วะบิ ซะบิ ปรัชญาที่โอบรับความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ

ชื่นชมความด่างพร้อยของชีวิตด้วยหลักคิดญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากนิกายเซน

“ไม่มีความงามที่แท้จริงใดไร้ซึ่งริ้วรอยของความด่างพร้อย”

Rumi

ในญี่ปุ่นมีปรัชญาหนึ่งที่เรียกว่า “วะบิ ซะบิ” ที่สอนให้คนชื่นชมความงามของสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นแม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบก็ตาม การพอใจซึ่งสิ่งที่มันเป็นตามธรรมชาติและเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ถือเป็นหนึ่งในความคิดที่รักษ์โลกเพราะนี่ถือเป็นการปฏิเสธที่จะไล่ตามและเสาะแสวงหาสิ่งของภายนอกเพื่อนำมาปรนเปรอความต้องการที่ไม่จบสิ้น “วะบิ ซะบิ” นั้นสอนให้เราโอบรับสิ่งที่เราเป็นเจ้าของและใช้ชีวิตอย่างพอเพียงแบบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ความหมายของวะบิ ซะบิ

“ต้องใช้หัวใจแบบ วะบิ ถึงจะเห็นความงามแบบ ซะบิ”

Omar Itani

วะบิ (Wabi) แปลว่า รสชาติอ่อน ๆ มีรากศัพท์ที่เชื่อมโยงกับคำว่า ‘ความยากจน ขาดแคลน และสิ้นหวัง’ แต่เมื่อวะบิถูกนำมาใช้กับพิธีชงชาจะมีความหมายถึงสุนทรียะของความเรียบง่าย

ซะบิ (Sabi) มีสองคำแปล นัยหนึ่งนั้นหมายถึง ‘ความเก่าแก่ คร่ำคร่า ความเรียบหรู’ ในขณะที่อีกนัยหนึ่งนั้นหมายถึง ‘ความสุขสงบ’ เมื่อนำมาตกผลึกรวมกัน ซะบิ นั้นจึงหมายถึง ความงามที่ถูกสลักขึ้นอย่างพิถีพิถันจากกาลเวลาจนถึงคราวเสื่อมหรือผุกร่อน เช่น โต๊ะที่ใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง ถ้วยชามที่ใช้ใส่อาหารมาชั่วอายุคน

เมื่อนำ วะบิ มารวมกับ ซะบิ จึงได้ความหมายของการโอบรับความงามที่เรียบง่าย ไม่สมบูรณ์แบบที่ถูกบ่มเพาะจากกาลเวลา 

ที่มาของวะบิ ซะบิ

ในศตวรรษที่ 15-16 พิธีชงชาเป็นงานอดิเรกยอดนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและถือว่าเป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย สะท้อนถึงความฟุ้งเฟ้อในหมู่ซามูไร แต่ต่อมา เซน โนะ ริกิว นักธุรกิจและนักจัดพิธีชงชาก็ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนธรรมเนียมการชงชาที่หรูหราฟู่ฟ่าให้มีลักษณะที่เรียบง่ายและงดงามตามแบบธรรมชาติ เปลี่ยนจากการใช้เครื่องชามราคาแพงมาเป็นข้าวของที่ใช้กันตามบ้านเรือนทั่วไป เพื่อให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความงามที่แท้จริง และซึมซับสุนทรียภาพที่แท้จริงจากการชงชา ไม่ใช่จากข้าวของโอ่อ่าราคาแพง สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในยุคนั้นที่ยังต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดมัธยัสถ์ 

ความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ – หัวใจของวะบิ ซะบิ

วะบิ ซะบิฝึกฝนให้เรายอมรับความบกพร่องของชีวิตและทุกสิ่งที่มีอย่างกล้าหาญ เพราะไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จีรัง ทุกอย่างมาและไปเป็นธรรมดา หลักความเชื่อเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธนิกายเซนของญี่ปุ่น ที่สอนให้เรารับมือกับสิ่งที่เราเผชิญหน้าอย่างตั้งมั่นและมีสติ การจดจ่ออยู่กับปัจจุบันและซึมซับทุกช่วงขณะของชีวิตที่ทั้งสวยงามและอัปลักษณ์ด้วยใจที่ยอมรับจะทำให้เราตัวเบาขึ้น สังคมออนไลน์ที่เราสามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของคนอื่นและสังคมได้ตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกเลื่อนลอยและขาดความยึดมั่นในตัวเอง เมื่อมองออกไปข้างนอกนาน ๆ เราก็จะยิ่งมองเห็นถึงความบกพร่องในตัวชัดขึ้น นั่นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เรายากที่จะรู้สึกพอใจในตัวเอง ต้องหาวัตถุข้างนอกมาเติมเต็มความรู้สึกขาดหายที่มี การขาดการตระหนักรู้ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย และโลกที่ไปไวก็ทำให้เราก็ไม่มีเวลามาระลึกถึงคุณค่าของสิ่งที่เราครอบครอง เพียงชั่วข้ามคืน เทรนด์แฟชั่นก็เปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องออกวิ่งเพื่อตามโลกให้ทัน แต่แล้วเราก็จะตระหนักรู้ว่า ยิ่งเราวิ่งตามโลก เราก็ยิ่งวิ่งหนีออกจากความสุข วะบิ ซะบิโอบรับความเรียบง่ายที่เป็นอยู่ของชีวิต ไม่วิ่งตามเทรนด์ แต่มุ่งให้มองย้อนกลับเข้ามายังในตัวของเรา ของของเรา บ้านของเรา เพื่อพบว่า สิ่งที่เรามีนั้นเพียงพออยู่แล้ว ความเก่ากรุนี้งดงามอยู่แล้ว

ความไม่สมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งที่แปลกปลอมหรือผิดปกติแต่อย่างใด แต่คือ “ธรรมชาติ” วะบิ ซะบิ อยากให้เราเปิดใจรับธรรมชาติอย่างที่มันเป็น เพราะไม่มีสิ่งใดในโลกที่สมบูรณ์แบบ และสวยงามจีรังยั่งยืน การยอมรับการเสื่อมถอยและมองเห็นความงามจากการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ใจเราเป็นสุขจากการไม่ฝืนแรงต้านของกาลเวลา ถ้าลองหันไปมองรอบ ๆ ก็อาจสังเกตถึงความเป็นวะบิ ซะบิอยู่ทุกที่รอบตัว ปรัชญานี้สอนให้เราเชื่อมโยงตัวตนของเรากับธรรมชาติ แต่ก่อนจะเชื่อมโยงได้ เราก็ต้องเปิดใจยอมรับทั้งความงามและความไม่งามของมันก่อน

สิ่งของแบบวะบิ ซะบิ

ของใช้ตกกระแสที่ใช้มาแต่รุ่นปู่ย่าคือตัวแทนของความงดงามแบบวะบิ ซะบิ มีใครมีโต๊ะกินข้าวที่ใช้มาเป็นสิบ ๆ ปี หรือลิ้นชักตู้กับข้าวที่ขาตู้แทบโย้ไหม? ของเหล่านี้ก็ถือเป็นความงามแบบวะบิ ซะบิเช่นกัน กล่าวคือ วะบิ ซะบิ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะภายนอกของสิ่งของเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองที่เรามีต่อมัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมักเป็นข้าวของที่ผ่านอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิตมาพร้อมกับเรา ที่ตอนนี้อาจผุกร่อนไปตามกาลเวลา แต่ยังสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความสงบทางใจอยู่เสมอ

เช่น โคมไฟเก่าบนโต๊ะอ่านหนังสือผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน แม้จะรูปทรงตกสมัย หลอดไฟไม่สว่างเท่าเมื่อก่อน แต่มันก็ยังงดงามและอบอุ่นในแบบของมันเอง

เพราะข้าวของเหล่านี้อยู่เคียงข้างเรามาตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา 

วะบิ ซะบิ จึงอยากให้เรารับรู้ถึงคุณค่าของข้าวของที่เก่าและไม่ได้งดงามแบบเดิมว่า ที่เธอเป็นแบบนี้มันก็สวยงามเพียงพอแล้ว และขอบคุณสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอ

คินสึงิ ศิลปะการซ่อมแซมข้าวของที่แตกสลาย 

ในญี่ปุ่นมีศาสตร์ที่เรียกว่า ‘คินสึงิ (Kintsugi)’ หรือการซ่อมแซมข้าวของที่แตกหักด้วยทองคำหรือโลหะเหลว ด้วยการนำมันมาเชื่อมชิ้นส่วนที่แตกหักออกจากกันให้กลับมาติดกันอีกครั้ง 

ศิลปะแบบคินสึงินั้นมีความคล้ายกับปรัชญาวะบิ ซะบิตรงที่มันเปลี่ยนความแตกสลายมาเป็นความงามที่ไม่เหมือนใคร ภูมิใจและเฉิดฉายกับตัวเองเวอร์ชั่นใหม่แทนที่จะเอาแต่ปิดบังความด่างพร้อยที่มี กล่าวอีกอย่างคือ คินสึงิคือความกล้าหาญที่จะนำเสนอความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง

ศิลปะแบบคินสึงินั้นภูมิใจกับบาดแผลจากการถูกซ่อมแซม ลายพาดสีทองทำให้ถ้วยชามนั้นดูเด่นเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา บางที่ถึงขั้นตั้งใจทำให้แก้วไหเหล่านั้นแตกก่อนแล้วจึงปะเชื่อมด้วยทองคำเหลว กลายเป็นงานศิลปะที่ทำให้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างตั้งใจ ศิลปะแบบคินสึงิสอนให้เราโอบรับในความแตกสลาย ที่ไม่ใช่เพียงความสวยงามของสิ่งนั้น เพราะไม่มีสิ่งไหนจีรังยั่งยืน หรือมีแต่ด้านสวยงาม การยอมรับในความไม่เที่ยงและการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความผิดพลาดแทนที่จะมัวยึดติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบที่เป็นไปได้เพียงในอุดมคติ คือเส้นทางแห่งความสุขที่ยั่งยืนและมั่นคง

วะบิ ซะบิ กับ มินิมอลลิสม์

วะบิ ซะบิมีคอนเซปท์คล้ายกับปรัชญาตะวันตกอย่าง ‘มินิมอลลิสม์’ ตรงที่คำนึงถึง ‘ความจำเป็นในการใช้งานของสิ่งต่าง ๆ’ มากกว่าการครอบครองอย่างฟุ่มเฟือยและเกินจำเป็น รวมถึงตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นอย่างรู้สึกขอบคุณ ทั้งคู่เป็นหลักคิดที่ส่งเสริมเรื่องการใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ชื่นชมความงามที่เรียบง่ายของสิ่งรอบตัวมากกว่าการตกแต่งประดับประดาที่แสดงถึงความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ทั้งวะบิ ซะบิและมินิมอลลิสม์ต่างก็มีภาพของความสมถะและถ่อมตนเหมือน ๆ กัน

ความแตกต่างเล็กน้อยของสองปรัชญานี้อยู่ที่แก่นกลางของหลักคิด วะบิ ซะบิทะนุถนอมและเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่แล้วแม้มันจะไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนเดิม แต่ก็ยังรักและชื่นชมความงามที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เหมือนคนที่ยังรักคู่ชีวิตของตนเช่นตอนที่แต่งงานใหม่ ๆ แม้เธอคนนั้นจะหน้าตาเปลี่ยนไปตามกาลเวลาก็ตาม ในขณะที่ มินิมอลลิสม์ นั้นเน้นการเก็บเฉพาะของที่จำเป็นกับชีวิตจริง ๆ และทิ้งของที่ไม่จำเป็นไป เพื่อให้ชีวิตได้มีอิสระมากขึ้น เพราะการครอบครองข้าวของก็ไม่ต่างกับการมีพันธะผูกพันอยู่กับตัว ยิ่งมีเยอะ เรายิ่งขาดอิสระ พันธะเหล่านั้นเป็นได้ทั้งความทรงจำ ความกลัว และความรู้สึกต่าง ๆ เมื่อทิ้งของที่ไม่จำเป็นออกไป ชีวิตก็จะเหลือแต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ให้โฟกัส

นอกจากหลักคิดที่แตกต่างกันแล้ว ไลฟ์สไตล์หรือสุนทรียะก็ต่างกันด้วย วะบิ ซะบิมีรากฐานจากวัฒนธรรมการดื่มชาของญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณ ทำให้มีความขลัง เคร่งขรึม เก่าแก่ และโทนหม่นมืด ในขณะที่มินิมอลลิสม์นั้นเป็นแนวคิดแบบโมเดิร์นแบบตะวันตก เน้นสีเอิร์ธโทน สีขาว เรียบง่าย สะอาดตา 

วะบิ ซะบิ กับมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม

เราสามารถนำปรัชญาวะบิ ซะบิมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ทุกที่และทุกเมื่อ ซึ่งแนวคิดของวะบิ ซะบิ นอกจากจะทำให้ใจเราสุขสงบขึ้นแล้วยังส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย อย่างเช่น

– การไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบทำให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี ไม่ฟุ่มเฟือยซื้อของที่ไม่จำเป็น ลดการตามกระแส/เทรนด์ โดยเฉพาะฟาสต์แฟชั่น 

– ส่งเสริมให้มีจิตสำนึกในด้านสิ่งแวดล้อม สอนให้เราอนุรักษ์และดูแลธรรมชาติอยู่เสมอ เพราะธรรมชาติคือบ้านที่กำเนิดความสุขสงบในใจของเรา

– มองเห็นความงามของสิ่งรอบตัวที่มีอยู่แล้ว มากกว่าไปเสาะแสวงหาสิ่งเติมเต็มจากข้างนอก

– มีสติและตระหนักรู้ในตัวเองอยู่เสมอ การใช้ชีวิตให้ช้าลงอย่างมีสติ ทำให้เราไม่เผลอทำสิ่งที่คุ้นเคยแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้ซื้อของอย่างฉลาดมากขึ้นด้วย

– สอนให้ใช้สิ่งของต่าง ๆ อย่างรู้ค่า ใช้จนกว่ามันจะใช้งานไม่ได้ รวมถึงปลูกฝังแนวคิดการซ่อมแซมสิ่งของที่พังหรือแตกหักแทนที่จะทิ้งอีกด้วย

รักษ์โลกด้วยการหลอมรวมวะบิ ซะบิกับชีวิตประจำวัน

– การจัดบ้าน: ไม่ยึดติด เก็บแค่ของที่มีความสำคัญกับเรา รวมถึงสร้างสรรค์ทัศนียภาพในบ้านด้วยสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่นจากวัสดุธรรมชาติ หรือสิ่งของรีไซเคิล

– การช็อปปิ้ง: พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ซื้อของแค่ที่จำเป็น มีสติในการใช้จ่าย ไม่เป็นทาสการตลาด ถามตัวเองอยู่เสมอว่าถ้าเราซื้อสิ่งนี้มา เราต้องแลกกับอะไรไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับวางของ เงินในกระเป๋า หรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

– การใช้ของ: ซ่อมแซมสิ่งของแทนที่จะทิ้ง รวมถึงประยุกต์/ดัดแปลงสิ่งของทุกชิ้นที่มีให้ใช้ได้หลาย ๆ โอกาส

– การใช้ชีวิต: ใช้เวลากับธรรมชาติให้มากขึ้น ซึมซับ สัมผัสกับสิ่งรอบตัว แทนที่จะใช้เวลาไปกับเทคโนโลยีจนสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น

การมีสติ: ใช้ชีวิตให้ช้าลง ดื่มด่ำกับปัจจุบัน มีสติ รู้เท่าทันตัวเอง ตรึกตรองและวางแผนก่อนทำอะไรอยู่เสมอ เพราะการทำอะไรอย่างผลีผลามและเร่งรีบบ่อยครั้งแล้วจะสิ้นเปลืองพลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่า

วะบิ ซะบิ แม้จะอธิบายเป็นคำพูดได้ยาก แต่ก็เป็นปรัชญาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างง่ายดาย มันไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องการมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังเจาะลึกไปถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม รู้คุณค่าในสิ่งที่มี และมีสติกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เมื่อเราใช้ชีวิตตามรอยวะบิ ซะบิ เราก็จะเห็นว่าความสุขนั้นเรียบง่ายและหาได้ทั่วไปกว่าที่คิด เพราะชีวิตที่สุขสงบอย่างยั่งยืนนั้นไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับการครอบครองสิ่งของมากมาย อาจเริ่มจากการสังเกตข้าวของในบ้าน จากนั้นจึงเลือกว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไร เก็บของที่จำเป็นต้องใช้ไว้และใช้มันจนถึงที่สุด และปล่อยวางของที่ไม่จำเป็นด้วยใจที่ไม่ยึดติด เมื่อชื่นชมความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ใจก็จะสงบขึ้น โลกก็จะสบายขึ้นด้วย

อ้างอิง

วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิติ โดย Beth Kempton

https://wabisabi.gifts/blog/what-is-the-idea-of-wabi-sabi

https://www.theminimalists.com/minimalism

https://silvotherapy.co.uk/articles/kintsugi-wabi-sabi

Credit

Natticha Intanan

Related posts

สิ่งแวดล้อมกับ “เห็ดเผาะ” ที่ไม่ได้เกิดแค่ในป่า : บริโภคเห็ดเผาะอย่างไรให้ยั่งยืนทั้งป่าและคน

“เผาป่าหาเห็ด” คงไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง เพราะเจตนาของคนที่เข้าไปหาเห็ดไม่ใช่การตั้งใจเผาป่า แต่คือการเผาใบไม้เพื่อช่วยให้มองเห็นเห็ดได้ง่ายขึ้น ทว่า การเผาเพียงเล็กน้อยทำให้บานปลายกลายเป็นไฟไหม้ป่าได้

‘กาแฟเดอม้ง’ แบรนด์กาแฟรักษาป่า จากคนต้นน้ำในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน

“เมล็ดกาแฟไทยที่คุณภาพดีที่สุด” ที่ส่งต่อความอร่อยและความรักและใส่ใจในธรรมชาติที่พวกเขาพึ่งพา

สิ่งแวดล้อมกับ “ราคาอาหารที่สูงจนอาจเอื้อมไม่ถึง” บทลงโทษจากภาวะโลกรวนที่แฝงอยู่ในทุกวัน

โลกไม่ได้เดือดแค่ที่ขั้วโลก แค่ราคาอาหารหน้าบ้านก็พุ่งขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว

How to แก้ปัญหาฉบับไทย ๆ ทำยังไงกับเหล่าเอเลี่ยนสปีชีส์?

ไล่ก็ไม่ได้ กินก็ไม่ไหว พลิกวิกฤตยังไงล่ะทีนี้?