How to แก้ปัญหาฉบับไทย ๆ ทำยังไงกับเหล่าเอเลี่ยนสปีชีส์? - EnvironmanEnvironman

How to แก้ปัญหาฉบับไทย ๆ ทำยังไงกับเหล่าเอเลี่ยนสปีชีส์?

ไล่ก็ไม่ได้ กินก็ไม่ไหว พลิกวิกฤตยังไงล่ะทีนี้?

เป็นกระแสมาสักพักแล้วกับการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นอย่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ ที่แพร่ระบาดไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว แถมยังกินบุฟเฟ่กุ้ง หอย ปู ปลา ของชาวบ้านจนเงินที่ลงทุนจมไปอยู่ในท้องปลาหมอแทบหมด 

แต่เจ้าปลาหมอคางดำก็ไม่ใช่วิกฤติแรกที่ไทยจะต้องเผชิญ พืชบางชนิดหรือสัตว์บางตัวที่เราเห็นมานานจนชินตา ก็อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่มาจากการนำเข้ามาของมนุษย์ และมีเหตุบานปลายจนทำลายระบบนิเวศดั้งเดิม โดยปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีสิ่งมีชีวิตจากถิ่นอื่น มาตั้งรกรากอาศัยในดินแดนนี้มากกว่าร้อยสายพันธุ์ และบางชนิดก็ก่อปัญหาได้อย่างไม่รู้จบ

เราไปดูกันดีกว่าว่าที่ผ่านมา ชาวไทยเรารับมือกับการ ‘รุกราน’ จากเหล่าเอเลี่ยนสปีชีส์ยังไงบ้าง

ผักตบชวา มหาภัยในสายคลอง

Photo by Yosafat Herdian on Unsplash

มาเริ่มกันที่ศัตรูพืชคู่อาฆาตแหล่งน้ำไทย ‘ผักตบชวา’ ไม้น้ำสีเขียวที่ลอยเด่นเป็นสง่าอยู่แทบทุกสายคลอง เพราะระบาดในไทยมานานหลักร้อยปี ตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมสมัยรัชกาลที่ 5

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว มันจึงใช้เวลาไม่นานนักที่จะแผ่ตัวปกคลุมหน้าน้ำให้มิดได้ ซึ่งขัดขวางการไหลของน้ำในคลอง ทำให้น้ำระบายได้ช้าลงในตอนน้ำท่วม ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางน้ำ และท้ายสุดคือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงต่างๆ แถมยังเป็นบ้านของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคอีกด้วย 

ในส่วนของการกำจัดผักตบชวา ถ้ามันกินได้ คงไม่วายได้เห็นเมนูเด็ดร้อยแปดพันอย่าง แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถนำผักตบชวามาปรุงอาหารกินได้ เพราะน้ำในคลองซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของมันไม่สะอาดเท่าไหร่นัก การกินผักตบชวาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปลอดภัย เลยต้องหาประโยชน์ด้านอื่นๆ แทน

ปัญหาระดับชาติอย่างการรุกรานของผักตบชวา ถือเป็นเรื่องที่ต้องสุมหัวกันแก้ไข หลายสถาบันจึงได้มีการวิจัยเพื่อหาประโยชน์จากเจ้าผักเอเลี่ยนชนิดนี้ เพราะมันมีมากจนกำจัดไม่ไหว ซึ่งก็นับว่าได้ผลดี เพราะในปัจจุบันเราได้เห็นสารพัดประโยชน์จากผักตบชวา ทั้งสินค้าจักสาน ตัวกันกระแทก ไปจนถึงการใช้นวัตกรรมช่วยพัฒนาจนเกิดเป็นเส้นใยจากผักตบชวา ที่นำไปผลิตเป็นเสื้อ หมวก หรือผลิตภัณฑ์มากมาย 

ในน้ำมีปลา ในนามีหอยเชอรี่

Photo: RMA Agriculture

ต่อด้วยอีกหนึ่งศัตรูพืชที่นำเข้ามาเพื่อนำมาเลี้ยงประดับตู้ปลา แต่หลังจากที่มันมีปริมาณมากเกินจากที่ต้องการ จึงมีคนนำมาปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และเกิดเป็นการแพร่ระบาดในช่วงปี 2531 ตามท้องนาหลายจังหวัด พร้อมเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวนาตั้งแต่นั้นมา เพราะมันดันชอบกินยอดไม้อ่อนๆ อย่างกล้าข้าวเสียเหลือเกิน และทำให้ชาวนาเสียรายได้จากการที่กล้าข้าวเสียหายเป็นปริมาณมาก แถมยังสามารถออกไข่ได้คราวละหลักพันฟอง ภายในเวลาเพียง 2-3 เดือน

