูกในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เชียวล่ะ เพราะด้วยเหตุผลเหล่านี้ก็สามารถเปลี่ยนโลกได้มาแล้ว! (อย่างที่เราเคยเล่าว่าจักรยานกลายเป็นที่นิยมในเนเธอร์แลนด์ได้ก็ไม่ใช่เพราะเรื่องรักษ์โลกอะไร แต่มันมาจาก ‘ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า’ นี่เอง)

ถ้าสิ่งที่ดีต่อโลกมันดันอยู่ในสิ่งที่เราชอบทำหรือทำบ่อย ๆ อยู่แล้ว

สุดท้ายเราก็คงจะทำมันได้บ่อย ๆ และทำไปนาน ๆ กลายเป็นอะไรที่เขาว่ากันว่า ยั่งยืน นั่นแหละ

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป เครื่องดื่มในแก้วเราทั้งคู่เริ่มเหือดแห้งไปหมด ยุงเริ่มตบเท้าเข้ามาจอแจส่งเสียงวิ๊ง ๆ ในหู นับตั้งแต่ประโยคแรก ๆ ที่เริ่มคุยกันเราสัมผัสได้ถึงความเป็นนักลุยในตัวเธอ และไม่แปลกใจว่าทำไมเธอถึงพิชิตทริป 4,000 โล นี้ได้ แม้เธอจะไม่ได้เลือกไปพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสหรือเส้นทางในเนปาลอย่างที่หลายคนนิยมและเป็นความตั้งใจแรกของเธอในปีนี้ แต่เราเชื่อว่าการเดินทางตะลอนยุโรปด้วยเจ้าสองล้อก็ต้องใช้ความอดทน ความตั้งใจมากพอที่จะใช้คำว่า “พิชิต” ได้เหมือนกัน

สมแล้วกับที่เธอบอกว่าอยากทำอะไรที่มันมีความหมายกับชีวิตสักอย่างในปีนี้

จากบทสนทนาที่คุยกัน เราว่าทริปนี้ก็คงไม่ทำให้เธอผิดหวัง สิ่งที่ได้กลับมานอกจากผิวไหม้ ขาเส้นยึด (ฮา) ก็เห็นจะเป็นการเติบโต การได้พิชิตขีดความอดทนของตัวเอง ให้รู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองมันยังไปได้อีก ได้อีก และได้อีก 

เราถามเธอว่า โมเมนต์ไหนที่พี่รู้สึกว่ามันพิเศษที่สุดในการเดินทางนี้?

เธอหยุดครุ่นคิดไปพักนึง นี่เป็นโจทย์ที่หินที่สุดของนักเดินทางป้ายแดงจากแดนยุโรป เพราะเธอบอกว่าทุกที่สวยหมด! ฮ่า 

แต่สุดท้ายเธอก็ปิ๊งขึ้นมา

“มีอันนึงที่จำได้แล้วมันตลกดี คือโมเมนต์ที่ท่าเรือ ตอนเริ่มแรกที่เข็นจักรยานข้ามจากอังกฤษมานี่แหละ ตอนนั้นมันโคตรใหม่ เต็มไปด้วยความไม่รู้ มันเหมือนเรากำลังเข้าไปในถ้ำที่เราไม่เห็นอะไร เข้าไปในถ้ำที่ไม่รู้จะเป็นยังไง จะรอดไหม 

แต่ในวันสุดท้าย วันที่เราขี่วนกลับมาที่เดิมตอนจบทริป มันอะเมซิ่งมาก เหมือนเราไปผจญภัยมา เหมือนเราโตขึ้น จากเด็กวัยเตาะแตะแล้วโตขึ้น มันก็ทำให้เราเห็นว่าเราทำได้นะ เราดูแลตัวเองได้ เราปล่อยวาง ละหลาย ๆ อย่างได้”

“ถึงไม่ได้ยาวนาน แต่เรามองว่ามันไม่จำเป็นว่าจะนานเท่าไหร่ แต่มันคือช่วงชีวิตหนึ่งที่เราได้ใช้ ได้ทำแบบนี้ด้วยแรงขาของเรา ทุกโมเมนต์ ทุกคนที่ไปเจอ ได้เก็บเกี่ยวทุกสิ่ง”

“คือถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อย

แต่มันเทียบไม่ได้กับความรู้สึกที่ได้รับกลับมาเลย” 

เธอปิดจบด้วยสำเนียงแบบไม่มีอ่อม 

(จากท่าที เอเนอร์จี้ของเธอก็เชื่อว่าทริปนี้คงไม่ใช่ทริปสุดท้ายและท้ายสุดแน่ ๆ!) 

ลำพังแค่ความสวยงามของธรรมชาติระหว่างทางก็คงคุ้มค่ามากแล้ว แต่ความสวยงามของการได้ใช้เวลากับตัวเอง รู้จักโลกใบนี้มากขึ้น มันคงเป็นโบนัสที่หาไม่ได้จากที่ไหน ในทุก ๆ การเดินทางในชีวิตก็จะเป็นเหมือนกล่องสุ่มที่เหวี่ยงเอารสชาติที่ต่างกันมาให้เราได้ลิ้มลองและทำความเข้าใจโลกใบนี้ได้อย่างไม่รู้จบ

เอาล่ะ ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอะดรีนาลีนในร่างกายมันหลั่ง อยากจะออกไปแตะขอบฟ้าที่ยุโรปบ้างก็ไปติดตามรายละเอียดการเดินทางของเธอกันได้ที่เพจ The Adventurist ของเธอเลย 

ภาพ: The Adventurist 

Credit

Chayanit S.

Related posts

แคดเมียม – สารเคมีอันตราย

สารโลหะหนักจำพวกเดียวกับปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม

‘Wastegetable’ ฟาร์มผักบนดาดฟ้าที่หาที่ไปให้กับขยะเศษอาหารใน กทม

ข้างบนห้าง Center One มีฟาร์มผักเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนขยะเศษอาหาร 50-70 ตันต่อปีให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับผักออร์แกนิกสำหรับคนในเมือง

สารคดี ‘Lost in Mekong’ กับจิตวิญญาณแห่งแม่โขงที่กำลังจางหาย 

การเข้ามาของเขื่อนไฟฟ้าที่กระทบทุกสรรพสิ่ง

Make-up Overdose ‘ของมันต้องมี’ แต่มีแล้ว ‘ต้องใช้’ ด้วย

เมื่อเครื่องสำอางไลน์ใหม่ออกมา การซื้อมาเติมเรื่อย ๆ ตามกระแส อาจไม่ต่างกับอะไร Fast Fashion