Make-up Overdose ‘ของมันต้องมี’ แต่มีแล้ว ‘ต้องใช้’ ด้วย

เมื่อเครื่องสำอางไลน์ใหม่ออกมา การซื้อมาเติมเรื่อย ๆ ตามกระแส อาจไม่ต่างกับอะไร Fast Fashion

ทุกคนมีลิปสติกกันกี่แท่ง ? คุชชั่นกี่ตลับ ? พาเลทกี่อัน ? 

ขอทายเลยว่าหลายคนอาจมีมากกว่า 1 ชิ้น ทุกครั้งที่มีเครื่องสำอางออกใหม่ พวกเราต่างพุ่งตรงเข้าไปซื้อ แม้เครื่องสำอางคอลเลกชั่นใหม่เหล่านั้น จะไม่ต่างอะไรจากของเดิมที่มีอยู่แล้วมากนักก็ตาม

แต่ #ของมันต้องมี แล้วตัวแม่อย่างพวกเราจะพลาดได้อย่างไร 

Euromonitor เผยข้อมูลการบริโภคผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมความงามของคนไทยปี พ.ศ. 2564 มีมูลค่ารวม 1.447 แสนล้านบาท ทำให้คนไทยกลายมาเป็นลูกค้าอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมความงามทั่วโลก 

หากลองสังเกต หลายคนมักจะมีเครื่องสำอางประเภทเดียวกันมากกว่า 1 ชิ้น แค่ลิปสติกของคนหนึ่งคนก็มีมากกว่า 1 แท่งแล้ว มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เราจะซื้อเครื่องสำอาง ทุกคนล้วนมีสิทธิซื้อสิ่งที่ต้องการ แต่เหนือกว่าความต้องการ คือ ต้องไม่ทำให้สิ่งที่ซื้อมานั้นสูญเปล่า เพราะเครื่องสำอางที่ถูกซื้อตามกระแส อาจไม่ต่างอะไรกับ ‘Fast Fashion’ (ซื้อเสื้อผ้าตามกระแส สุดท้ายใส่แค่ครั้งเดียว)

ตอนซื้อ เราซื้อด้วย “ความอยาก” และความรู้ที่ว่า “ของมันต้องมี” แต่พอใช้ไปเพียงหนึ่งครั้ง หากถูกใจอาจมีใช้ต่อ แต่หากไม่ถูกใจ เครื่องสำอางชิ้นนั้นจะถูกโยนไปรวมกับกองเครื่องสำอางชิ้นอื่น ๆ เป็นกองเมคอัพที่ถูกลืม เมื่อมาพบอีกทีกลับหมดอายุไปแล้ว และเป็นกองภูเขาขยะเครื่องสำอางในท้ายที่สุด แถมยังมีเครื่องสำอางอีกไม่น้อยที่ยังใช้งานได้แต่กลับไม่ถูกใช้งาน เพราะความรู้สึกที่อยากใช้ลดน้อยลงหลังซื้อมาแล้ว 

อุปสงค์เพิ่มขึ้นอุปทานเพิ่มตาม 

เมื่อคนตกเป็นทาสการตลาดและความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมจึงต้องเร่งผลิตเครื่องสำอางเพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงบางกรรมาวิธีผลิตที่อาจจะไม่ใจดีต่อโลกเท่าไหร่ ทำให้พลาสติกและปิโตรเคมีถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพลาสติกที่มักนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอาง 

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีบรรจุภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านชิ้นต่อปี โดยร้อยละ 95 ของบรรจุภัณฑ์ ถูกทิ้งหลังจากใช้งานเพียงครั้งเดียว และมีเพียงร้อยละ 14 ถูกนำไปรีไซเคิล 

นอกจากนี้ ยังมีพลาสติกในรูปแบบของ ‘ไมโครบีดส์’ ที่เป็นส่วนผสมตามผลิตภัณฑ์ชำระล้างต่าง ๆ เช่น โฟมล้างหน้า คลีนซิ่ง เมื่อโดนน้ำชะล้างมีโอกาสที่จะหลุดไปตามแหล่งน้ำ รวมไปถึงไมโครพลาสติกที่ถูกผสมอยู่ในเครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก กลิตเตอร์ พาเลทตา ที่มีโอกาสจะเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อโดนล้างออกก็มีโอกาสจะหลุดไปตามแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ 

ขณะที่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางบางแห่ง มีการใช้น้ำมันและไขมัน จากทั้งพืช สัตว์ และน้ำมันแร่ต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งหากลงไปสู่แหล่งน้ำ คราบน้ำมันเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำหรับแสงที่จะทะลุผ่าน กีดขวางการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ และถ้าเคลือบเหงือกของปลา จะทำให้ปลาไม่สามารถรับออกซิเจนจากน้ำได้และตายในที่สุด

ในฐานะผู้บริโภค #ซื้อมาแล้วต้องใช้ให้คุ้ม เครื่องสำอาง 1 ชิ้น มีอายุใช้งานเฉลี่ย 6 – 12 เดือน หากเราใช้อย่างคุ้มค่าตามอายุของผลิตภัณฑ์ จะช่วยลดโอกาสเกิดขยะที่ถูกลืมได้มากขึ้น ความคุ้มค่าในที่นี้ ไม่ใช่แค่เรื่องใช้ให้หมด แต่รวมไปถึงเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์มากขึ้นด้วย

แน่นอนว่าเราต่างเคยผิดพลาดในการซื้อเครื่องสำอาง เช่น ซื้อผิดเบอร์ ซื้อมาแล้วพอลองดันไม่เหมาะกับผิว หรือบางทีอาจจะวางไว้บนโต๊ะนานจนมันหมดอายุ ก็อย่าเพิ่งนำไปทิ้ง เพราะมันยังคงมีคุณค่าอยู่ ปัจจุบันมีหลายมูลนิธิที่เปิดรับบริจาคเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าศพ ซึ่งจะช่วยให้ของที่ซื้อมาไม่สูญเปล่า และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการเกิดขยะได้เช่นกัน

อ้างอิง :

https://ej.eric.chula.ac.th/article/view/349

https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/green-beauty/

Credit

uniPoP

Related posts

ค่าไฟแบบ TOU คืออะไร ?

สิ่งนี้จะช่วยให้ลดค่าไฟฟ้าที่แสนโหดร้ายได้หรือไม่อย่างไร ?

วางความเครียดลง แล้วมาฟังเสียงนก ชมป่าไม้ไปด้วยกันที่ Praisan.org

Praisan.org เว็บไซต์ที่นำเสนอกลิ่นอายธรรมชาติทั่วไทยผ่านรูปแบบเสียง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

โลกได้รับผลกระทบอะไร เมื่อ ‘เอลนีโญ’ สิ้นสุดแล้ว ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามา

ลานีญากำลังมา ในขณะที่มนุษย์โลกก็ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกจึงไม่ได้หยุดพัก แต่มันจะรุนแรงขนาดไหน?