คุณกำลังรักความเป็นระเบียบหรืออยู่ในวังวน Perfectionism เกิดเหตุรึเปล่า? 

พฤติกรรมที่คอยกวนใจ ผลาญพลังงานเราไปเท่าไหร่กับคำว่า ต้องเป๊ะ ต้องปัง

Perfectionism ที่นิยามอาจจะไม่ได้ Perfect เหมือนชื่อเสมอไป เมื่อความเป๊ะ ความเนี๊ยบ ที่ใคร ๆ ต่างพากันถูกใจ พฤติกรรมที่นิยมชมชอบความสมบูรณ์แบบ อาจสร้างผลกระทบลูกใหญ่ที่ไม่เพียงสูญเสียพลังงานทางจิตใจแต่ยังรวมไปถึงสร้างความสูญเสียของโลกเราอีกด้วย 

เป็น Perfectionist แล้วยังไง ทำไมถึงกระทบโลกของเราด้วยล่ะ?

อาการ Perfectionism หรือพฤติกรรมนิยมความสมบูรณ์แบบนั้น ความไม่ผิดพลาดคือเส้นชัยของบุคคลกลุ่มนี้ งานเป๊ะ งานเนี๊ยบ ต้องขอยกให้พวกเขา แม้ความคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบอาจไม่ได้ร้ายแรงเข้าขั้นเป็นโรค แต่ก็บ่มเพาะจากอุปนิสัยที่เริ่มหยั่งลึกลงรากในจิตใจจนส่งผลต่อการเปลี่ยนไปของพฤติกรรม

อ๊ะ อ๊ะ อย่าเพิ่งชะล่าใจไป พฤติกรรมที่เป๊ะจนน่าชื่นชมอาจมีจุดอ่อนเล็ก ๆ ที่คนมักมองข้ามไป

ดั่งผู้คนที่มักพูดกันไว้ว่า ‘อะไรที่มันมากไปก็ใช่ว่าจะดี’ ซึ่งสอดคล้องกับนิยามของพฤติกรรมเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาไม่อยากพบกับความผิดพลาด จึงมักทำอะไรที่ถี่ถ้วนอยู่เสมอ จนอาจเริ่มก้าวข้ามเส้นบาง ๆ ของการย้ำคิดย้ำทำ

แต่ในปัจจุบันทำให้เรารู้สึกว่า Perfectionist ไม่ใช่เรื่องแปลกแยกอะไร เพราะสังคมมักจะสาดไฟเข้าหาข้อผิดพลาดที่ถึงแม้จะเล็กน้อยก็ไม่พ้นสายตาที่จับจ้องมาอยู่ดี การกระทำแบบนี้จึงมักส่งเสริมให้คนกลัวความผิดพลาดเข้าไปกันใหญ่ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้เข้าขั้น Perfectionist กันแล้วหรือยัง ?

ลองเช็คดูสิ คุณมีความ Perfectionism ในตัวแค่ไหน?

เป็นมั้ย มักตั้งมาตรฐานในการทำสิ่งต่าง ๆ ไว้สูงมากจนเกินความเป็นจริง

เป็นมั้ย มักใช้เวลานานกว่าคนทั่วไปในการทำแต่ละสิ่ง เพื่อให้สิ่งนั้นออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด 

เป็นมั้ย มักตั้งคำถามในแง่ลบเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองยังมีข้อผิดพลาดและทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่สมบูรณ์แบบ

เป็นมั้ย มักไม่เชื่อมั่นในการทำงานของผู้อื่น และหาจุดบกพร่องในสิ่งที่ผู้อื่นทำ

ชอบควบคุมหรือบงการความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวัง

ถ้าเช็คลิสต์เหล่านี้อาจยังไม่ชัดพอ เราขอชวนทุกคนมาสำรวจงานบ้านกันหน่อยดีกว่า ว่าคุณกำลังรักความเนี๊ยบแบบพอดีหรืออาจกำลังตกอยู่ในวังวนย้ำคิดย้ำทำกันแน่นะ

1. ใส่ไม่ใส่ไว้ทีหลัง แต่เรื่องเรียบต้องมาก่อน

รีดหมดไม่สนชุดไหน ไม่ว่าชุดอะไรต้องขอเรียบไว้ก่อน ชุดออกงานยังพอเข้าใจ แต่ไหนขอเสียงคนรีดชุดอยู่บ้านหน่อย คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกใจสำหรับชาว perfectionist หากกวาดตามองไปต้องเจอแต่เสื้อผ้าที่ยับยู่ยี่อยู่บนราวผ้า หรือเป็นสายตาที่มีคนจับจ้องรอยยับบนเสื้อผ้าของเราจนสร้างความเป็นกังวล เพราะงั้นคงอดใจไม่ได้ต้องขอรีดซักหน่อย รู้ตัวอีกทีก็หมดราวซะแล้ว  

“ส่วนใหญ่คนจะใส่เสื้อผ้า 2 ชิ้นต่อวัน โดยเสื้อ 1 ตัวจะใช้เวลารีด 5-7 นาที ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 200 กรัม หรือหากคนอินเดียทั้งประเทศลุกขึ้นมารีดผ้า ก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมา 250 ล้านกรัมต่อวันเลยทีเดียว”

แล้วมีวิธีไหนบ้างที่เราสามารถลดละช่วยโลกได้บ้าง มาลองดูกัน

◦ ตามเทรนด์วัยรุ่นสมัยใหม่ที่มักเริ่มปล่อยจอยกับเสื้อผ้าที่ไม่ได้ผ่านการรีด อาจจะเริ่มจากการที่รีดเฉพาะเสื้อผ้าที่ออกงานสำคัญเท่านั้น เช่น ชุดยูนิฟอร์ม ชุดทำงาน ส่วนเสื้อผ้าชิล ๆ ก็พับเก็บวนไป

◦ เลือกใช้ไอเทมที่ไม่ต้องผ่านการรีด เช่น เสื้อยับยากไม่ต้องพึ่งการรีด อย่าง ‘เส้นใยสังเคราะห์ และ โพลีเอสเตอร์’ หรือ สเปร์ยลดรอยยับ เทคนิคสะบัดผ้าก่อนตาก

2. ล้างแล้ว ล้างอยู่ ล้างต่อ

ทุกอย่างต้องดีที่สุด รวมถึงการล้างภาชนะเราก็ไม่เว้น หากไม่สะอาดเราไม่หยุด 

จนเกิดเป็นลูปล้างแล้ว ล้างอยู่ ล้างต่อ 

“หากคุณล้างจานโดยเปิดน้ำลงอ่างและเปลี่ยนการใช้น้ำสองครั้ง จะใช้ประมาณ 15 ลิตร ถ้าล้าง

ด้วยวิธีเปิดน้ำให้ไหลผ่านจานทีละใบ จะใช้น้ำประมาณ 135 ลิตร ในเวลาประมาณ 15 นาที หรือ เทียบเท่าน้ำ 7 ถังใหญ่”

สถิตินี้วัดจากพฤติกรรมโดยทั่วไปของประชากรเท่านั้น ที่ไม่นับจากพฤติกรรมชาว Perfectionist ที่ต้องกริบยันหยดสุดท้าย สถิติการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นเริ่มขัดแย้งกับสถานการณ์ที่แย่ลงอย่างภัยแล้งที่รุนแรง  ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เริ่มไม่เพียงพอ และมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณความต้องการ พฤติกรรมการใช้น้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

แต่ให้หยุดใช้น้ำก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำได้ เพราะงั้นแค่เราหันมาใช้ให้ถูกวิธี เซฟให้ได้มากที่สุด อย่าง เช็ดคราบอาหารก่อนล้าง ใช้ถังรองน้ำสำหรับล้างจาน ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ขณะล้าง หรือ ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การใช้เกลือขจัดคราบความมันก่อนล้าง รวมถึงให้ชาว Perfectionist พร้อมปล่อยวางว่าจานที่เราล้างนั้นสะอาดแล้วจนไม่เกิดการลูปล้างวนไป

3. กินไปเช็ดโต๊ะไป อย่าให้คราบเปื้อนมากวนใจโต๊ะแสนสะอาดของเรา

กินคำ เช็ดคำ หันไปเจอเข้ากับภูเขาทิชชู่ ขยะตัวร้ายที่ทำลายพื้นที่สีเขียว พร้อมสร้างมลพิษอย่างก๊าซเรือนกระจก

ข้อมูลเชิงสถิติระบุว่า ‘คนไทยใช้กระดาษทิชชู่ประมาณ 4 กิโลกรัมต่อคน/ปี ประชากรไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านคน ซึ่งหมายความว่าทั้งประเทศจะใช้กระดาษทิชชู่รวมกันราวๆ 280 ล้านกิโลกรัม/ปี 

การใช้กระดาษทิชชู่ 1 แผ่น เท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต 0.48 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ การสูญเสียต้นไม้ในแต่ละปีราวๆ 5.6 ล้านต้น/ปี (ต้นไม้ 1 ต้นผลิตทิชชู่ได้ 50 กิโลกรัม)

การสูญเสียที่แลกมากับความสะดวกสบายของชาวเรา ทำให้ผลกระทบเริ่มคืบคลานมาใกล้ตัวมากขึ้น อย่างภาวะโลกร้อน พื้นที่สีเขียวที่เริ่มจางหาย

ซึ่งเราอาจจะทดแทนได้ง่าย ๆ ไม่เกินตัว โดยการเลือกใช้ green product ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้อย่างพอดี เลือกใช้ผ้าแทนกระดาษทิชชู่ นี่ก็เป็นหนึ่งวิธีที่สามารถตอบแทนธรรมชาติได้ง่ายและทำในชีวิตประจำวันได้มากที่สุด

ฉันเป็น Perfectionist มันผิดหรือไง ฉันชอบในความเป๊ะที่มี?

เชื่อว่าคงมีคนเช็คลิสต์ตรงกับหัวข้อด้านบนเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเราคิดว่าอาจสอดคล้องกับความเคยชินและค่านิยมที่ทำตามกันมาด้วยส่วนนึง จึงได้หล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมเหล่านี้ตามมา หรือถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมความชอบส่วนตัว เราก็พร้อมเสนอทางเลือกทางเลี่ยงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวให้ดีขึ้น รักษาสุขภาพจิตกับสุขภาพโลกไปพร้อม ๆ กัน ลดผลกระทบทั้งเราและโลก เช่น

◦ เริ่มจากทำ To do list สิ่งที่ต้องทำเอาไว้เช็คเสมอว่าคอมพลีทหรือยัง

◦ ทำ Deep clean สัปดาห์ละครั้ง เป็นประจำอยู่เสมอ

◦ หากิจกรรมหรือประเด็นที่สนใจใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดให้เราสนใจจนลืมความกังวล Perfectionist

◦ เพื่อป้องกันการทำย้ำ ทำซ้ำ ทำซ้อน ลดการกระทำที่เกินความจำเป็น

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เราเชื่อว่าถ้าใจเราได้มักไม่ใช่เรื่องยาก

Nobody Is Perfect

ปัญหาย่อมมีทางออกขอแค่เพียงเราถอดแว่น เปลี่ยนมุมมองที่ยึดสังคมเป็นกรรมการ ยึดจินตนาการว่ามีคนตัดสินอยู่เสมอ สลัดความกลัวทิ้งไป ให้ความผิดพลาดเป็นแค่อีกหนึ่งสัญญาณของการเป็นมนุษย์ ล้มก็แค่ลุก เปื้อนก็แค่เช็ด ตระหนักไว้เสมอว่านั่นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้มากกว่าร่องรอยของความล้มเหลว

ไม่เพียงแต่สุขภาพของเราที่รอการรักษา โลกของเราเข้าคิวรอเวลาเช่นกัน 

ที่มา

https://www.indiatimes.com/news/india/how-much-energy-can-be-saved-if-13-billion-indians-decide-to-not-iron-their-clothes-for-one-day-589006.html

https://www.wwf.or.th/what_we_do/wetlands_and_production_landscape/freshwater

https://bangnang.go.th/public/news_upload/backend/files_230_1.pdf

https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/perfectionism

https://teachme-biz.com/blog/perfectionist-in-workplace/

Credit

Araya A.

Related posts

‘Wastegetable’ ฟาร์มผักบนดาดฟ้าที่หาที่ไปให้กับขยะเศษอาหารใน กทม

ข้างบนห้าง Center One มีฟาร์มผักเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนขยะเศษอาหาร 50-70 ตันต่อปีให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับผักออร์แกนิกสำหรับคนในเมือง

สารคดี The Last Breath of Sam Yan กับการพัฒนาที่หลงลืมผู้คนและรากเหง้าชุมชน

Sam Yan Smart City นี้ดีสำหรับใคร? หาคำตอบผ่านแนวคิด Gentrification เปลี่ยนเมือง

จิบกาแฟคุยกับคนญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนต่างชาติคิดไม่ถึง

นานาเรื่องคนกับสิ่งแวดล้อม ในมุมคนญี่ปุ่นในไทยกับ ‘Takahiko Honda’ ผู้ก่อตั้ง Econok

Qualy แบรนด์ที่ชุบชีวิตวัสดุรีไซเคิลและใช้ความคิดสร้างสรรค์พูดแทนธรรมชาติ

เมื่อการผลิตแบบสปอยล์ผู้บริโภคยิ่งเพิ่มขึ้น การผลิตอย่างคิดถึงโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญ