จากแพขยะ สู่ บ้านพลาสติกของสิ่งมีชีวิตในกองขยะขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก - EnvironmanEnvironman

จากแพขยะ สู่ บ้านพลาสติกของสิ่งมีชีวิตในกองขยะขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อสัตว์น้ำใช้แพขยะเป็นที่อยู่อาศัย อาจทำให้กลายพันธุ์รุกรานต่อระบบนิเวศใกล้เคียง

Great Pacific Garbage Patch คือกองขยะพลาสติกขนาดมหึมาที่มากกว่า 1.8 ล้านล้านชิ้นถือเป็นหายนะของสิ่งแวดล้อม แต่ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันอาจสร้างปัญหายิ่งกว่าเดิมเมื่อขยะเหล่านี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ที่อาจกลายเป็นสายพันธุ์รุกรานต่อระบบนิเวศใกล้เคียง

แม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้มานานแล้วว่าสัตว์ต่าง ๆ เช่น หนอน สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง และหอยจะใช้พลาสติกเป็นที่อยู่อาศัยบ้างแต่งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Ecology & Evolution จะได้ให้รายละเอียดที่ไม่มีใครคาดคิดว่า แพขยะพลาสติกจำนวนมากจะกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่มีระบบชุมชนทางชีวภาพของตนเอง

ทั้งดอกไม้ทะเล ไบรโอซัวสีขาว แอมฟิพอดที่คล้ายกุ้ง หอยนางรมและหอยแมงภู่ต่างเรียนรู้ที่จะมีชีวิตรอดในทะเลเปิดได้โดยการเกาะติดกับพลาสติก พร้อมกับแพร่พันธ์ุในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากที่พวกมันเคยอยู่

“มันอาจจะเป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมที่มีคนรู้จักน้อยที่สุด นั่นคือ ผิวน้ำทะเล” Martin Thiel นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกทางตอนเหนือในชิลี กล่าว “มันเป็นชุมชนเฉพาะที่เรากำลังรบกวนมันอย่างมากในตอนนี้”

Great Pacific Garbage Patch คืออะไร?

Great Pacific Garbage Patch หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า แพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ถึงแม้จะมีคำว่า ‘แพ’ แต่ขยะเหล่านี้ก็ไม่ได้เกาะกันเป็นแพที่แน่นหนา พวกมันค่อนข้างกระจายตัวกันไปแต่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น พื้นที่ประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกจึงใหญ่กว่าประเทศไทยอยู่ราว 3 เท่า ขยะพลาสติกจำนวนมากเหล่านี้ทอดยาวจากชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือไปจนถึงญี่ปุ่นฝั่งแปซิฟิก

ตามรายงานของ National Geographic ระบุเอาไว้ว่ากัปตันเรือที่ชื่อ Charles Moore คือผู้คนพบแพขยะเหล่านี้เป็นคนแรกในขณะที่แข่งขันเรือยอชท์อยู่ เมื่อเขาและลูกเรือข้ามวงเวียนกึ่งเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือไป พวกเขาก็เจอเข้ากับพลาสติกนับล้านชิ้นที่ลอยอยู่รอบเรือ

ทาง Reef Conservation International ซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครที่มีจุดมุ่งหมายอนุรักษ์มหาสมุทรได้ระบุเพิ่มเติมว่า วิธีที่ดีที่สุดในการนึกถึง ‘แพขยะแปซิฟิก’ คือให้จินตนาการถึงฟองน้ำมันที่ลอยอยู่บนซุปขนาดใหญ่ซึ่งเปรียบได้กับมหาสมุทร แต่ฟองน้ำมันบนซุปเหล่านี้มีมากกว่า 1.8 ล้านล้านชิ้นและหนักกว่า 7 ล้านตัน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากว่า 80% ของพลาสติกในแพขยะนั้นมาจากแผ่นดินซึ่งผู้คนทิ้งลงตามแม่น้ำหรือเล็ดลอดออกมาจากการจัดการที่ไม่ดี สำหรับส่วนที่เหลือนั้นมาจากเรือและแหล่งทางทะเลอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเปอร์เซ็นดังกล่าวนั้นแตกต่างกันไปตามการศึกษา เช่น ในปี 2018 ระบุว่าอวนประมงคิดเป็นสัดส่วนมวลเกือบครึ่งของแพขยะดังกล่าว

แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนเห็นตรงกันคือ ขยะเหล่าไม่ได้เป็นขยะชิ้นใหญ่แต่กลับเต็มไปด้วยชิ้นเล็ก ๆ รวมถึงไมโครพลาสติกจำนวนอีกนับไม่ถ้วนที่แตกออกมา มันจึงกลายเป็นปัญหาโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์นานาชนิด

สถานการณ์เหล่านั้นอาจย่ำแย่กว่าที่ใคร ๆ คิดจนทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลจำเป็นต้อง ‘อยู่กิน’ ในพลาสติกเหล่านี้

บ้านพลาสติกหลังใหม่

ทีมวิจัยที่นำโดย Linsey Haram และทีมงานจากศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมสมิธโซเนียน (SERC) ระบุว่ามีสิ่งมีชีวิตไม่มีกระดูกสันหลังที่เป็นสายพันธุ์อยู่ตามชายฝั่งจำนวนมาก มาสร้างอาณานิคมบนพลาสติกโดยที่พวกมันสามารถอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อไปได้

“ฉันจำครั้งแรกที่ Jim (หนึ่งในทีมวิจัย) และฉันดึงพลาสติกชิ้นหนึ่งออกมา แล้วเห็นระดับของสายพันธุ์ชายฝั่งที่มีอยู่ในนั้น เราแทบตกใจเลย” Haram กล่าว “ความหลากหลายที่เราพบส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ชายฝั่ง ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองในมหาสมุทรเปิดตรงผิวน้ำทะเลที่เราคาดการณ์ไว้”

“บน 2 ใน 3 ของเศษซาก เราพบว่ามีชุมชนอยู่ร่วมกัน แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ และอาจมีแนวโน้มที่จะโต้ตอบกันในรูปแบบอื่น” เธอเสริม.

