ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ - EnvironmanEnvironman

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า

เมื่อโครงการ ‘ปลูกป่า’ ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป และไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ความตั้งใจปลูกป่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังและที่สำคัญต้องมีการดูแลพร้อมกับติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่การปลูกทิ้งปลูกขว้าง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราต้องพูดถึงประเด็นนี้อย่างยาวเหยียด

ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ป่ากลายเป็นเหมือนแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างตรงไปตรงมา ราคาไม่แพง ทำง่าย และช่วยดูดซับคาร์บอนส่วนเกินที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ สร้างภาวะโลกร้อนที่เป็นวิกฤตในขณะนี้

ต้นไม้จะช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากศเข้าไปใช้ในการสังเคราะห์แสง แล้วสร้างเป็นอาหารออกมา ป่าที่แข็งแรงจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้อย่างมหาศาลและดินที่อยู่ใต้ต้นไม้ก็ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้จำนวนมาก จึงไม่แปลกที่จะติดอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ปลูกป่า = ช่วยลดคาร์บอน 

กระแสดังกล่าวแพร่หลายไปทั่วทั้งในภาครัฐ หน่วยงาน องค์กรเอกชน บริษัทห้างร้านต่าง ๆ และบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดโครงการปลูกป่าจำนวนมากที่ใช้เงินหลายล้านบาททุ่มเทลงไปบนพื้นดินที่อ้างว้าง โดยเชื่อกันว่าการปลูกต้นกล้าไม้ขนาดใหญ่ลงจะช่วยทั้งลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้

“(ต้นไม้)มีประโยชน์มากมายต่อผู้คน พวกเขาไม่เพียงแต่ช่วยกักเก็บคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างอากาศที่สะอาด ป้องกันการพังทลายของดิน ให้ร่มเงากับเป็นที่พักอาศัย และทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดี” Joe Fargione นักนิเวศวิทยาจาก The Nature Conservancy กล่าว 

ใคร ๆ ต่างก็อยากจะปลูกต้นไม้ จนกลายเป็นกระแสขึ้นมาทั่วโลกไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ต่างประเทศก็อยากจะปลูกต้นไม้นับล้าน ๆ ต้นเพื่อชดเชยสิ่งที่เสียไป ทว่าเรื่องมันซับซ้อนกว่าที่คิด และที่น่าเศร้า หลายโครงการสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศมากกว่าสร้างประโยชน์

ต้นตอของปัญหา

อย่างที่เราทราบกันดี ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นมีสาเหตุหลักมาจาก ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ดังนั้นวิธีแก้ก็คือ ลดมันและดูดมันออกจากชั้นบรรยากาศโลก ที่สำคัญไปกว่านั้น เราทุกคนก็รู้ดีว่า มหาสมุทรและป่าไม้เป็นสิ่งที่ดูดซับก๊าซเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี 

แต่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกร้องให้ระมัดระวังสิ่งที่จะลงมือทำให้ดี ไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเป็นที่ตั้งในการปลูกต้นไม้ แต่ควรคำนึงถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยแรก 

หลายโครงการที่ออกแบบมาไม่ดี ไม่แก้ปัญหาพื้นที่ป่าเลย แต่กลับสร้างผลเสีย อีกทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เรื่อง ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าโดยไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการเข้าถึงของแหล่งน้ำ ที่ดินหลายที่นั้นตั้งอยู่บริเวณที่มีสภาพอากาศและระบบนิเวศที่เปราะบาง ซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำที่มีจำกัด

และเรารู้ว่าต้นไม้นั้นต้องการน้ำ หากมีการปลูกป่าที่เป็นต้นไม้ใหญ่ลงไปจะทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงน้ำกันสูงขึ้น (โดยเฉพาะในอากาศร้อนจัดอย่างในทุกวันนี้ ความต้องการน้ำก็ยิ่งรุนแรง) ท้ายที่สุดแล้ว ระบบนิเวศไม่สามารถรองรับชีวิตไว้ได้ต่อไป พืชพรรณและสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะลดลง

“สำหรับผม ปีศาจนั้นอยู่ในรายละเอียด” Joseph Veldman นักนิเวศวิทยาจาก Texas A&M University พูดถึงโครงการปลูกป่า และรายละเอียดนั้นคือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาได้ทุกประเภท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการที่เรียกได้ว่า ‘เป็นการทำเอาหน้า’ ที่ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง

“ผมได้รับรู้ว่าระบบราชการทำงานกันอย่างไร” Forrest Fleischman ผู้ค้นคว้านโยบายป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา กล่าว เวลาที่ผู้กำหนดนโยบายพูดว่าจะปลูกป่า “ซึ่งหมายถึงการปลูกต้นไม้เป็นแถว นั่นคือสิ่งที่พวกเขารู้”

โครงการปลูกป่าของ Lynnsport ในประเทศอังกฤษ ที่มีต้นไม้ตายไปกว่า 90% ในเวลาไม่ถึง 1 ปี

ต้นไม้ที่กระหายน้ำ

หากจะยกตัวอย่างโครงการที่เรียกได้ว่า น่าเศร้า คงหนีไม่พ้นโครงการหนึ่งของประเทศจีนซึ่งรัฐบาลได้ส่งเสริมการปลูกต้นไม้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายว่าจะพื้นที่ป่าให้ครอบคลุม 23% ภายในปี 2020, เพิ่มเป็น 26% ในปี 2035 และเพิ่มเป็น 42% ภายในปี 2050 

ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง อาลีบาบา เองก็ตั้งเป้าลงทุนกว่า 980 ล้านบาทในโครงการปลูกตันไม้ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่ป่าทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นมากกว่า 17 ล้านเฮกตาร์ (106 ล้านไร่) ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา 

แต่ขณะที่ป่ากำลังโตขึ้น ความน่าประทับของสีเขียวก็ถูกกัดกร่อนโดยระบบนิเวศที่เสื่อมถอยลง ในงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Global Change Biology เมื่อปี 2019 ซึ่งได้ทำการศึกษาโครงการปลูกป่าเหล่านั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวถูกบุกรุกโดยพืชที่ชื่อว่า ‘Black locust’ อย่างรวดเร็ว

Black locust นั้นเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์รุกรานแต่กลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของการปลูกป่า แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น พวกมันมีความกระหายน้ำมากกว่าพืชชนิดอื่นตามธรรมชาติอย่างมาก ในพื้นที่ทีมีปริมาณน้ำฝน 700 มม.ต่อปี Black locust จะเป็นผู้ดูดน้ำไปแล้ว 92% ขณะที่เหลือเพียง 8% ถูกผันไปเข้าระบบให้มนุษย์ใช้

ดังนั้นระบบนิเวศโดยรอบจะไม่มีน้ำเพียงพอให้ลงไปใต้ดิน ลงสู่แม่น้ำ หรือทะเลสาบ ต้นไม้ขาดแคลนน้ำ แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนตามริมแม่น้ำที่อยู่ใต้ลงไปก็ไม่มีน้ำใช้ ท้ายที่สุดแล้วมีแค่ Black locust ที่ได้ประโยชน์ 

“การค้นพบของเราสนับสนุนหลักฐานที่เพิ่มขึ้นซึ่งบ่งชี้ว่า การปลูกป่านั้นส่งผลให้มีการปล่อยน้ำจากแม่น้ำ และความพร้อมของน้ำจืดในภาคเหนือของจีนลดลงอย่างมาก” Lulu Zhang นักวิจัยอาวุโส ผู้เขียนร่วมของงานวิจัย กล่าว “การปลูกป่าทำให้น้ำในดินลดลง ลดการไหลบ่าของพื้นผิว(ลดการไหลของแม่น้ำที่พื้นผิว) ส่งผลให้เกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง” 

ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำถึง 108 ล้านคน และอีกกว่า 400 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณท้ายแม่น้ำเหลือง

หรือจะเป็นโครงการของตุรเคีย (ชื่อใหม่ของประเทศตุรกี) ที่ได้สร้างโครงการปลูกป่าเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปี 2019 โดยอาสาสมัครทั่วประเทศได้ปลูกต้นไม้ไปกว่า 11 ล้านต้นในพื้นที่มากกว่า 2,000 แห่ง อย่างไรก็ตาม แค่ภายในเวลา 3 เดือนต่อมา ต้นอ่อนใหม่เหล่านั้นเกิน 90% ถูกระบุว่าตายแล้ว เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอ และปลูกผิดเวลาของปี 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความพยายามครั้งใหญ่จะต้องล้มเหลวเหมือนกัน “เป็นเรื่องง่ายที่จะชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างของความพยายามในการปลูกป่าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้พันธุ์ไม้ที่เหมาะสม หรือคนที่ได้รับการฝึกอบรบมาอย่างดีพอ หรือมีการลงทุนในการดูแลหลังปลูก” Fargione กล่าว 

“เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความพยายามเหล่านั้น” 

 เคนยากำหนดให้วันที่ 13 พฤศจิกายน เป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ

พูดเพื่อต้นไม้

การปลูกป่าและความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนต้นไม้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งมีชีวิตสีเขียวเหล่านี้ช่วยหยุดยั้งการพังทลายของหน้าดิน เพิ่มคุณค่าอินทรียวัตถุและสารอาหารในดิน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน 

แต่ตัวอย่างโครงการที่ล้มเหลวซึ่งได้ยกตัวอย่างมานั้น ควรเป็นป้ายเตือนสำหรับโครงการอื่น ๆ ที่ต้องการจะปลูกป่าเช่นเดียวกัน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ที่ต้องการฟื้นฟูที่ดิน ปัญหาภัยแล้ง และสภาพอากาศ เพื่อให้ป่าที่เราทุกคนตั้งใจปลูกมีความหวังที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด

ย้ำอีกครั้ง ความตั้งใจในการปลูกป่าเป็นเรื่องที่ดี แต่มีข้อที่เราต้องระลึกไว้เสมอ โครงการฟื้นฟูที่ตามมาจำเป็นจะต้องรู้ว่าช่วงเวลาไหนดีที่สุดในการปลูกเมล็ดพันธุ์ ปลูกตงไหนและเท่าไหร่ ใครจะเป็นผู้ดูแลต้นอ่อนขณะที่พวกมันกำลังเติบโต รวมถึงรู้วิธีการเฝ้าติดตามและบันทึกข้อมูลระบบนิเวศ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้หากต้องการโครงการที่ประสบความสำเร็จ

“นั่นคือจุดที่เราทุกคนต้องการ… ตั้งแต่แรก” Forester Lalisa Duguma จาก World Agroforestry ในเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา กล่าว

และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การปลูกป่าใหม่คือ ปกป้องป่าที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่อย่างแข็งแรงต่อไป 

ป่าไม่ใช่แค่สถานที่มีต้นไม้ พืชพรรณ และสัตว์อาศัยอยู่ แต่เป็นสถานที่ที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวอย่างยิ่ง ซึ่งต้องการความเข้าใจ การเอาใจใส่ และการดูแลด้วยความรักตามมา ความตั้งใจปลูกป่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ แต่จะดียิ่งขึ้นหากเราทำด้วยความเข้าใจ

ที่มา

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/gcb.14875

https://www.wri.org/research/carbonshot-federal-policy-options-carbon-removal-united-states

https://www.worldagroforestry.org/publication/tree-planting-tree-growing-rethinking-ecosystem-restoration-through-trees

https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/ffgc.2021.629198/full

https://www.researchsquare.com/article/rs-289460/v1

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1877343521000178?via%3Dihub

https://www.sciencenews.org/article/planting-trees-climate-change-carbon-capture-deforestation

https://theconversation.com/planting-trees-must-be-done-with-care-it-can-create-more-problems-than-it-addresses-128259

https://www.nature.com/articles/s41467-024-46577-1

https://phys.org/news/2024-03-trees-wrong-planet.html

https://e360.yale.edu/features/phantom-forests-tree-planting-climate-change

Credit

Related posts

เบื้องหลังการจัดพื้นที่คทช. ให้ชาวบ้านทำเกษตรและฟื้นฟูป่าที่เคยทรุดโทรม

พื้นที่ คทช. จัดสรรเพื่อให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้ แต่ต้องฟื้นฟูป่าคืน เพื่อให้ ‘คนก็ไม่ตาย ต้นไม้ก็โต’ เลยต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วย

Not Just Labor : งานที่ให้รูปถ่ายในโทรศัพท์เล่าเรื่องแรงงานผ่านความเป็นมนุษย์

มากกว่าการถูกเป็นแรงงาน คือเข้าใจถึงความรู้สึก ความฝัน ความหวังในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

วางความเครียดลง แล้วมาฟังเสียงนก ชมป่าไม้ไปด้วยกันที่ Praisan.org

Praisan.org เว็บไซต์ที่นำเสนอกลิ่นอายธรรมชาติทั่วไทยผ่านรูปแบบเสียง

ค่าไฟแบบ TOU คืออะไร ?

สิ่งนี้จะช่วยให้ลดค่าไฟฟ้าที่แสนโหดร้ายได้หรือไม่อย่างไร ?