เนเธอร์แลนด์กับระบบสวัสดิการของรัฐที่ทำให้การปั่นจักรยานนั้นง่ายแสนง่าย ไม่ว่าจะเพศไหน อายุเท่าไหร่ก็ปั่นได้ ปั่นปลอดภัย และปั่นได้ทั่วประเทศ
คนดัตช์ปั่นจักรยานรวมแล้วกว่า ๆ 5 พันล้านครั้งต่อปี และ 64% จากคนทั่วประเทศต้องปั่นจักรยานอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เหตุผลที่ปั่นก็หลากหลายตั้งแต่ปั่นเพื่อออกกำลังกาย ปั่นไปทำงาน ปั่นไปเที่ยว หรือปั่นไปทำธุระ ซื้อของ คนที่นี่ปั่นจักรยานกันเป็นปกติยิ่งกว่าขับรถยนต์ซะอีก
ชวนมาดูการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการปั่นในแบบของเนเธอร์แลนด์จากเมืองที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์แบบเรา ๆ สู่เมืองที่มีการปั่นอยู่ในสายเลือดเป็นอันดับต้นของโลก
Bike Lanes are everywhere!
ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีเส้นทางสำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะกว่า 37,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ และในบางเมืองยังมีเลนสำหรับปั่นจักรยานยาวกว่าเลนรถยนต์ซะอีก แต่ แต่ เมืองจักรยานแบบนี้ก็ไม่ได้มาจากสวรรค์สร้างมาแต่ไหนแต่ไร ในช่วงก่อนหน้านี้เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 เนเธอร์แลนด์ก็ยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์เป็นหลักอยู่เลย
แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแห่งการปั่น?
ย้อนกันกลับไปก่อนว่าจุดเริ่มต้นที่จักรยานได้รับความนิยมมากขึ้นก็หนีไม่พ้นเรื่องปากท้องและความคุ้มค่าในยุคนั้น เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในเยอรมนี ส่งผลให้จักรยานมีราคาไม่แพงนักและกลายเป็นยานพาหนะที่เข้าถึงได้ง่ายสุดฮิต สัดส่วนชาวปั่นจึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของปริมาณการจราจรทั้งหมด และโตมาเรื่อย ๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่ แต่ เรื่องก็มีอยู่ว่าในระยะเวลาช่วงเดียวกัน ค่านิยมการใช้รถยนต์ก็เพิ่มสูงขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางและระดับบนเช่นกัน ด้วยความรู้สึกแบบกลิ่นอายความทันสมัย! อุตสาหกรรม! ความอิสระ! อีกทั้งภาครัฐก็สนับสนุนรถยนต์เต็มที่เพื่อความเจริญที่เท่าทันมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นด้วย จนทำให้จักรยานกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมโบราณ ถูกละเลยจากการพัฒนา ‘เลนจักรยาน’ กลับถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และมีการสร้างถนนใต้ดิน รื้อบ้านเรือน ถางป่า ถมคลอง เพื่อตอบสนองการขยายถนน
ในระยะเวลาเพียง 25 ปี จำนวนรถยนต์ในเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นจาก 139,000 คัน (ปี 1950) สู่ 3.4 ล้านคัน (ปี 1975)
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รถยนต์พีคจนสุดขีดก็ตามมาด้วยความแออัด ความขัดแย้งกับผู้คนที่ปั่นจักรยานซึ่งเป็นประชากรส่วนมากจนมีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นสูงจนน่ากังวล ประกอบกับมีวิกฤติน้ำมันเกิดขึ้นในปี 1970 เนเธอร์แลนด์จึงค่อย ๆ เปลี่ยนมุมมองเพื่อลดความสำคัญของรถยนต์ลงและลงทุนในการทำระบบขนส่งที่ปลอดภัยและยั่งยืนมากขึ้น
รัฐบาลภายใต้พรรค D66 (Democrats 66) และพรรค Labour (PvdA) ที่อยู่ในอำนาจในช่วงทศวรรษ 1970 ได้มีการพัฒนาระบบขนส่งอย่างจริงจังโดยหมุดหมายแรกที่สำคัญคือการจัดทำแผนการขนส่งในปี 1975 ที่รัฐบาลได้จัดทำแผนการขนส่งที่รวมเอาระบบจักรยานเข้าไปด้วยโดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เปลี่ยนจากรถยนต์เป็นศูนย์กลางให้จักรยานเป็นศูนย์กลาง
โครงการหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือ โครงการฟื้นฟูคูคลองช่วงถนน Catharijnesingel ใน Utrecht ที่เคยถูกถมเป็นถนนมอเตอร์เวย์กว่า 11 เลน เพื่อขยายการสัญจรและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้รถ ฟังมาตรงนี้ก็ดูเหมือนจะดี แต่นี่ก็เป็นจุดที่ทำให้เมืองสูญเสียธรรมชาติในเมืองไป
สร้างได้ก็รื้อได้น่ะ!
ช่วงทศวรรษ 1990 ในยุคของ Eelco Eerenberg สมาชิกสภาเทศบาลเขต Hoog Catharijne ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติและระบบขนส่งในเมือง ได้มีการเปิดทำประชามติแผนแม่บทฟื้นฟูคลอง (Stadsbuitengracht) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จนได้มีการฟื้นฟูพื้นที่ตรงนั้นให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นคลองให้เรือสัญจรได้อีกครั้ง คูคลองนี้ใช้เวลากว่า 20 ปี แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามและความยืดหยุ่นของเมืองที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปว่ามันเกิดขึ้นได้และส่งผลดีกว่าในระยะยาว
รัฐที่มีพื้นที่ให้จักรยานเสมอ!
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ประเทศนี้ก็มีพื้นที่สำหรับจักรยานเสมอ! หลังจากบรรจุการพัฒนาระบบจักรยานเข้าในแผนการขนส่งแล้ว เนเธอร์แลนด์เดินหน้าพัฒนาเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะใน Amsterdam และ Utrecht เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาปั่นมากขึ้น
โดยปกติ บ้านของชาวเนเธอร์แลนด์จะถูกออกแบบให้มีที่สำหรับจอดจักรยานได้ แต่สำหรับที่พักใครที่ไม่มีที่จอด ท้องถิ่นก็มีการสร้งสถานที่จอดให้ เรียกว่า “Buurtstallingen” ส่วนเวลาที่ต้องเดินทางหลายต่อก็ไม่ต้องห่วง เพราะที่นี่มีโรงจอดจักรยานใต้ดินหรือที่เรียกว่า ‘Fietsenstallings’ ที่สามารถฝากจักรยานเอาไว้ฟรีได้ 24 ชั่วโมง แล้วถ้าต้องขึ้นรถไฟไปที่อื่น ก็สามารถเช่าจักรยาน OV-Fiets ซึ่งเป็นเหมือนจักรยานกลางที่ใครก็สามารถเช่าได้ในราคา 4.55 ยูโร/วัน ซึ่งมีอยู่ทุกที่ทั่วประเทศ
ด้วยเหตุนี้ คนที่ปั่นจักรยานก็รู้สึกอุ่นใจว่าจะปลอดภัย ขี่ได้ยาว ๆ ไม่มีสะดุด จึงเป็นสาเหตุให้คนออกมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น
รัฐที่ทำให้การปั่นจักรยานนั้นถูกขึ้น
เนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการที่สนับสนุนให้เปิดการใช้จักรยานมากขึ้น เช่น การร่วมมือกันของรัฐและภาคเอกชน โดยบริษัทจะให้ค่าเดินทางแก่ชาวปั่นจักรยานโดยไม่หักภาษีมูลค่าอยู่ที่ 0.19 ยูโร/กิโลเมตร ซึ่งปั่นเท่าไหร่ก็จะทบไปตามจำนวนกิโลเมตร ไปจนถึงการปล่อยกู้เงินแบบไม่มีดอกเบี้ยสำหรับคนที่จะซื้อจักรยาน
รัฐที่ปลูกฝังให้คนเห็นคุณค่าของจักรยาน
ความน่ารักอีกอย่างของที่นี่คือ คนดัตช์เขารักจักรยานของตัวเองนะ ที่นี่มีการส่งเสริมให้คนซ่อมจักรยานมากกว่าเอาไปทิ้ง โดยจะมีร้านบริการซ่อม Fiets & Service ที่กระจายตัวอยู่ตามสถานี แต่ก็ต้องทำใจกันนิดนึงว่าอันนี้ไม่ฟรีแล้วนะ! มีค่าใช้จ่ายตามปกติ แต่เรทราคาค่อนข้างโปร่งใสและไม่ดิ้นให้เราเซอร์ไพรส์ตอนควักเงินจ่ายแน่นอน เขาจะมีเรทระบุบนเว็บไซต์เลยว่าบริการไหน ราคาเท่าไหร่ รวมถึงเรื่องความรวดเร็วที่พยายามจะซ่อมเสร็จให้ได้ภายในวันเดียวกัน แต่ถ้าหากจักรยานเสร็จไม่ทันภายในช่วงเย็น ก็จะมีจักรยานให้ยืมใช้งานฟรีไปก่อนระหว่างรอด้วย
แต่ถ้ามันซ่อมไม่ได้แล้วจริง ๆ ที่นี่ก็มีการอัพไซเคิลจักรยานที่ใช้ไม่ได้แล้วเพื่อส่งต่อให้เด็กที่ขาดแคลนต่อไป
การปั่นจักรยานสำหรับคนดัตช์ไม่ใช่แค่สำหรับเดินทางเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสุขภาพ เพราะสิ่งนี้ช่วยทำให้คนแข็งแรงขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ ได้ออกแรงปั่น จิตใจก็สดใสขึ้น และการที่รัฐให้ความสำคัญต่อการปั่นจักรยานก็ทำให้คนปั่นรู้สึกอุ่นใจว่าจะปลอดภัย ขี่ได้ยาว ๆ ไม่มีสะดุด จึงเป็นสาเหตุให้คนออกมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น
รัฐที่ทำให้การปั่นจักรยานเป็นเรื่องที่ทำได้ทุกคน
ในเมือง The Hague ยังมีการเปิดคอร์สสอนปั่นจักรยานให้กับผู้ที่ปั่นจักรยานไม่เป็นด้วย โดยคอร์สเรียนดังกล่าวมีเนื้อหาทั้งหมด 10 คอร์ส ผู้เรียนไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยเลยเพราะเขามีสนามสำหรับฝึกปั่นจักรยานโดยเฉพาะ จะสอนจนขี่ให้เป็นก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ออกไปปั่นบนถนนจริงได้
คนดัตช์เชื่อว่าใครก็ปั่นจักรยานได้ ไม่ได้มีแค่เด็กเท่านั้น จะแก่จะหนุ่มหรือจะเพศไหนก็ทำได้เหมือนกัน รัฐเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความคิดนี้
เช่น โครงการ ‘Doortrappen’ ของรัฐบาลที่สนับสนุนการปั่นจักรยานในผู้สูงอายุให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยพวกเขาจะทั้งสื่อสาร ให้ข้อมูล และคำแนะนำในการจัดกิจกรรมปั่นของชมรมหรือการร่วมกลุ่มปั่นแต่ผู้สูงวัย เช่น การรณรงค์ทางเลือกจักรยานสามล้อหรือสี่ล้อแทนจักรยานสองล้อเพื่อช่วยเรื่องการทรงตัว การก่อตั้งชมรมจักรยานสำหรับผู้สูงอายุ และแนะนำวิธีที่ทำให้การขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะให้มีการติดตั้งกระจกมองข้าง การปรับเบาะรวมถึงขาถีบให้เหมาะสมกับคนปั่น
ปั่นที่มากกว่าปั่น แต่ได้ประชากรในประเทศที่มีคุณภาพขึ้น
แล้วคงจะไม่เกินจริงถ้าเราจะบอกว่าแม้แต่วัฒนธรรมการปั่นเนี่ย ก็มีความเหงาเป็นตัวขับเคลื่อนเหมือนกัน! สำหรับผู้คนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณที่ต้องอาศัยอยู่บ้านคนเดียวหรือไม่มีกิจกรรมให้ทำ การออกไปปั่นจักรยานนั้นหมายถึงการขยับร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ได้กระชุ่มกระชวย และหากขยับไปไกลกว่านั้นซักหน่อย การออกทริป รวมกลุ่มปั่นกับเพื่อนเพื่อความบันเทิงใจก็เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้น รู้สึก ‘เหงา’ น้อยลง และรักตัวเองมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าตัวเองยังมีกำลังวังชาออกไปทำสิ่งต่าง ๆ และพึ่งพาตัวเองได้!
ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าการเติบโตของวัฒนธรรมการปั่นในเนเธอร์แลนด์ก็ไม่ได้สวรรค์สร้างมาตั้งแต่แรก อาจจะมีช่วงโซ่ยาน ติดหล่มไปบ้าง โดนรถยนต์วิ่งแซงไปบ้าง แต่สิ่งนี้ก็กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขของโลกที่เปลี่ยนไป การบริหารของเมืองควรที่จะสามารถยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนแปลงให้สอดรับไปกับบริบทของโลกและความเป็นอยู่ของคนให้ได้ รวมถึงบทบาทของภาครัฐที่ต้องทำให้การปั่นจักรยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวการสำคัญในการจูงใจให้คนปรับตัวหันมาใช้จักรยานไปด้วยกันได้
ที่มา
https://ecf.com/sites/ecf.com/files/Bezema.M_Bicycle_parking_in_the_Netherlands.pdf
https://www.ns.nl/en/door-to-door/ov-fiets/how-it-works.html