Haram และทีมงานได้ตรวจสอบขยะพลาสติก 105 ชิ้นที่ได้จากแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2018 ถึง มกราคม 2019 พวกเขาสามารถระบุสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลได้ 484 ตัวบนเศษขยะ ซึ่งคิดเป็น 46 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดย 80% ของกลุ่มเหล่านั้นจะพบตามแนวชายฝั่ง

นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ทีมวิจัยคาดการณ์ไว้อย่างมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการนำสัตว์ชายฝั่งทะเลออกสู่มหาสมุทรเปิดเท่านั้น แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ผิดธรรมชาติซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่อื่น ๆ ตามมา หลายชนิดอาจย้ายไปยังอีกซีกโลกหนึ่งแล้วแพร่พันธุ์กลายเป็นสัตว์รุกราน พร้อมกับกลืนกินสัตว์ท้องถิ่น แล้วทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงจนระบบนิเวศพังทลาย

“ถ้าคุณสามารถสืบพันธุ์ได้ คุณก็สามารถแพร่กระจายได้ และถ้าคุณสามารถแพร่กระจายได้ คุณก็สามารถบุกรุกได้” Linda Amaral-Zettler นักจุลชีววิทยาทางทะเลจากสถาบันวิจัยทางทะเลแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งใหม่กล่าว และแพขยะในพลาสติกก็ดูจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยในสถานการณ์นี้

นี่เป็นการศึกษาที่เกิดเฉพาะในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์จึงไม่แน่ใจว่าแปซิฟิกในภูมิภาคอื่น ๆ หรือในมหาสมุทรอื่น ๆ (เพราะมีขยะพลาสติกจำนวนมากเช่นเดียวกัน) หากทั้งหมดเป็นไปในทางเดียวกัน เราก็สามารถคาดการณ์ถึงหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นกับสายพันธุ์ท้องถิ่นได้เลย และนี่ยังไม่รวมปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับวาฬ ปลา นก และเต่าทะเล

อนาคตที่น่าหวั่นใจ

สำหรับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลแล้ว การดำรงอยู่ของอาณานิคม ‘มหาสมุทรเปิดใหม่’ นี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน ขยะพลาสติกที่เคยเชื่อกันว่าเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีใครต้องการมัน กลับกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ของสัตว์นานาชนิดที่หลากหลาย และห่างจากบ้านของพวกมันหลายพันกิโลเมตร

การมาถึงของแพขยะในแปซิฟิกอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางทะเลครั้งใหญ่ในทิศทางที่ไม่มีความมั่นคงเลย และหากสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีกระดูกสันหลัง(ที่เป็นสายพันธุ์ชายฝั่ง)ได้ออกไปยังทะเลที่กว้างใหญ่ มันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ ‘พื้นฐาน’ ขึ้นไปยังห่วงโซ่อาหารที่อยู่บนสุด

“นอกเหนือจากความน่าตกใจแล้ว ฉันคิดว่าผลกระทบก็อาจมีขนาดใหญ่มาก” Sabine Rech นักชีววิทยาทางทะเลจาก Universidad Católica del Norte ในชิลี ซึ่งศึกษาชีวิตเกี่ยวกับขยะในมหาสมุทรในแปซิฟิกใต้บอก

แม้การค้นพบนี้จะดูน่าทึ่งที่สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวให้เข้ากับมลพิษพลาสติก แต่มันก็แสดงให้เห็นด้วยเช่นกันว่าน ปัญหานี้ควรได้รับการจัดการอย่างจริงจังสักที

“สำหรับผม นี่เป็นคำเตือนอีกประการหนึ่งสำหรับเราว่า ต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและจริงจังเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ลงสู่มหาสมุทร” Thiel กล่าว “เพราะเมื่อมันอยู่ในทะเลเปิดแล้ว มันก็สายเกินไป”

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41559-023-01997-y

https://www.scientificamerican.com/…/surprising…

https://www.theatlantic.com/…/animals-migrating…/673744

https://oceanographicmagazine.com/…/great-pacific…

https://www.firstpost.com/…/plastic-home-great-pacific…

Photo : Linsey Haram / Smithsonian Institution

Credit

Related posts

ความตายที่เงียบงัน : ธรรมชาติกำลังสูญเสียเสียง และมันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

ธรรมชาติเงียบเสียงลงมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังสูญหายไป

สารคดี The Last Breath of Sam Yan กับการพัฒนาที่หลงลืมผู้คนและรากเหง้าชุมชน

Sam Yan Smart City นี้ดีสำหรับใคร? หาคำตอบผ่านแนวคิด Gentrification เปลี่ยนเมือง

‘Wastegetable’ ฟาร์มผักบนดาดฟ้าที่หาที่ไปให้กับขยะเศษอาหารใน กทม

ข้างบนห้าง Center One มีฟาร์มผักเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนขยะเศษอาหาร 50-70 ตันต่อปีให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับผักออร์แกนิกสำหรับคนในเมือง

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า