ภายหลังเมื่อชาวไทยเราได้รู้ว่า แค่เอาเส้นเมาที่ตัวน้องออกเราก็สามารถนำหอยเชอรี่มาปรุงสารพัดเมนูอาหารเสิร์ฟขึ้นโต๊ะได้เลย ไม่ว่าจะ ต้ม ผัด แกง ทอด ต้ม ยำ ตำ แกง ก็ได้ ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่นานจากตัวร้ายทำลายข้าวก็ได้กลายเป็นเหยื่อเสียเอง

มาจนถึงตอนนี้หอยเชอรี่กลายเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ของชาวบ้านจากการเก็บหอยมาขาย ไปจนถึงการทำฟาร์มหอยเชอรี่เป็นธุรกิจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยด้วย

ปลาซัคเกอร์ อึด ถึก ทน ตกน้ำก็ไหล ตกแดดไม่ไหม้

Photo: FB/บ่อตกปลาบำรุงเกาะฟาร์ม นครราชสีมา Bamrungko Farm Fishing Korat

และตัวอย่างสุดท้ายนั่นก็คือ ‘ปลาซัคเกอร์’ อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศไทย จากความสะเพร่าของคนบางกลุ่ม ที่นำเข้ามาเพื่อความสวยงามของตู้ปลา แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร ถึงได้หลุดไปอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ และระบาดไปหลายสายแม่น้ำตั้งแต่เจ้าพระยาสู่แม่น้ำโขง

ความอึด ถึก ทน ของเจ้าปลาซัคเกอร์ ทำให้เราไม่สามารถจำกัดมันด้วยการนำมาตากแดดให้แห้งไปเฉยๆ ได้ เพราะต่อให้วางไว้กลางแดดค่อนวัน พอลงน้ำไปก็กลับมาว่ายน้ำได้อย่างเดิม และดำรงชีวิตด้วย พืชน้ำ สัตว์น้ำตัวเล็กๆ และคุกคามสัตว์น้ำท้องถิ่น จนส่งผลให้ประชากรสัตว์ท้องถิ่นลดน้อยลงไป

แล้วทำไมไม่กินล่ะ ?

ในช่วงที่มีการระบาดแรกๆ ได้มีการรณรงค์ให้จับปลาซัคเกอร์มาบริโภค เหมือนกับวิกฤตปลาหมอคางดำในตอนนี้ ทว่าคนก็ไม่ค่อยนิยมเพราะหน้าตามันไม่ชวนให้หิวอาหารเท่าไหร่นัก การแก้ปัญหาปลาซัคเกอร์เลยทำได้เพียงใช้เวลาให้ระบบปรับตัวกับสมาชิกใหม่ตัวนี้ และยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของเราไปแล้ว

บทเรียนหน้าใหม่: ปลาหมอคางดำ

มาจนถึงมหันตภัยล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนกรุ่น อย่าง ‘ปลาหมอคางดำ’ ที่ระบาดได้กว้างและไกลถึง 19 จังหวัดในประเทศไทย เพราะมันมีความสามารถในการเอาตัวรอดอยู่ได้ทุกแหล่งน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย หรือแม้กระทั้งน้ำเค็ม แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด มันเป็นปลาจอมตะกละกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ในกระชังที่เคยมีกุ้ง หอย ปู ปลา กลับกลายเป็นปลาหมอคางดำเสียอย่างนั้น 

ชะตากรรมของปลาหมอคางดำก็ไม่พ้นไปลงเอยอยู่ หม้อและกระทะเพราะหลังจากการระบาดไม่นาน แต่ละท้องที่ก็ได้มีการรณรงค์ให้ช่วยกันจับมาบริโภค บางท้องถิ่นได้มีการแข่งขันจับปลาหมอคางดำมาแลกเป็นเงิน โดยขายให้โรงงานนำไปทำปุ๋ยและอาหารสัตว์

สถานการณ์ของปลาหมอคางดำในตอนนี้ เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงการปรับให้ลงตัวกับระบบนิเวศ แต่การจับไปกินหรือหาวิธีการกำจัด ก็ทำได้เพียงทำให้ปัญหาทุเลาลง และรอเวลาที่ผู้ก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่นำเข้าปลาชนิดนี้ มารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศ รวมถึงสิ่งที่ประชาชนสูญเสียไปด้วย

ระบบนิเวศก็คือสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ

จากทุกกรณีที่ได้เล่าไป เราจะเห็นได้ว่าคนไทยมีทางออกให้แทบจะทุกปัญหา แถมยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างดี แต่ก็ยังมีส่วนที่เราแก้ไม่ได้ อย่างเจ้าปลาซัคเกอร์ที่ต้องปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเอง 

ถึงแม้ว่าเราจะจัดการวิกฤตต่างๆ ได้ และเอเลี่ยนสปีชีส์เหล่านั้น ก็ได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นในท้ายที่สุด แต่ทางเลือกที่ดีกว่าอาจเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา การนำสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาในประเทศ เสมือนกับการชักศึกเข้าบ้าน หากว่ามันเล็ดลอดออกไปยังระบบนิเวศแล้ว เราจะไม่มีทางทำให้ระบบนิเวศกลับมาเป็นอย่างเดิมได้อีก

เหมือนกับที่ ดร.สุชนา ชวนิทย์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ไม่ว่าอย่างไร ระบบนิเวศก็จะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน” เมื่อเทียบกับกรณีล่าสุดอย่างปลาหมอคางดำ ที่หลายหน่วยงานเชื้อเชิญให้เราบริโภคเพื่อกำจัดมันให้หมดไป ทว่าเราทำได้เพียงกินเพื่อบรรเทาความรุนแรง จากพลังทำลายล้างของมัน รอเวลาที่การแพร่พันธุ์ของมันคงที่ และพยายามพลิกแพลงหาประโยชน์จากมันให้ได้

สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ‘ปลาหมอคางดำ’ ก็จะผันตัวเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เราต้องกลับมาเปิดดูซ้ำ 

ฉะนั้นแล้วการไม่สร้างปัญหาคือทางออกที่ดีที่สุด หากจำเป็นจะต้องนำสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นเข้ามาในประเทศ ก็ต้องมาพร้อมกับความเข้มงวดในการจัดการ วางแผนนโยบายอย่างรัดกุม ตั้งแต่การขออนุญาต การนำเข้า การควบคุมดูแล รวมไปถึงการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ควรรับผิดชอบ หากเกิดเหตุการณ์เอเลี่ยนสีปีชีส์หลุดไปสร้างความเสียหายแก่สาธารณะอีกครั้ง

ไม่ว่าใครจะเป็นคนนำสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นทั้งหลายเข้ามา คนที่จะต้องรับมือกับความเสียหายต่างๆ ตลอดมา ก็มีเพียงประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเท่านั้น

อ้างอิง

https://thbif.onep.go.th/specifics/invasive-species/browse?status=1

https://onedptportal.dpt.go.th/portal/apps/MapSeries/index.html?appid=a1b5bc95edae4533a606a2f8a2a869f8

https://www.bangkokbiznews.com/tech/973845

https://thecitizen.plus/node/47399

https://www.amarintv.com/news/detail/224099

https://www.kroobannok.com/422

https://old.khonkaenlink.info/home/news/8459.html

https://thecitizen.plus/node/87088

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2801885

การสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิทย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ  และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Credit

Related posts

โลกจะเป็นอย่างไรในอีก 30 ปี หากเรายังนิ่งเฉย

โลกนั้นกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบนิเวศที่สำคัญของโลกพังทลายลงจนไม่สามารถค้ำจุนชีวิต

คุยกับช้างน้อย-กุญชร The Cloud กับฝันที่อยากให้เที่ยวไทยไประดับโลก

ครั้งแรกของ Amazing Green Fest ว่าด้วยเที่ยวยั่งยืนหลายเชด

4 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับหมาป่าที่เราอาจยังไม่รู้

เมื่อภาพจำของหมาป่าในวัยเด็กอาจทำให้เผลอเชื่อเรื่องเล่าว่าเป็นความจริงไปโดยไม่รู้ตัว

การกินอาหาร Plant-based ช่วยโลกได้อย่างไร

วิจัยมากมายสนับสนุนว่าการทานเนื้อสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน และการหันมาทานผักผลไม้อาจเป็นทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว