‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่ใช้ขยะมาเล่าเรื่องของเต่าและปัญหาในท้องทะเล

ของเหล่านี้มนุษย์เป็นคนใช้ แต่ใยไปจบอยู่ในท้องเต่า

เมื่อพูดถึงปัญหาในท้องทะเลไทย เราเชื่อว่าเรื่องของ ‘ขยะ’ คงเป็นอะไรที่เรานึกถึงกันเป็นอันดับต้น ๆ และน้องเต่าสี่ขาก็เป็นสัตว์ทะเลลำดับแรก ๆ ที่เรานึกถึงและเห็นภาพผลกระทบจากขยะกันเป็นประจำ ทั้งเศษขยะที่ถูกชันสูตรออกมาจากท้องเต่า เศษขยะที่ลอยแพในทะเลจนเต่าเผลอกินเข้าไป เศษอวนที่พันขาเต่าจนต้องตัดขาทิ้ง ไปจนถึงทำให้ไม่สามารถว่ายน้ำต่อได้ และจมดิ่งไปในท้องทะเลในที่สุดก็มี

แต่จะสยองกว่านั้นไหม

ถ้าเราบอกว่าปัญหาขยะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมดเท่านั้น

บทสนทนากับ พีท-ภัทร กิตติอุดมสุข และ หมอข้าวตู สพ.ญ.อรณี จงกลแพทย์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ผู้ก่อตั้งเพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ ฉายภาพปัญหาในท้องทะเลให้เราเห็นได้อย่างหลากหลาย โดยใช้สิ่งที่อยู่ในท้องเต่าเหล่านี้เป็นตัวช่วยเล่าเรื่อง

เรานัดหมายกัน ณ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณหมอข้าวตูได้ประจำการอยู่ แม้จะเป็นช่วงสุดสัปดาห์แต่ก็ยังเห็นว่าต้องมีบุคลากรและน้อง ๆ ฝึกงานแวะเวียนกันมาเช็คอาการน้องเต่า ๆ อยู่เรื่อย ๆ 

หมอข้าวตูเล่าว่า ส่วนมากอาการเจ็บป่วยของเต่าที่เจอจะเป็นอาการปอดอักเสบ ด้วยความที่เต่าหายใจทางปอด เมื่อเขามีอาการเจ็บป่วย ร่างกายไม่ปกติ ก็จะไม่สามารถหายใจใต้น้ำได้เท่าที่ควร และจะต้องลอยตัวขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อให้หายใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อท้องทะเลมีความผิดปกติ ร่างกายของเต่าก็จะฮีลได้ยากขึ้น ยิ่งกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปก็เป็นอันว่าทรุดหนัก บางตัวก็อาจไม่มีโอกาสรอดกลับมาให้เราได้ช่วยชีวิตเลย

สิ่งของเหล่านี้มนุษย์เป็นคนใช้ แต่ใยไปไปจบที่ท้องเต่า

พลาสติกอ่อน เศษกระสอบ ซากอวน นี่คือ TOP 3 ตัวตึงที่ทั้งสองเล่าว่าเจอในทั้งเต่าบ่อยที่สุด ด้วยคุณสมบัติความเล็กและบางจนเต่าสามารถกัด ฉีกกันได้ นั่นจึงเป็นสามารถให้สิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในท้องเต่าอย่างง่ายดาย รวมถึงพวกขยะจากการบริโภคของมนุษย์ที่จิ๋วแต่โคตรจะไม่แจ๋ว ทั้งพวกซองปรุงรส ซองขนม ถุงหูหิ้ว และยางวง แม้ผ่านไปหลายปี สภาพก็ยังคงเดิม เพิ่มเติมคือหลุดไปอยู่ในท้องสัตว์ทะเล

ถ้าใครงงว่าเต่าเผลอกินเข้าไปได้ยังไง ก็อยากชวนให้ทุกคนลองจินตนาการถึงมื้ออาหารตรงเรา สมมติว่าจานนั้นมีหนังยางผสมอยู่ หรือเศษอวน เศษเชือกหล่นอยู่ โดนราดด้วยซอส ทุกคนคิดว่าเราจะมองเห็นกันมั้ยนะ? ฮันแน่ะ ถ้ายังยากไม่พอก็ขอเสริมว่า ไม่มีช้อนส้อมหรือนิ้วให้คอยเขี่ยออกด้วย

นั่นแหละ คือปัญหาที่เต่าทะเลต้องเจอ

แล้วเต่าชอบกินขยะทะเลจริงหรอ?

ว่ากันตามตรงก็คงไม่มีใครคิดว่าเต่าจะชอบหรือถูกใจในสิ่งนี้แน่ แต่ก็อาจจะนึกภาพไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไรที่พวกมันจะต้องกินเข้าไป

กรณีของถุงหูหิ้วพลาสติก แน่นอนว่าความใสและความพริ้วของมันคล้ายคลึงกับแมงกะพรุน อาหารตามธรรมชาติสุดโปรดของเจ้าเต่า อย่างถุงใหม่ ๆ กลิ่นสารเคมีก็ยังพอจะทำให้มันแยกออกได้บ้างในบางครั้ง

อ้าว ทำไมได้กลิ่นแล้วยังกินอีกล่ะ? คำตอบที่ได้จากทั้งสองคนที่ทำงานคลุกคลีกับสัตว์ทะเลคือ ‘สาหร่าย’ เป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้เต่าทะเลกินขยะเข้าไป เมื่อขยะเหล่านี้ลงไปอยู่ในท้องทะเล ก็ย่อมมีเพรียงทะเล มีสาหร่ายมาเกาะ กลิ่นของแบคทีเรียในทะเลมาเคลือบขยะเหล่านั้น จนเต่าเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอาหารตามธรรมชาติของพวกมัน

ภาพ: อะไรอยู่ในท้องเต่า

เคสหนึ่งที่ทั้งสองอยากแชร์คือ ‘ใบพัด’ เต่าที่เกยตื้นขึ้นมาและนำมารักษา ชื่อใบพัดมาจากอาการน้องที่โดนใบพัดเรือบาดมา เรื่องราวของใบพัดทำให้เพจอะไรอยู่ในท้องเต่านั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากคลิปดึงขยะออกจากก้นของใบพัดจนคลิปนั้นกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล

ที่มา: https://www.facebook.com/share/r/Rsz1aL3QG1yxk8rL/?mibextid=xCPwDs

หมอข้าวตู: “ในคลิปนั้นมีผู้ช่วยแจ้งว่าอึเป็นขยะอีกแล้วนะ แต่ไม่ออก ว่ายน้ำแล้วก็อึคาก้นไปเรื่อย เราก็ถ่ายคลิปไป ขยะในอึมันก็ไม่หมดซักที ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด ใบพัดตัวประมาณ 50 – 60 ซม. แค่กระดองนะ ซึ่งขยะที่ดึงออกมานี่ประมาณ 40 ซม. ได้ ยาวแทบจะเท่าตัวมันอยู่แล้ว ก็เลยถ่ายลงเพจจนกลายเป็นไวรัล คนรู้จักมากขึ้น ให้ความสำคัญกับกระแสปัญหาขยะมากขึ้น

หรืออีกตัวคือ พารากอน ตัวนี้มาอยู่กับเราปีครึ่ง ซึ่งน้องอึเป็นขยะออกมาอยู่กว่า 6 เดือน มันทำให้เห็นว่าขยะมันสะสม ค้างอยู่ในท้องเขานานมาก ๆ แต่ยังโชคดีที่พารากอนอึดสุด ๆ เพราะสภาพตอนแรกที่มานั้นอ่อนแรงมาก จมน้ำ พยาธิหนา กินขยะมาเยอะ แต่สุดท้ายก็รักษากลับมาได้”

เห็นแบบนี้ก็ไม่ไหว ทุกคนต้องได้รับรู้ในสิ่งที่เราเจอทุกวัน!

จุดเริ่มต้นของเพจก็ดูจะเริ่มจากการมองเห็นความผิดปกติในความปกติที่เจอทุกวัน หมอข้าวตูเล่าว่า ด้วยความที่เธอเจอเคสของสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับบาดเจ็บมามากก็เกิดเป็นความปลง หรือเคยชินในการรักษาไปในระดับหนึ่ง จนวันหนึ่งที่คุณพีทมาเห็นแต่ละเคส จนเกิดเป็นไอเดียชวนมาทำเพจด้วยกัน เพราะมองว่า สิ่งนี้คือเรื่องที่ไม่ปกติสุด ๆ และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับรู้เหมือนอย่างที่เขาสองคนได้เห็นและรับข้อมูลในตอนนี้

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้คุณพีทยังทำงานอยู่อีกศูนย์ที่ต้องทำงานด้านทะเลเป็นหลัก และไม่ได้รับรู้การทำงานของกลุ่มด้านด้านสัตว์ทะเลหายากเท่าไหร่ ว่าทำงานกันยังไง เจอกับอะไรบ้าง จนช่วงหนึ่งที่เพื่อนเขาได้ชวนไปโรงพยาบาลและได้เห็นการทำงานของฝ่ายนี้

พีท: “สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือ งานเกยตื้นจะมีคนโทรมาแจ้งตลอด ทีมก็ต้องไปรับสัตว์ที่เจ็บ ที่เกยตื้นมา หรือซากทั้งหลายที่ไม่มีชีวิตแล้ว มันทำให้เห็นว่าปัญหาขยะทะเลมันมีมากกว่าที่เรารู้ว่าทะเลมันมีปัญหา 

แต่เราได้เห็นกับตาเวลาเขาชันสูตรเต่า เจอขยะมากมายกว่าที่เราจะจินตนาการไว้ คือมันอาจจะไม่ได้เยอะ แต่มันทำให้เกิดปัญหาจำนวนมาก ปัญหานี้มันรุนแรงกว่าที่เราเห็นนะ กระทบกับสัตว์มากกว่าที่เรารู้”

ด้วยความที่ฝั่งคุณพีทมีไอเดีย ฝั่งหมอข้าวตูมีข้อมูลก็เกิดเป็นสิ่งนี้ขึ้นมา เพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ ที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารปัญหาที่เต่าทะเลและท้องทะเลกำลังเจอ

หมอข้าวตู: “ส่วนที่มาชื่อเพจคือ เวลาเราไปออกเคส พีทก็จะถามมาว่าวันนี้มีอะไรอยู่ในท้องเต่า ตลอด ๆ เป็นสิ่งที่เราถามกันบ่อยมาก รวมถึงมันก็เป็นความตลกร้ายในสิ่งที่เราถามกันเจอกันในทุก ๆ วัน ก็เลยกลายเป็นชื่อเพจขึ้นมา”

หยิบเรื่องเศร้ามาเล่าให้คนเข้าใจ

ความชื่นชมอย่างหนึ่งของเราในฐานะลูกเพจคือ การคุมโทนเพจยังไงให้ดูเข้าใจง่าย น่าอ่าน โดยที่สารตั้งต้นข้อมูลนั้นสุดจะหนักอึ้ง ฮ่า ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่ความบังเอิญหรือเป็นสไตล์ส่วนตัวของทั้งสองคนเท่านั้น คุณพีทและหมอข้าวตู เล่าว่านี่เป็นวิธีสื่อสารที่พวกเขาตั้งใจนำเสนอ เพื่ออยากให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย และไม่รู้สึกว่ามันเครียดหรือหนักอึ้งเกินไป

โพสต์ที่เราเห็นบ่อย ๆ จริงเป็นภาพกราฟฟิควาดง่าย ๆ เน้นความเข้าใจ และภาษาเชิงขี้เล่นที่มาพร้อมกับคำว่า แทแด๊มมม ในทุกโพสต์ 

หมอข้าวตู: “ตอนแรกเป็นมาคือจริงจังเล๊ยย ทั้งรูปและเนื้อหา แบบขอไม่ย้อมสี ให้เห็นเลือดเลย ให้มันเรียลเหมือนที่เราเห็น บางครั้งก็โดนเฟสบุคแบนบ้าง (หัวเราะ) จนหลัง ๆ เราก็สงสารคนที่ดู บางคนก็บอกมาว่ามันจริงจังไปหน่อย

อีกอย่างคือ ตอนแรกพีทรู้สึกว่าคอนเทนต์เพจเรามันหนัก มันเป็นซาก เป็นรูปเลือด การตาย แต่เราไม่ได้อยากให้เพจเราดูหนัก ดูเข้าถึงยากขนาดนั้น เราอยากให้เข้าถึงได้ง่าย ให้ดูแล้วมันไม่ซีเรียสจนเกินไป ก็เลยทำให้มันดูสดใสขึ้นมาหน่อย ไม่ค่อยดาร์ก”

ความเป็นอยู่ของประชากรเต่าคือตัวบ่งชี้ระบบนิเวศทะเล

แน่นอนว่าเต่าเป็นอีกหนึ่งประชากรหลักในท้องทะเล เพราะฉะนั้น การอยู่ การกิน เจ็บป่วย เกยตื้นของเขา ย่อมเป็นตัวบ่งบอกระบบนิเวศที่กำลังมีปัญหาได้ สิ่งที่คุณพีทและหมอข้าวตูเลือกที่จะสื่อสารลงเพจจึงไม่ใช่แค่การทำให้เห็นว่า เต่ากำลังเจอปัญหาจากการทิ้งของของคน แต่มันมีอะไรยิ่งไปกว่านั้น

จากที่เราเกริ่นไปตอนต้นว่าเต่าอาจกินขยะเข้าไปได้ เพราะมันปะปนลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ทั้งสองฉายภาพให้เราเห็นไปถึงปัญหาที่ลึกกว่านั้น 

ตอนนี้เราพบถุงพลาสติกได้แม้ในแนวหญ้าที่ก้นทะเล

ซึ่งนั่นแปลว่าขยะกำลังปนอยู่ในทุกแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะกินอาหารตรงไหนก็เสี่ยงเจอ หรือมองไปให้ไกลกว่านั้นคือ ปัญหา Climate Change ที่ส่งผลให้ท้องทะเลเดือดขึ้นจนปะการังฟอกขาว หญ้าทะเลล้มตาย ส่งผลให้อาหารตามธรรมชาติของสัตว์ทะเลลดลง เขาจึงต้องยอมกินขยะที่มีสาหร่ายเกาะ เพื่อประทังชีวิตไปในบางครั้ง

พีท: “นี่คือปัญหาที่ผมอยากสื่อสาร มันไม่ใช่การเห็นเต่าบาดเจ็บแล้วอยากสื่อสาร แต่มันคือสิ่งที่เราเจอในท้องเต่ามันไม่ควรอยู่ในท้องเต่า พวกขยะทะเลมันปนเปื้อนลงขยะนิเวศทางทะเลไปหมดแล้ว ทั้งแนวหญ้า ปะการัง แหล่งอาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ 

เราเจอเศษเชือก เศษอวนเล็ก ๆ แทรกอยู่ในก้อนหญ้าที่มันได้กิน ถึงมันจะไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงที่ทำให้เต่าเจ็บปวดหรือตาย แต่มันไม่ควรอยู่ในท้องเต่า นี่คือปัญหาหนึ่งที่อยากสื่อสาร มันเป็นเปื้อนในระบบนิเวศไปทั่วแล้ว”

ไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่ง แต่เพราะมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง

หากมองเรื่องปัญหาปัญหาของท้องทะเลผ่านมุมมองของคนที่สื่อสารเรื่องนี้ ทั้งพีทและข้าวตูมองว่า การชี้วัดความสำเร็จนั้นไม่ใช่แค่วัดจากปลายทางว่าเรื่องการรักษาสัตว์เกยตื้นว่าสำเร็จหรือไม่ แต่เรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากเหมือนกันคือการที่ผู้คนมีความตระหนักรู้ เปลี่ยนพฤติกรรม หรือรู้วิธีช่วยเหลือสัตว์ทะเลมากขึ้น

ทั้งสองพูดตรงกันว่ายกเครดิตให้กับผู้คนเหล่านี้ หมอข้าวตูเล่าว่า ในพาร์ทการทำงานของกรมฯ ก็จะมีการอบรมให้กับชาวประมงที่ทำงานอยู่ริมทะเล ผู้ประการต่างๆ ที่ทำให้เขารู้ว่ามีสัตว์อะไร พฤติกรรมยังไงบ้าง หรือถ้าสัตว์ผิดปกติจะเป็นยังไง แค่ไหนถึงต้องแจ้งเรา ซึ่งเมื่อชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น รับรู้มากขึ้น เมื่อเจอเคสเขาก็รู้ว่าจะต้องติดต่อใคร ทั้งที่เมื่อก่อนเขาก็อาจจะเจอเมื่อกัน แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง ก็อาจจะปล่อยไว้

ซึ่งในส่วนของเพจ อะไรอยู่ในท้องเต่า พวกเขามองว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งคือการที่มีผู้คนเห็นและเข้าใจมากขึ้น นอกเหนือจากผู้ที่อยู่เคยชินกับท้องทะเลเป็นประจำ ก็จะเห็นคนทั่วไปรับรู้มากขึ้น เช่น นักท่องเที่ยว หรือวัยรุ่นทั่วไป 

หมอข้าวตู: “ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวหลายคนอินบอกซ์มาในเพจ เช่น เจอสัตว์เกยตื้นอยู่ตรงนี้ทำไงดี ผมอยู่ต่อไม่ได้ หรือบางคนที่ค้างแถวนั้นก็เฝ้าให้จนกว่าเราไปรับก็มี ก่อนหน้านั้นมีอยู่เคสหนึ่ง น้องนักเรียนไปเล่นน้ำกันแถวแหลมเจริญ แล้วเขาโทรมาแจ้งว่าอยู่กับเต่ามีชีวิต เราก็ถามว่าอยู่นานไหม เพราะเราอยู่อีกที่ กว่าจะไปถึงก็ประมาณหนึ่งชั่วโมง เขาก็ชวนพ่อแม่มานั่งรอเต่าด้วยจนเรามารับ คือตอนนี้คนทั่วไปก็รู้ด้วย เด็กมัธยมก็รู้แล้วโทรมาแจ้งเองผ่านเบอร์ในเพจ

เคสคนที่รับรู้ไม่ใช่แค่คนรู้โซเชียลแล้ว มันกว้างกว่าเดิม เมื่อก่อนกรมแค่พยายามให้คนในท้องถิ่นเป็นหูเปนตาเพราะเขาอยู่ใกล้ อยู่กับน้ำ เราไม่สามารถเดินไปด้วยตัวเองตลอด ก็ต้องอาศัยเขาช่วยแจ้ง เรารู้สึกว่าคนเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงเต่าทะเลว่ามันเปนสัตว์คุ้มครอง เริ่มหวงแหน 

อย่างเคสของหมอเคยเจอคือ เรารักษาหายก็เอาไปปล่อย ซึ่งตอนไปเราก็ไม่ได้ใส่ชุดแบบนี้ ชุดธรรมดาอยู่บ้านขาสั้น เพราะเราต้องไปปล่อยกลางน้ำนิดนึง แต่เต่าตัวนั้นดันสู้คลื่นไม่ไหว เราเฝ้าสักแปป เห็นว่าเขาสู้ไม่ไหวก็จะเอากลับที่ศูนย์ แต่พอจะเอากลับเท่านั้นแหละโดนชาร์จ (หัวเราะ) ชาวบ้านเดินมาเลยว่าเป็นใครอ่ะ จะเอาเต่าไปไหน ก็เลยบอกว่า หมอค่ะ หมอเอง พึ่งมาปล่อยเมื่อกี้ค่ะ นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่เราเกือบโดนรวบซะแล้ว”

อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้เพจ ‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เดินต่อไป

หมอข้าวตู: “เพราะว่ามันยังมีคนเห็น ตอนแรกที่เราเริ่มทำสิ่งนี้ก็เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่มีใครเห็นปัญหานี้เลย อย่างเมื่อก่อนเพจของกรมทรัพฯ นี้มีงานเยอะมากและหลายประเภทมาก ทำให้คนไม่เห็น โพสต์พวกนี้มันก็ถูกดันลงไป เราเลยรู้สึกว่าคนไม่เห็นถึงผลกระทบเลย

บวกกับอยากให้เป็นพื้นที่ที่พูดถึงสัตว์ทะเลหายากอย่างเดียวเลย จะได้ไม่ต้องไปดัน ไปปนกับโพสต์อื่น อยากให้คนได้เห็นอันนี้เรื่องเดียวไปเลย รู้สึกว่ามันจะอิมแพคกว่า ขยะๆๆๆ ลงไปก็เจอขยะๆๆๆ จึงเกิดเป็นเพจนี้

พอมันมีคนเห็น มีคนคอมเม้นกลับมา มีแอคชั่นเกิด เช่น น้องฝึกงานบางคนก็รู้จักที่นี่จากเพจเลยอยากมาฝึกงาน เราก็รู้สึกว่ามันมีคนเห็นจริง ๆ ด้วย เราไม่ได้คาดหวังว่าคนจะต้องมาซีเรียสเรื่องหยุดสร้างขยะเลย ตัวเรายังลดขยะซีโร่ไม่ได้เลย เข้าใจว่ามันยาก บางคนถูกบังคับด้วยเงื่อนไขชีวิต คือแค่เขารู้ว่าไม่ควรทำแล้วเขาแนะนำคนอื่นต่อก็จะเป็นกำลังใจที่ดีสุดแล้ว เพราะมันยังก่อประโยชน์อยู่

พีท: “สำหรับผมคือมันยังพบอยู่ ทุกเคสที่เราไปเจอ ถ้ายังมีกำลัง เราก็จะยังลงไปเรื่อย ๆ ถึงจะมองว่าสิ่งนี้สำเร็จแล้วที่มีคนเห็น แต่คิดว่ายังกว้างได้มากกว่านี้ ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ และยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากให้คนรู้ ถ้ามีแรง มีจินตนาการเราก็อยากจะเขียนไปเรื่อย ๆ”

ก่อนปิดท้ายบทสนทนา เราชวนคุยกันไปไกลถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่น ปัญหาทะเลเดือด ฯลฯ ที่แม้จะไม่ได้เห้นว่าเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ในท้องเต่าโดยตรง แต่ความจริงแล้วทุกสิ่งนั้นเกี่ยวพันกันหมด และมีผู้กระทำคนเดียวกันที่ชื่อว่า “มนุษย์”

ทั้งพีทและหมอข้าวตูฝากประโยคหนึ่งที่ทำให้เราเห็นภาพปัญหาของท้องทะเลได้ชัดขึ้น และเห็นว่าเรื่องของการเกยตื้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“คนจะชอบคิดว่าเราอนุรักษ์เต่าได้ด้วยการช่วยเต่าเยอะ ๆ ปล่อยไปเยอะ ๆ มันก็โอเค แต่สิ่งที่ไม่ได้มองคือ แหล่งอาศัย แหล่งวางไข่มันมันค่อย ๆ หายไป ชายหาดถูกเปลี่ยนเป็นปูน เป็นกำแพงกันคลื่น งั้นปล่อยลงทะเลมาทำไม?”

“ปล่อยมาไม่มีข้าวกิน แหล่งอาศัยน้อยลง หญ้าลดลง หาดก็ไม่มี ทะเลก็ร้อนผสมพันธุ์ยาก จะอยู่ยังไง?

อย่ามองแค่จำนวนตัวเขาอย่างเดียว”

อ่านมาจนถึงตรงนี้เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเห็นภาพไปกว้างมากกว่า ‘สิ่งที่อยู่ในท้องเต่า’ แน่นอน เพราะเราหวังให้เป็นเช่นนั้น : ) สำหรับใครที่สนใจอ่านเรื่องราวของเต่าทะเลและผองเพื่อนก็ไปติดตามพวกเขาได้ที่เพจ อะไรอยู่ในท้องเต่า

และหากเห็นผองเพื่อนสัตว์ทะเลเกยตื้นหรือบาดเจ็บ สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

Credit

Chayanit S.

Related posts

Not Just Labor : งานที่ให้รูปถ่ายในโทรศัพท์เล่าเรื่องแรงงานผ่านความเป็นมนุษย์

มากกว่าการถูกเป็นแรงงาน คือเข้าใจถึงความรู้สึก ความฝัน ความหวังในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

วะบิ ซะบิ ปรัชญาที่โอบรับความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ

ชื่นชมความด่างพร้อยของชีวิตด้วยหลักคิดญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากนิกายเซน

เกเลพู : ‘เมืองแห่งสติ’ ของภูฏานและอนาคตของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เมืองแห่งการฝึกสติแห่งใหม่ของภูฏาน ที่จะเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับการฝึกสติ สะท้อนให้เห็นการท่องเที่ยวของภูฏานที่หยั่งรากลึกในความเป็นอยู่ที่ดีท่ามกลางแวดล้อมธรรมชาติ

วังการี มาไท สตรีเคนยาผู้ผลักดันให้ผู้หญิงสร้างพื้นที่สีเขียวให้โลกและตัวเอง

จากเป้าหมายต้นไม้ 30 ล้านต้นในเคนยา สู่ชีวิตที่อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรม